xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจ ธปท.ชี้ "นักธุรกิจ" ห่วงน้ำมันดันต้นทุน-เงินเฟ้อพุ่ง 4.4%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจรอบ 3 เดือน ระบุ 2 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นทั้งธุรกิจก่อสร้าง การเงิน ขณะที่ภาคสาธารณูปโภค การค้า ภาคขนส่งและคลังสินค้า รวมทั้งภาคบริการดัชนีกลับลดลง เหตุผู้ประกอบการกังวลต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันแพง กดดันให้เงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้รายงานการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 พบว่านักธุรกิจส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมากขึ้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2551 ซึ่งเป็นแนวโน้มทางความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ในช่วงปลายปี หลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นในส่วนของภาคก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบ ซึ่งปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.1 จากในช่วง 3 เดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.9 ส่วนภาคธุรกิจการเงินดัชนีเพิ่มปรับมาอยู่ที่ระดับ 54.3 จาก 52.0 ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมยังทรงตัวอยู่ที่ 50.1 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการของทั้ง 3 ภาคธุรกิจดังกล่าวมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น

ขณะที่ภาคสาธารณูปโภค ภาคการค้า ภาคขนส่งและคลังสินค้า และภาคบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับลดลง โดยภาคสาธารณูปโภคดัชนีลดลงจาก 53.1 มาอยู่ที่ 46.9 ภาคการค้าดัชนีลดลงจาก 51.6 มาอยู่ที่ 49.7 และภาคขนส่งและคลังสินค้า ดัชนีลดลงจาก 44.8 มาอยู่ที่ 43.8 ส่วนภาคบริการดัชนีปรับลดลงจาก 52.0 ลงมาอยู่ที่ 48.1 เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจกับภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมองว่าภายใต้แนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นข้อจำกัดอันดับแรกของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งเป็นแรงกดดันด้านต้นทุนของสินค้าและบริการ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 4.1% ในช่วงก่อนหน้า เป็นเฉลี่ย 4.4% อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการจะขอปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2551 น่าจะดำเนินการได้ยากกว่าในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นมาจากแนวโน้มการจ้างงานและการปรับอัตราค่าจ้างที่ดีขึ้น เนื่องจากพบว่า จำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลาต่อวันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตและระดับการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจ้างทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นจาก 63.0% ในเดือนต.ค.50 มาเป็น 65.5% ในเดือน พ.ย. สำหรับแนวโน้มการปรับอัตราค่าจ้างในปี 2551 ปรับเพิ่มขึ้น โดยค่าเฉลี่ยการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างสูงขึ้นจาก 2.8% ต่อปี เพิ่มเป็น 3.1% ต่อปีในเดือนนี้ ซึ่งสะท้อนคำสั่งซื้อที่มีมากขึ้นและภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวมากขึ้น
ขณะที่ในด้านการเงินและสภาพคล่องของภาคธุรกิจ พบว่า ภาระดอกเบี้ยและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นตามราคาวัตถุดิบและปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนผู้ประกอบการที่เห็นว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 25.1% จาก 15.3% ในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 18.9% ที่เห็นว่าจะภาระการผ่อนส่งดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจาก 16.3% ในช่วงก่อนหน้า

ส่วนสภาพคล่องของผู้ประกอบการทั้งในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะลดลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลของการให้สินเชื่อการค้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินน้อยลง ในขณะที่ผู้ประกอบการ 64.7% กังวลกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น