xs
xsm
sm
md
lg

“นีโอสุกี้” สุกี้พันธุ์ไทยโกอินเตอร์ ตีท้ายครัวต้นตำรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดต่างประเทศ ถือเป็นตลาดเป้าหมายในการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการแฟรนไชส์ เพราะด้วยปัจจัยจำนวนประชากร การรับรู้และเข้าใจธุรกิจแฟรนไชส์อย่างถ่องแท้ทำให้ง่ายต่อการทำธุรกิจร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยโกอินเตอร์กันแล้วไม่กี่ราย และยังกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจบริการอย่างสปาเสียส่วนใหญ่ แม้ว่าในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีมานี้ภาครัฐจะพยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยหันไปบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้นก็ตาม

คำถาม คือ อะไรเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการโกอินเตอร์ของธุรกิจแฟรนไชส์ไทย และยังมีโอกาสโกอินเตอร์ได้อีกมากน้อยแค่ไหน

ในนาทีนี้ ลองมาฟังมุมมองของ “สกนธ์ กัปปิยจรรยา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ไทย เรสเตอร์รองส์ จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ร้าน “นีโอสุกี้” ซึ่งมีประสบการณ์ขยายสาขาไปต่างประเทศถึงประเทศญี่ปุ่น ดินแดนต้นตำรับสุกี้ รวมถึงขยายไปประเทศเพื่อนบ้านมากว่า 6 ปีแล้ว

ปัจจุบันในต่างประเทศ นีโอสุกี้มี 3 สาขาคือ เมืองนาโฮยาม่า ประเทศญี่ปุ่น เป็นลักษณะร่วมทุน กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย และกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นการขายมาสเตอร์แฟรนไชส์ และเร็วๆ นี้จะเกิดที่นครโฮจิมินท์ ประเทศเวียดนามด้วย

“การทำธุรกิจร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จนั้น เรื่องของทำเลถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะถ้าเลือกไม่ดีก็จะทำให้เกิดความผิดพลาดในเรื่องการลงทุน ซึ่งตอนที่ทำธุรกิจในช่วงแรกๆ นีโอสุกี้เกิดปัญหาเหมือนกับเอสเอ็มอีรายเล็กอื่นๆ คือ ไม่สามารถเข้าห้างได้ เพราะเอสเอ็มอีจะไม่มีสายป่าน สู้กับรายใหญ่ไม่ได้”

“แต่ถึงแม้จะเข้าไปขายในห้างไม่ได้ ผมก็ไม่ท้อ เพราะยังเห็นว่าเป็นธุรกิจที่สามารถโตได้ แต่ต้องหาช่องทางการตลาดอื่น พอดีช่วงนั้น ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการส่งออกไปออกบูทในต่างประเทศเป็นแฟรนไชส์นำร่อง ซึ่งก็ได้รับความสนใจมีคนเข้ามาเยี่ยมชมบูทจำนวนมาก ทำให้เห็นโอกาสในการขยายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศอย่างจริงจัง”

สกนต์ ได้ระบุถึงที่มาแนวคิดในการบุกตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งหยิบยกตัวอย่างแฟนไชส์นีโอสุกี้ของตัวเองมาเป็นกรณีศึกษาถึงวิธีทำตลาดในต่างประเทศว่า

“ในช่วงระยเวลา 1 ปีแรก จะเป็นแค่การศึกษาตลาดในแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร เพราะการทำธุรกิจจะไปหวังผลระยะสั้นว่า ไปแล้วจะต้องได้ลูกค้าเลย คงยาก สิ่งสำคัญคือจะต้องทำการศึกษารูปแบบของตลาดต่างประเทศเป้าหมายเสียก่อน ทั้งในแง่ของกฎหมายข้อบังคับต่างๆ รวมถึงการเตรียมตัวเองให้พร้อมกับรูปแบบของแฟรนไชส์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งนีโอสุกี้เองกว่าจะเข้าไปตั้งสาขาในญี่ปุ่นได้เป็นประเทศแรกนั้นก็ต้องใช้เวลากว่า 3 ปี และถัดมาอีก 2 ปีก็ขายแฟรนไชส์ไปที่อินโดนีเซีย และตามด้วยกัมพูชา”

กล่าวได้ว่าความน่าสนใจของนีโอสุกี้ นอกจากการเป็นแฟรนไชส์เจ้าแรกๆ ที่สามารถโกอินเตอร์ได้จริงแล้ว แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจสุกี้ การเข้าไปบุกตลาดในญี่ปุ่นจึงถือเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ เพราะทราบกันดีว่า ร้านสุกี้คนญี่ปุ่นเป็นเจ้าตำรับอยู่แล้ว และมีอยู่จำนวนมากด้วย

จุดนี้ สกนธ์ อธิบายว่า นั่นเป็นเพราะจุดเด่นของสุกี้ไทยมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของน้ำจิ้มและประเภทอาหารให้เลือก ซึ่งถือว่าแปลกใหม่สำหรับชาวญี่ปุ่น ทำให้ได้รับการตอบรับจากตลาดต้นตำรับอย่างดี

จากคำบอกเล่าดังกล่าว น่าจะชี้ให้เห็นโอกาสในการเข้าไปบุกตลาดญี่ปุ่นของผู้ประกอบการแฟรนไชส์สุกี้เจ้าอื่นๆ บ้างก็ได้

ปัจจุบัน ร้านต้นแบบแฟรนไชส์นีโอสุกี้ตั้งอยู่ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน เพื่อให้ลูกค้าที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ได้มาศึกษารูปแบบการทำธุรกิจ ซึ่งถ้าเป็นตลาดต่างประเทศจะมีค่าลงทุนแรกเข้าอยู่ที่ 25,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนในประเทศค่าลงทุนแรกเข้าอยู่ที่ 300,000 บาท ทำสัญญา 5 ปี มีจุดคุ้มทุนภายใน 2 ปี

“หลักในการเลือกแฟรนไชซี คือ 1.ต้องมีความมุ่งมั่น และตั้งใจจริง 2.มีเงินทุนในระดับหนึ่ง และ 3. มีเครือข่ายในการทำตลาดประเทศนั้นๆ กว้างขวางพอ โดยหลังจากที่ได้มีการตกลงซื้อขายแฟรนไชส์กันแล้วก็จะให้แฟรนไชซีมาฝึกอบรมปฏิบัติงานจริงกับบริษัทประมาณ 1 เดือน เป็นการฝึกการบริหารจัดการธุรกิจในทุกๆ ด้านโดยจะมีคู่มือการปฏิบัติงาน คู่มือการจัดการร้าน คู่มือการจัดเก็บอาหารให้แก่แฟรนไชซี”

สกนธ์ ชี้ให้เห็นว่า แม้การขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความผู้ประกอบกกรคนอื่นๆ จะทำไม่ได้ สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมพร้อมในเรื่องขององค์กรและการเป็นคู่ค้าที่ดีจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการเป็นมาตรฐานสากล ส่วนเรื่องกฎหมายต้องมีการจดลิขสิทธิ์แบรนด์เอาไว้ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบด้วยเช่นกัน

“ตอนที่ผมขายแฟรนไชส์ไปที่กัมพูชา ก็เจอปัญหาในเรื่องของการลอกเลียนแบบเหมือนกัน ฉะนั้นก็อยากจะบอกผู้ประกอบการที่คิดจะทำธุรกิจในต่างประเทศว่า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเองหรือขายแฟรนไชส์ ก็ต้องจดลิขสิทธิ์แบรนด์ไว้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะเป็นการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด

ส่วนข้อกฎหมายในการขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศมองว่าไม่ใช่อุปสรรคสำคัญและการเลือกแฟรนไชซีที่เป็นคนประเทศนั้น ๆ ก็ถือเป็นจุดดี เพราะเขาจะรู้ข้อกำหนดของประเทศเขาอย่างดี แต่อุปสรรคจริง ๆคือ การคัดเลือกแฟรนไชซีที่เหมาะสมและมีความพร้อม ซึ่งเป็นจุดหลักที่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก”

ในฐานะผู้มีประสบการณ์ขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ สกนธ์ตั้งข้อสังเกตถึงโอกาสการเติบโตของแฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศว่า มีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจบริการ อาทิ ร้านอาหาร สปา โรงเรียนสอนภาษา หรือบริการคาร์แคร์ เป็นต้น

สำหรับตลาดที่น่าสนใจในปีนี้ (2551) คือญี่ปุ่น เนื่องจากข้อตกลง JTEPA เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ประกอบการควรคว้าโอกาสขยายธุรกิจตัวเอง

“ตอนนี้ภาพลักษณ์ของแฟรนไชส์ไทยยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศมากนัก ตลาดส่วนใหญ่จึงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน สาเหตุผมมองว่า เกิดจากการขาดมาตรฐานที่เป็นสากล แฟรนไชส์ไทย จึงไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้ขาดโอกาสเติบโตไปตลาดต่างประเทศ

ฉะนั้น นอกจากในแง่ของผู้ประกอบการที่ต้องพัฒนาตัวให้มีศักยภาพแล้ว อีกแง่หนึ่งก็ต้องอาศัยการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐด้วย ถ้าภาครัฐเห็นความสำคัญว่า ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ผมว่าระบบของแฟรนไชส์จะไม่เพียงเติบโตเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่หมายถึงโอกาสที่จะโกอินเตอร์ของแฟรนไชส์อย่างแท้จริง”
สกนธ์ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับเดือนกุมภาพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น