สสว. เผยผลสำรวจปัจจัยลบที่มีผลต่อ SMEs ในปี 51 ไปจนถึงปี 53 ทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้าและการบริการ ส่วนใหญ่กังวลกับปัญหาน้ำมันแพง รวมถึง อัตราดอกเบี้ย เงินบาทแข็ง และการเมือง
นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า ผลสำรวจปัจจัยลบที่มีผลต่อ SMEs โดย โครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) ชี้ว่า จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปลายปี 2550 กระทบผู้ประกอบการ SMEs ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและการบริการต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายปัจจัย เช่น การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่คงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ การขาดดุลการค้า ความเชื่อมั่นในการลงทุน ตลอดจนความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนภายในประเทศด้านสถานการณ์ทางการเมือง ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการค้า และบริการ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ SMEs ที่สำคัญ คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เช่นราคาน้ำมัน ไฟฟ้า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย อัตราภาษี นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้วปัจจัยด้านการเมือง และเทคโนโลยีที่สำคัญก็คือ ต้นทุนเทคโนโลยี และปัจจัยทางด้านการเมือง รัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจในแต่ละภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น
สำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมภาคการผลิต จะให้ความสำคัญกับ ราคาน้ำมัน ไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ อัตราภาษี ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และต้นทุนของเทคโนโลยี ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการดำเนินงานและผลการประกอบการของภาคการผลิต
สำหรับผู้ประกอบการภาคการค้า จะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และอัตราภาษี เป็นสำคัญเนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลถึงการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน และอัตราการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อยอดขายของภาคการค้าทั้งภายใน และการส่งออกไปยังต่างประเทศ
ส่วนผู้ประกอบการด้านบริการจะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีด้านการสื่อสารและการจัดการ ต้นทุนของเทคโนโลยี การเมือง/รัฐบาล และเทคโนโลยีด้านการขนส่ง ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบผลการประกอบการของการบริการ
ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่มีผลต่อผู้ประกอบการ SMEs ในปีนี้ (2551) ไปจนถึงปี 2553 ผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญต่อปัจจัยทางการเมือง/กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะ ราคาน้ำมัน ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราภาษี เทคโนโลยีด้านการขนส่ง และเทคโนโลยีด้านการผลิตโดยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาคการผลิต จะให้ความสำคัญกับอัตราภาษี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ราคาน้ำมันไฟฟ้า การเมือง/รัฐบาล และเทคโนโลยีด้านการผลิตเป็นสำคัญ ส่วนผู้ประกอบการภาคการค้า จะให้ความสำคัญกับราคาน้ำมัน ไฟฟ้า อัตราภาษี ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเทคโนโลยีด้านการผลิต สำหรับผู้ประกอบการในภาคบริการ ให้ความสำคัญกับราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและการจัดการ และเทคโนโลยีด้านการขนส่ง
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ไทยจากกลุ่มตัวอย่างที่ส่งสัญญาณเตือนผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนอยากกระตุ้นคนไทยให้หันมาผนึกกำลังกันเพื่อการรักษาสภาพและแก้ไขปัญหาก่อนจะสาย