xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นSME เดือนธ.ค.เพิ่มสูงสุดในรอบปี50รับอานิสงส์ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีความเชื่อมั่น TSSI SMEs ประจำเดือนธันวาคม 2550 ปรับตัวเพิ่มรับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวปลายปี โดยปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 47.9 สูงสุดในรอบปี 50 สรุปดัชนีความเชื่อมั่นในรอบปี 50 และคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ตลอด ผลพ่วงมาจากอำนาจซื้อลดลงและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น วอนรัฐบาลใหม่กระตุ้นเกิดการจ้างงานและการบริโภคให้เพิ่มขึ้น

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนธันวาคม 2550 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.9 จากระดับ 44.4 ทั้งนี้ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 46.3 47.5 และ 48.8 จากระดับ 41.7 43.0 และ 46.8 ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเองก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อยู่ที่ระดับ 37.2 และ 50.9 จากระดับ 32.7 และ 43.8 ตามลำดับ

“จากผลการสำรวจประจำเดือนธันวาคม 2550 พบว่า ค่าดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมีผลมาจากอยู่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยทั้งเพื่อการบริโภคและการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากค่าดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง ทั้งในกลุ่มภาคการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค สถานีบริการน้ำมัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการการท่องเที่ยวและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่เกินกว่า 50 พร้อมกันทั้งกลุ่มเป็นครั้งแรกในรอบปี 2550” ผอ.สสว. กล่าว

โดยเมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ในส่วนของภาคการค้า ธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในภาคการค้าส่ง โดยอยู่ที่ 50.8 จากระดับ 42.3 (เพิ่มขึ้น 8.5) ขณะที่ภาคการค้าปลีก สถานีบริการน้ำมัน มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 49.8 จากระดับ 43.7 (เพิ่มขึ้น 6.1 ) ส่วนภาคบริการ กลุ่มธุรกิจบริการท่องเที่ยวและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยบริการร้านอาหารและภัตตาคาร ค่าดัชนีอยู่ที่ 52.2 จากระดับ 45.6 (เพิ่มขึ้น 6.6) บริการการท่องเที่ยว ค่าดัชนีอยู่ที่ 51.6 จากระดับ 48.0 (เพิ่มขึ้น 3.6) และกิจการโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ และบังกะโล ค่าดัชนีอยู่ที่ 53.8 จากระดับ 51.5 (เพิ่มขึ้น 2.3)

ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ มีค่าดัชนีปรับตัวลดลง อยู่ที่ 47.3 จากระดับ 48.8 และลดลงในทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงมาอยู่ที่ 47.3 47.2 และ 47.4 จากระดับ 47.7 48.3 และ 49.7 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องของผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ อำนาจซื้อของประชาชนที่ลดลง ระดับราคาต้นทุนสินค้า ราคาน้ำมัน รวมทั้งราคาค่าขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเนื่องจากค่าดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในอนาคตในระดับที่ไม่ดีนัก

ผอ.สสว. เปิดเผยต่อถึงดัชนี TSSI SMEs ไตรมาส 4/2550 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2550 พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs รวมภาคการค้าและบริการ มีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและไตรมาสหน้า โดยมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 45.0 และ 48.2 จากระดับ 44.2 และ 46.9 ตามลำดับ ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34.5 และ 45.3 จากระดับ 27.8 และ 37.1 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาตัวเลขดัชนี TSSI SMEs ของปี 2550 พบว่า ค่าดัชนีทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าฐาน 50 มาโดยตลอด โดยค่าดัชนีลดลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 41.3 และปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงที่สุดในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 47.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าของปี 2550 จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบันและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 มาโดยตลอดในรอบปี 2550

“ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า คือเรื่องอำนาจซื้อของประชาชนและระดับราคาน้ำมัน ดังนั้นหากรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ มีการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน รวมทั้งดูแลด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ระดับราคาน้ำมัน และราคาบริการสาธารณณูปโภค ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคการค้าและบริการ ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต” ผอ. สสว. กล่าวในที่สุด

สำหรับดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการรายภูมิภาค 5 ภูมิภาค เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2550 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคใต้ มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 53.4 จากระดับ 42.7 (เพิ่มขึ้น 10.7) รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 46.6 จากระดับ 43.5 (เพิ่มขึ้น 3.1) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 46.4 จากระดับ 44.3 (เพิ่มขึ้น 2.1) และภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 46.5 จากระดับ 44.8 (เพิ่มขึ้น 1.7) ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นภูมิภาคเดียวที่มี ค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 46.2 จากระดับ 46.6 (ลดลง 0.4)
กำลังโหลดความคิดเห็น