xs
xsm
sm
md
lg

ไขกลยุทธ์ Waffle Cool ปรับโฉมสอดไส้เจาะรากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วของแบรนด์ “เดอะ วอฟเฟิล” แจ้งเกิดจากผู้ประกอบการรายจิ๋วจนก้าวสู่ผู้นำตลาด หนึ่งในกลยุทธ์ที่เอสเอ็มอีรายนี้ใช้เพื่อรักษาแชมป์ของตัวเองไว้ คือ การขยายฐานลูกค้า โดยคลอดแบรนด์ “วอฟเฟิล คูล” เพื่อเจาะตลาดล่าง ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ วิธีลดต้นทุนแต่รักษาคุณภาพเดิม รวมถึง สินค้าต้องมีจุดเด่นต่างออกไป

สุพรรณี พนิตนรากุล ผู้จัดการบริษัท เดอะวอฟเฟิล ซัพพลาย จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ขยายธุรกิจแฟรนไชส์ “เดอะ วอฟเฟิล” (The waffle) มากว่า 4 ปี ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลัก คือ คนระดับกลางกึ่งบน และวัยทำงาน เน้นทำเลหน้าห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า และย่านธุรกิจ เป็นต้น โดยค่าแฟรนไชส์ประมาณ 60,000 บาท

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ผู้สนใจลงทุนแฟรนไชส์ส่วนหนึ่ง เรียกร้องอยากจะขายในทำเลที่เสียค่าเช่าไม่สูงนัก เช่น ตลาดนัดต่างๆ ขายในโรงเรียน หรือถนนทางเข้าหมู่บ้าน เป็นต้น ทว่า ในแง่ของบริษัทฯ หากยอมปล่อยแฟรนไชส์ “เดอะวอฟเฟิล” ลงพื้นที่ดังกล่าว เกรงจะไม่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึง หวั่นเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ ดังนั้น จึงออกแฟรนไชส์ใหม่อีกแบรนด์ ในชื่อ “วอฟเฟิล คูล” (Waffle Cool)

เจ้าของธุรกิจ อธิบายต่อว่า “วอฟเฟิล คูล” จะเน้นลูกค้าตลาดกลางล่าง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก และวัยรุ่น ซึ่งกำลังซื้อไม่สูงนัก กำหนดราคาขายให้ต่ำลงเหลือชิ้นละ 13 บาท แต่คุณภาพความอร่อยเท่าเดิม โดยกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนรูปแบบ ใช้วัตถุดิบแป้งชนิดเดิม แต่ลดปริมาณเนื้อแป้งลงชิ้นละ 20 กรัม แล้วใส่ไส้ต่างๆ ลงไปแทนที่ นอกจากจะได้ขนมชิ้นขนาดเท่าเดิมในต้นทุนต่ำลงแล้ว ยังช่วยให้สินค้ามีความแตกต่างออกไป

“ความอร่อยของขนมวอฟเฟิล คือ แป้งโยเกิร์ต ซึ่งค่าวัตถุดิบในการผลิต ถือเป็นต้นทุนหลักของขนมชนิดนี้ ถ้าเราจะลดต้นทุนด้วยการลดหรือเปลี่ยนวัตถุดิบ แน่นอนว่าคุณภาพขนมต้องแย่ลงแน่ๆ ในที่สุดธุรกิจก็จะไปไม่รอด ดังนั้น ดิฉันเลือกที่จะใช้แป้งเหมือนกับ “เดอะวอฟเฟิล” ทุกประการ แต่ลดปริมาณเนื้อแป้งลง แล้วใส่ไส้ ซึ่งต้นทุนถูกกว่าไปแทน ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้ “วอฟเฟิล คูล” เป็นอีกทางเลือกทั้งผู้บริโภค และผู้สนใจลงทุน โดยไม่ต้องแข่งกันเองกับแบรนด์เดิม” สุพรรณี เผย

ขณะที่ภาพลักษณ์ของแฟรนไชส์ทั้ง 2 แตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ “เดอะ วอฟเฟิล” สัญลักษณ์ หรือเคาวเตอร์จะออกแนวสากลฝั่งตะวันตก ดูเป็นผู้ใหญ่ ส่วน“วอฟเฟิล คูล” นำเสนอแนวทางสดใส น่ารัก ออกสไตล์ญี่ปุ่น

สำหรับไส้ขนมที่ใส่ใน “วอฟเฟิล คูล” ประกอบด้วย ช็อกโกแลต ครีม ถั่วแดง เผือก สังขยา และแคนตาลูป โดยสั่งจากโรงงานผลิตไส้ขนมส่งออกโดยเฉพาะ ต่อชิ้นผู้ขายจะมีกำไรประมาณ 60% จากการเก็บข้อมูลแฟรนไชส์จะมีรายได้เฉลี่ยหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน

ด้านลงทุนแฟรนไชส์ “วอฟเฟิล คูล” อยู่ที่ประมาณ 40,000 บาท และควรมีทุนหมุนเวียนประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน มีข้อกำหนดต้องรับวัตถุดิบแป้งและไส้จากบริษัทฯ เท่านั้น ส่วนคาดการณ์คืนทุนภายใน 3-4 เดือน ด้านการควบคุมคุณภาพจะมีทีมส่วนกลางตรวจสอบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

แม้ว่า“วอฟเฟิล คูล” จะมุ่งเจาะตลาดกลางล่าง แต่การเลือกทำเลนั้น สุพรรณี ระบุว่า หากพิจารณาไม่เหมาะสมโอกาสประสบความสำเร็จก็เป็นเรื่องยาก ตัวอย่างเช่น หากจะลงตลาดนัด ก็ควรเป็นตลาดนัดที่มีศักยภาพของผู้ซื้อพอสมควร หรือถ้าเป็นย่านที่อยู่อาศัย ควรเป็นทำเลที่ขายได้ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นเช้า กลางวัน เย็น และค่ำ

ส่วนเทคนิคในการเลือกเฟ้นทำเล ปัจจุบันดูได้ง่ายๆ คือ พยายามเกาะบริเวณร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง หรือถ้าเป็นตามห้างสรรพสินค้า ควรจะเป็นหน้าประตูทางเข้า-ออก และทางขึ้น-ลงบันไดเลื่อน ซึ่งจุดดังกล่าวกลิ่นขนมจะเป็นตัวเรียกลูกค้า

เจ้าของธุรกิจ เผยด้วยว่า ปัจจุบัน มีสาขาแฟรนไชส์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 70 สาขา แบ่งเป็นส่วน“วอฟเฟิล คูล” ราว 10 สาขา กระจายอยู่ตามปริมณฑล ส่วนอัตราอยู่รอดของแฟรนไชส์โดยรวมเฉลี่ย 80% นอกจากนั้น บริษัทฯ ขยายธุรกิจอีกด้าน โดยส่งวัตถุดิบแป้งขนมให้เครือเมเจอร์ เพื่อขายหน้าโรงภาพยนตร์ด้วย

สำหรับ คู่แข่งในตลาด ปัจจุบันมีอยู่ 3 ราย โดยบริษัทฯ ยังถือเป็นผู้นำครองสัดส่วนตลาดกว่า 70-80% จากข้อได้เปรียบเป็นเจ้าแรก และมีปริมาณสั่งซื้อวัตถุดิบสูง ทำให้สามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาต่ำกว่ารายอื่นๆ ช่วยรักษาคุณภาพสินค้า โดยไม่ต้องลดวัตถุดิบ

ส่วนสภาพเศรษฐกิจในปีนี้ (2551) ซึ่งนักลงทุนและนักวิชาการหลายรายลงความเห็นว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ในมุมมองของสุพรรณีแล้ว กลับเชื่อว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ธุรกิจจะขยายตัว

“ถ้าเป็นช่วงเศรษฐกิจดี การหาทำเลเป็นเรื่องยากมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอ ทำเลดีๆ เหล่านั้น เริ่มว่างมากขึ้น และค่าเช่าก็ถูกลง ดิฉันจึงมองเป็นโอกาสที่จะเข้าไปจับจองพื้นที่ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลง ธุรกิจอาหารยังทำยอดได้ดีสม่ำเสมอ ขอเพียงรักษาคุณภาพ ขายในราคาไม่แพงเกินไป ใช้หลักคิดแทนตัวเองเป็นคนซื้อ ธุรกิจก็จะสามารถอยู่รอดได้อย่างดี” สุพรรณี ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น