xs
xsm
sm
md
lg

วอเทอร์ คิวบ์ / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิค เกมส์ครั้งที่ 29 หรือ เป่ยจิ๊ง 2008 ( Beijing 2008 ) ได้ทำพิธีเปิดศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติ ( National Aquatics Centre ) รูปลักษณ์พิศดาร มูลค่า 136 ล้านยูโร หรือประมาณ 6,250 ล้านบาท ที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2003 เรียบร้อยแล้ว ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งนี้ มีฉายาว่า “ Water Cube ” หรือ ก้อนน้ำ

ศูนย์กีฬาทางน้ำดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ใช้จัดการแข่งขันว่ายน้ำ กระโดดน้ำ และโปโลน้ำ รวมชิง 42 เหรียญทอง ในโอลิมปิค เกมส์ 2008 ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งก่อนที่โอลิมปิค เกมส์จะมาถึง ทางการจีนก็ได้จัดการแข่งขันว่ายน้ำขึ้นเพื่อเป็นการทดสอบสระ ระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์นี้ นั่นก็คือเริ่มพรุ่งนี้แล้ว รายการนี้มีชื่อว่า “ Good Luck Beijing ” 2008 Swimming China Open

จะว่าไปแล้ว ภายใน National Aquatics Centre ซึ่งจุผู้ชมได้ถึง 17,000 ที่นั่งแห่งนี้ ก็มีสระแข่งขันมาตรฐานเหมือนๆกับสระมาตรฐานในประเทศอื่นๆ คือ มีสระแข่งขันว่ายน้ำ ลึก 3 เมตร สระแข่งขันกระโดดน้ำ รวมทั้งสระซ้อมด้วย แต่ที่ต้องถือว่าเป็นสุดยอดสระว่ายน้ำแห่งอนาคต เพราะออกแบบ ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมล้ำยุคไปไกล มีความสวยงาม และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คุณหลี่ อ้ายฉิง ( Li Aiqing ) ประธานบริษัทจัดการสินทรัพย์ของจีนซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ วอเทอร์ คิวบ์ แห่งนี้เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่า นี่เป็นการก่อสร้างที่ยุ่งยาก ท้าทายตลอด 4 ปีเต็ม วอเทอร์ คิวบ์ มีเป็นลักษณะแบบฟองสบู่ โดยตั้งรูปด้วยโครงเหล็ก แล้วมีผนังทำด้วยแผ่นฟิล์ม ทำออกมาแล้วเหมือนกับหยดน้ำยักษ์ ยืดหยุ่น เกาะอยู่ตามผนัง และใช้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานในการทำความร้อนและแสงสว่างภายใน ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 30 เปอร์เซนต์ อ้อ ต้องเรียนท่านผู้อ่านด้วยว่า เงินจำนวนมหาศาลร่วม 6 พันล้านบาทที่นำมาใช้จ่ายในการก่อสร้าง วอเทอร์ คิวบ์ นี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากชาวจีนที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศช่วยกันสมทบทุนทั้งนั้น

วอเทอร์ คิวบ์ ได้รับการออกแบบโดยบริษัท แอรัพ ( Arup ) บริษัทของท่านเซอร์ โอวี แอรัพ ชาวอังกฤษที่มีส่วนฝากผลงานระดับโลกเอาไว้หลายแห่ง อย่างเช่น ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ ชอรช์ ปงปีดู ( Centre national d’art et de culture Georges-Pompidou ) ในกรุงปารี ประเทศฝรั่งเศส ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมล้ำลึก เป็นอาคารโครงเหล็ก แต่เอาท่อน้ำ ท่ออากาศ สายไฟ ทางเดิน บันไดเลื่อน ออกมาไว้ข้างนอก โดยมีท่อยักษ์สีเขียว ฟ้า เหลือง แดง ห่อหุ้มอยู่ให้ดูแปลกตา ตั้งแต่ยุคปี 70 รวมทั้ง สะพานมิลเลเนียม ที่กรุงลอนดอน ( London Millennium Footbridge ) สะพานที่สร้างให้คนเดินข้ามแม่น้ำเทมส์ ตั้งแต่ปี 1998 นี่ก็ผลงานของแอรัพ

แม้ว่า วอเทอร์ คิวบ์ จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ดูเหมือนว่า สิ่งแวดล้อมของประเทศจีนไม่ได้ทำตนเป็นมิตรกับเพื่อนใหม่รายนี้เลย เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองที่จีนต้องเจอมาตลอด เพราะบ้านเมืองกำลังเจริญเติบโต มีการก่อสร้างถนน อาคารสูงระฟ้ามากมายทุกหนทุกแห่ง รวมทั้ง ลมตะวันตกเฉียงเหนือหอบเอาฝุ่น ทรายมา ทำให้วันที่ทำพิธีเปิดนั้น คณะกรรมการจัดการแข่งขันต้องเหนื่อยต่อการตอบคำถามสื่อมวลชน เพราะผนังด้านนอกของ วอร์เทอร์ คิวบ์ เขรอะไปด้วยฝุ่น แถมยังลามไปเกาะด้านในด้วย แต่หลี่ อ้ายฉิง บอกหน้าตาเฉยว่า เรื่องแค่นี้ เช็ดถูรอบเดียวก็สะอาดแล้ว

นอกจากเรื่องฝุ่นแล้ว วอเทอร์ คิวบ์ ยังเจอเสียงเล่าลืออีกว่า มีคนงานก่อสร้างคนหนึ่งได้จบชีวิตที่นี่ด้วย ทำให้ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างต้องยัดเงินก้อนโตให้กับครอบครัวผู้ตาย ไม่ให้ปูดข่าวนี้ออกมา แต่เรื่องนี้ อี่ จุ้น ( Yi Zhun ) ในฐานะผู้จัดการใหญ่บริษัทรับเหมาก่อสร้างศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติยืนยันว่า ไม่มีใครเสียชีวิตซักคน ไอ้ที่ตายน่ะ คือ การก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ที่ชื่อ “ Bird’ s nest ” ต่างหาก ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลจีนเองก็ออกมายอมรับว่า “ ที่สนาม รังนก นั้น มีตายกันไป 2 ราย แล้วเมื่อรวมยอดผู้เสียชีวิตขณะทำการก่อสร้างสนามกีฬาทั้งหมดนั้น มีทั้งสิ้น 6 ราย ” ทำให้สงสัยว่า แล้วอีก 4 รายไปตายที่ไหนกัน

ผมเชื่อว่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดชึ้นกับ วอเทอร์ คิวบ์ จะใหญ่หรือเล็ก ทางการจีนคงจัดการได้ไม่ยาก แต่ปัญหาที่จีนเองก็แก้ไม่ได้ ก็คือตารางการแข่งขันว่ายน้ำ โอลิมปิค เกมส์ 2008 ที่ไม่สบอารมณ์ผู้ชมทั่วโลก ยกเว้น อเมริกันชนในสหรัฐอเมริกา เพราะคณะกรรมการจัดการแข่งขันของจีนถูกบังคับจากคณะกรรมการโอลิมปิคสากล ( IOC ) ให้จัดการแข่งขันกีฬาที่ผู้ชมในสหรัฐฯสนใจ เช่น ว่ายน้ำ กรีฑา บาสเก็ตบอล ยิมนาสติค ไว้ตอนเช้าตรู่ เพื่อให้ตรงกับช่วงพรายม์ ทายม์ที่สหรัฐฯ นั่นคือ สองทุ่ม ถึง ห้าทุ่ม จะได้ขายโฆษณาได้มากๆ ทั้งนี้ เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีซี ของสหรัฐอเมริกา ได้จ่ายเงินก้อนโตถึง 5,700 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการได้รับสิทธิถ่ายทอดการแข่งขันโอลิมปิค เกมส์ 4 สมัยซ้อนแต่เพียงผู้เดียวในสหรัฐฯ นั่นหมายถึงทั้งโอลิมปิค เกมส์ ฤดูร้อนและฤดูหนาว ตั้งแต่ปี 2000 ยัน 2012 ไปเลย และทางสหรัฐฯก็ขอมาอย่างนั้น โอลิมปิคสากลตาเหลือกรับเงินเขามาแล้ว จึงต้องไปบังคับจีนให้จัดตามที่ขอ รวมความแล้ว เรื่องเงินทอง ผลประโยชน์ก็ต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในวงการกีฬาอีกแล้ว ใครเงินหนา กล้าลงทุนก็มีอิทธิพล ชี้นำได้ งานนี้อเมริกันชนได้ชมกีฬา เคี้ยวสแน็คไปด้วย ส่วนพี่ไทยอดดู เพราะไปทำงานครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น