xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาการค้าเดินสายให้ความรู้เปิดตลาดอินเดียรับมือเปิดFTA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมเจรจาการค้าระห่วางประเทศ เดินสายตะลุยให้ความรู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รองรับการเปิดเสรีการค้าในกรอบไทย-อินเดียอาเซียน-อินเดีย ประเดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีศักยภาพและพร้อมที่สุดในการบุกแดนภารตะ และเตรียมรับมือนโยบาย Look West Look East ของทั้ง 2 ประเทศ ในการยกเลิกภาษี 0% สินค้า 82 รายการในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม

นายนภดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการ “ สร้างความรู้ ความเข้าใจตลาดอินเดีย และเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีในกรอบไทย-อินเดียอาเซียน-อินเดีย” ในหัวข้อ ตะลุยภารตะ ขุมทรัพย์การค้า ให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ วัตถุประสงค์ สร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบเห็นโอกาสกาค้า และศักยภาพของอินเดียว่าเป็นตลาดเป้าหมายหนึ่งในการขยายตลาดของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 1,100 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมี GDP เติบโตอัตราร้อยละ 8 ต่อปี

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่สอดคล้องกันของไทยและอินเดียที่มุ่งหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นนั้น เป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างกัน และเป็นกลไกที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุนระหว่างกันด้วย

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นประตูการค้า และมีสินค้าที่น่าสนใจมากมาย ดังนั้นการจัดสัมมนาจะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมการค้า ให้ผู้ประกอบการจังหวัดเชียงใหม่ได้รับรู้ศักยภาพของตลาดอินเดีย และมีโอกาสส่งสินค้าไปขายที่อินเดียมากขึ้น รวมทั้งให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าไทย-อินเดีย อาเซียน-อินเดียในการเปิดตลาด

นางบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มองว่าอินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรเป็นอันดับสองรองจากประเทศจีน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตังสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายของประเทศไทยกับอินเดีย สอดคล้องกัน คืออินเดียมีนโยบาย Look West ในขณะที่ไทยมีนโยบาย Look East ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ได้เปิดการค้าเสรีทวิภาคี โดยยกเลิกภาษีสินค้า 0% จำนวน 82 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2549 อาทิ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน องุ่น ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง (ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล และปู อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากลดภาษีสินค้า 82 รายการ ส่งผลให้การค้าขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้การค้าขายกับอินเดียมีปัญหา และอุปสรรค เช่น อินเดียเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง และยังมีการเก็บภาษีอื่นๆภายในประเทศ สำหรับระบบพิธีการศุลกากรมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และล่าช้า ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการขนถ่ายสินค้า และมีพื้นที่ขนาดใหญ่ การขนส่งสินค้าใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้มีการลอกเลียนแบบสินค้าเกิดขึ้นจำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่งการเจรจาการค้าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอุปสรรค และบรรเทาปัญหาลงได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไม่มี FTA ไทย-อินเดียก็อยากให้ผู้ประกอบการได้ไปเปิดตลาดที่อินเดีย เพราะตลาดอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และขยายตัวสูง ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2546-2550) การค้าไทย-อินเดียมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 2,904.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกของไทยไปอินเดียเฉลี่ย 1,511.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยนำเข้าจากอินเดียเฉลี่ย 1,193.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 การค้ารวมไทย-อินเดียมีมูลค่า 4,730.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 38% โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 598.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาลด และยกเลิกภาษีสินค้าส่วนที่เหลือกว่า 3,000 รายการ

ด้านนายประกอบ ปัญจเจริญศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานว่าอินเดีย เป็นประเทศที่มีอำนาจในการซื้อสูงและเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยได้เปรียบในแง่ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ที่มีอย่างยาวนาน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเปิดใจ และศึกษาข้อมูล อย่างผู้รู้จริง โดยเน้นเจาะตลาด มองหาโอกาส และยึดครองตลาดด้วยคุณภาพของสินค้า และบริการ สำหรับเทคนิคการทำธุรกิจกับคนอินเดีย ผู้ประกอบการต้องใจเย็น และมีความอดทนสูง เพราะคนอินเดียเป็นคนละเอียด และถือสุภาษิตในการทำงาน คือ ทำอะไรไม่รีบร้อน ดังนั้นจะหวังให้เขาซื้อสินค้าของเราในระยะแรกๆ ในปริมาณมาก คงจะไม่ได้ เพราะเขาไม่มีนโยบายไม่กักตุนสินค้าในปริมาณเยอะ สำหรับผู้ประกอบการสนใจค้าขายอินเดียควรไปตอนที่มีเทศกาลจัดงานสินค้าส่งออก เพื่อจะได้เห็นความหลากหลายของสินค้า และเห็นโอกาสของธุรกิจ

ด้าน ดร.อนุสรณ์ มุทราอิศ ประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย และกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน ) กล่าวถึง ประสบการณ์ในการ ทำตลาดในอินเดีย ว่า บริษัทฯ เพิ่มทำธุรกิจจริงจังในอินเดีย เมื่อ 3-4 ปี หลังจากที่เริ่มต้นจากการค้ขายกันก่อน แต่พบว่าอินเดียไม่ต้องการให้ใครมาขายของ แต่ต้องการให้เปิดโรงงานนำงินมาลงทุนและเกิดการจ้างงาน และต้องการเทคโนโลยีในการพัฒนาสินค้า อินเดียเองมีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้า เราลงทุนสร้างโรงงานในหลายแห่งเพื่อผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาย อาทิ เครื่องสำรองไฟคอมพิวเตอร์ หรือ UPS ล่าสุดกำลังจะเปิดตลาดขายเครื่องประกอบโทรทัศน์เพิ่มเติม หัวใจของการขายสินค้าที่อินเดีย คือ ขายในราคาต่ำ แต่คุณภาพดี ซึ่งรายได้ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการเติบโตด้าน รายได้สูงมาก จาก ปีแรกๆ 3-4 ล้านเหรียฐดอลลาร์ ขยับเป็น 40 ล้านเหรียญดอลลาร์ และล่าสุดปี 2550 บริษัทฯ ทำรายได้สูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีนโยบายลงทุนสร้างโรงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ด้านนางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุน ภาค 1 BOI จังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการลงทุนว่า ปัจจุบัน บีโอไอ ให้ความสำคัญกับตลาดอินเดียเช่นเดียวกัน แต่ยังมองรวมถึงประเทศอยู่ในเอเชียใต้ที่ไทยมีโอกาสการลงทุนในอนาคต

สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ และมีโอกาสในตลาดอินเดีย คือ สปา สินค้าสุขภาพ ธุรกิจการก่อสร้าง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เป็นต้น นอกจากนี้บีโอไอมุ่งหวังให้นักลงทุนไทยใช้ประโยชน์ หรือร่วมมือกับอินเดีย เนื่องจากอินเดียเก่งทางด้านงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสูงมาก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยในช่วงแรกๆ ควรจะเริ่มทดลองค้าขายก่อน พอขายได้ก็เปลี่ยนจากค้าขายไปลงทุน โดยร่วมมือกับเขา หรือทำตลาดของเองก็ได้ อย่างไรก็ตาม คนอินเดียเป็นคนทำอะไรจริงจัง และเจาะลึกเรื่องข้อมูล หวังให้ผู้ประกอบการไทย รู้ลึก และรู้จริงเรื่องอินเดียก่อนค้าขาย
กำลังโหลดความคิดเห็น