xs
xsm
sm
md
lg

นายกพรีมา ค้าน “ซีแอล” เล็งจับเข่าคุย “ไชยา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายก “พรีมา” ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการประกาศ “ซีแอล” ชี้เสียมากกว่าได้ ระบุการประกาศซีแอลของรัฐทำให้ต่างชาติมองไทยเป็น “หัวขโมย” เตรียมหาโอกาสจับเข่าคุย “ไชยา”
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ภก.ธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งประเทศไทย (พรีมา) ออกแถลงการณ์จากนายกพรีมา เรื่อง “เหตุผล 5 ประการที่การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทย และผู้ป่วย” โดยระบุว่า การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ในอุตสาหกรรมยานั้น คือการที่ภาครัฐใช้อำนาจบังคับให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยา ยินยอมให้รัฐหรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายจากรัฐผลิตหรือจัดหายาเลียนแบบยาต้นแบบภายใต้สิทธิบัตรของเขาได้ ก่อนที่สิทธิบัตรจะหมดอายุการคุ้มครอง กฏหมายระหว่างประเทศนั้นยอมให้มีการทำซีแอลก็ต่อเมื่อมีภาวะฉุกเฉินในระดับชาติ และไม่มีจุดประสงค์ในเชิงการค้า

ยาต่างจากสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ตรงที่ยาจะได้รับระยะเวลาการคุ้มครองที่มีเวลาจำกัด คือเพียงประมาณ 10 ปี หลังการออกจำหน่ายในตลาดยา เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิดังกล่าว ผู้คิดค้นยาจะต้องเปิดเผยข้อมูลสูตรยา และวิธีการผลิตหลังจากสิ้นอายุการคุ้มครองตามสิทธิบัตรเพื่อให้ผู้อื่นสามารถผลิตลอกเลียนแบบได้

อย่างไรก็ตาม สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่รัฐให้กับเจ้าของสิทธิบัตรยานั้น ไม่ใช่สิทธิในการผูกขาดทางการตลาด เนื่องจากมิได้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้อื่นคิดค้นวิจัยสูตรยาตัวอื่นๆ ที่ใช้รักษาโรคเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ความคุ้มครองยังไม่สิ้นสุด ผู้อื่นสามารถคิดค้นและผลิตยาที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันหรือดีกว่าออกสู่ตลาดได้

“ยาสามัญ” คือ ยาเลียนแบบที่ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายหลังจากที่สิทธิบัตรยารายการหนึ่งๆ หมดอายุความคุ้มครอง ดังนั้น บริษัทที่มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและคิดค้นสร้างตัวยาใหม่ๆ จึงไม่ได้ต่อต้านการผลิตยาสามัญ

สิทธิบัตรนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นและจูงใจให้ผู้วิจัยยาพยายามค้นคว้าและพัฒนาให้ได้ยาใหม่ที่สำคัญในการรักษาโรค การอนุญาตให้ผู้คิดค้นหรือนักประดิษฐ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดด้วยการให้สิทธิบัตรคุ้มครอง เพื่อให้ทำธุรกิจและจำหน่ายผลงานนวัตกรรมที่ตนคิดค้นพัฒนาขึ้นมานั้น นับเป็นการกระตุ้นให้ผู้คิดค้นหรือนักประดิษฐ์อยากลงทุนด้านการค้นคว้าวิจัยต่อไป

1.การที่รัฐบาลยึดเอาทรัพย์สินของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อเหตุผลใดๆ ก็ตาม การกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะการกระทำดังกล่าวจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของประเทศ เช่น หากมีนักการเมืองประกาศว่า “เราต้องการผลิตภัณฑ์ของท่าน แต่เราไม่มีงบประมาณพอที่จะซื้อ ฉะนั้น เราจะใช้อำนาจรัฐดำเนินการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของท่าน”

เมื่อรัฐบาลเริ่มการกระทำดังกล่าว รัฐบาลได้ทำลายความมั่นใจของผู้ลงทุนไทยและต่างชาติในประเทศของเรา เงินลงทุนจากต่างประเทศนับเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ คนไทยทั้ง 63 ล้านคนจะต้องเผชิญภาวะยากลำบาก

1.การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจะทำลายชื่อเสียงของประเทศบนเวทีโลก ช่วงที่ไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ชื่อเสียงของประเทศไทยได้รับความเสียหายอย่างมาก สื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ทามส์ (Financial Times) และวอลสตรีท เจอนัล (Wall Street Journal) เขียนพาดหัวข่าววิจารณ์ว่า ประเทศไทยเป็น “ผู้ขโมย” ไม่ว่าคำพูดดังกล่าวจะจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พาดหัวข่าวนั้นได้ทำลายความน่าเชื่อถือของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย หากจะพูดว่าการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจะช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณ เราจะต้องถามว่าการประหยัดงบฯ ที่ว่าจะคุ้มค่ากับการกระทำหรือไม่ ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยด้านสุขภาพได้อย่างไร หากผู้คิดค้นขาดความมั่นใจได้ว่านวัตกรรมของเขาจะได้รับการคุ้มครองในประเทศไทยอย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

2.ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเสียผลประโยชน์ทางด้านการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องจากประวัติการไม่ให้ความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญา การประกาศใช้สิทธิเหนือ-สิทธิบัตรยาของรัฐบาลที่ผ่านมาอาจทำให้ถูกมองเป็นเช่นนั้น หากเราเสียผลประโยชน์ทางการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา ความเสียหายดังกล่าวจะส่งผลต่ออุตสากรรมมากมาย ทั้งยังส่งผลต่อแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ รองเท้า และผลิตภัณฑ์ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาอื่นๆ อีกมากมายเกินกว่าจะนับ

นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาคการเกษตรกรรมที่พึ่งการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มูลค่ากว่า 131,500 ล้านบาทไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป (Generalized System of Preference : GSP) ปีที่แล้วรัฐบาลได้ประหยัดงบประมาณ การซื้อยาได้เพียง 15 ล้านบาทจากการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรสำหรับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวแรก แทนที่จะสร้างความเสี่ยงให้เกิดผลกระทบกับคนไทยเป็นล้านๆ คน ทำไมรัฐบาลไม่พยายามลงทุนเพิ่มในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ด้วยการจัดหายาโดยไม่ต้องใช้ซีแอลภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ายาเอง

3.ผู้ป่วยไทยควรได้รับยาที่มั่นใจในคุณภาพได้มากกว่ายาเลียนแบบ ผู้ป่วยควรได้รับยาต้นแบบ และรัฐบาลควรหาจัดตั้งโครงการที่จะจัดหายาที่เชื่อถือได้และมีคุณภาพสูงแก่ผู้ป่วย

4.การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยานับเป็นการสร้างภาพ การแก้ปัญหาสุขภาพ เชิงประชาสัมพันธ์ แต่การกระทำดังกล่าวทำให้เรามองข้ามการแก้ปัญหาที่แท้จริงเกี่ยวกับระบบการรักษาสุขภาพของประเทศไทย การบังคับใช้สิทธิเพื่อการใช้ยาเลียนแบบไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มให้กับคนไทยอีกมากมาย ประเทศต้องจัดงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น เพื่อให้สามารถหาซื้อยาคุณภาพและยาที่ดีที่สุดของโลกมาบริการประชาชน ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยจัดสรรงบประมาณให้กับการรักษาสุขภาพน้อยมาก เพียงแค่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ ซึ่งแม้แต่ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ในลิเบอร์เรีย โมซัมบิก รวันดา ซูดาน และเซเนกัล ยังจัดงบประมาณด้านสุขภาพเทียบกับค่าจีดีพีมากกว่าประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งในประเทศอย่างปากีสถาน มาเลเซีย และอิรัก มีสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรมากกว่าประเทศไทย ในขณะที่แอลจีเรีย เม็กซิโก และเอกวาดอร์มีจำนวนสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรมากกว่าไทยถึง 3 เท่า มีเพียง บางประเทศในโลกที่มีสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทยซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่แพทย์ 4 คนต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน

พรีมา เป็นองค์กรตัวแทนของอุตสาหกรรมวิจัยพัฒนายาที่ประกอบการอยู่ในประเทศไทย เราเชื่อว่าการบังคับใช้สิทธิกับยาที่มีสิทธิบัตร (ซีแอล) จะไม่เกิดประโยชน์และผลดีในระยะยาวต่อผู้ป่วย และไม่ใช่ทางออกที่ดีต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย แต่จะทำให้เราหลงทางในการแก้ปัญหาระยะยาวด้วยวิธีของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

การแก้ปัญหาในระบบสุขภาพของไทยที่เป็นอยู่จะใช้วิธีการง่ายๆ ไม่ได้ การพัฒนาเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีคุณภาพและยั่งยืนจะบรรลุได้ด้วยการปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นฐานต่างๆ เช่น การมีแพทย์เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยในชนบท การให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้ยาอย่างถูกต้อง

การจัดสรรงบประมาณการสาธารณสุขที่เพียงพอ และการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ ปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนระหว่างแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออก และได้จัดสรรงบประมาณการสาธารณสุขคิดเป็นร้อยละของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ต่ำที่สุด พรีม่าตระหนักดีถึงความสำคัญของการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และได้ผลักดันจนเกิดคณะกรรมการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคอุตสาหกรรมยาขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการร่วมแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในระบบสุขภาพของไทย

พรีมาและบริษัทวิจัยพัฒนายาในประเทศไทย ยืนหยัดและทุ่มเทเพื่อการเป็นภาคีกับรัฐบาลและผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ ในระบบสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพในระบบสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นองค์รวม

“กระผมและผู้ร่วมงานในพรีมาจะรอโอกาสการเข้าพบและหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับระบบสุขภาพของไทยอย่างยั่งยืน”
กำลังโหลดความคิดเห็น