xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติเตรียมปรับสมมติฐานน้ำมัน 16 ม.ค.นี้ เชื่อคุมเงินเฟ้ออยู่หมัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารแบงก์ชาติ ชี้ภาวะเงินเฟ้อ 3.2% ยังไม่น่าวิตก แรงกดดันยังไม่รุนแรงถึงขั้นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด เตรียมปรับสมมติฐานน้ำมันใหม่ ในการประชุม กนง.16 ม.ค.นี้ พร้อมยอมรับ แนวโน้มรัฐบาลใหม่จะฟื้นความเชื่อมั่นได้จริง

วันนี้ (4 ม.ค.) นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อภายในประเทศ ที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงว่า อาจเกิดภาวะวิกฤตนั้น หากพิจารณาจากข้อมูลแล้ว แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดเดือน ธ.ค.50 เร่งตัวขึ้นถึง 3.2% แต่ยังไม่เห็นสัญญาณที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะการชะลอตัว เนื่องจากระดับดังกล่าวยังไม่ถือว่าสูงมากนัก ประกอบกับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2550 ยังขยายตัวสูงใกล้เคียง 5%

ธปท.มองว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอาจยังไม่มีความจำเป็นต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ เนื่องจากหากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2550 ยังถือว่าต่ำอยู่ทั้งเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ระดับ 1.1% และ 2.3% ตามลำดับ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในกรอบประมาณการของธปท.ที่ 0-3.5%

“ตอนนี้กำลังดูแรงกดดันของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะแรงกดดันจากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการอุปโภคและการลงทุนในประเทศ จะฟื้นอย่างเร่งตัวหรือไม่ แต่ถ้าดูเงินเฟ้อพื้นฐานขณะนี้ยังไม่เห็นแรงกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ยเท่าไร”

นางอมรา กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ของ ธปท.อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลด้านราคาน้ำมัน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ เพื่อปรับสมมติฐานราคาน้ำมันในแบบจำลองเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะเป็นการปรับราคาน้ำมันในกรณีฐานให้สูงขึ้นจากการประชุม กนง.ครั้งก่อน ส่วนสมมติฐานราคาน้ำมันกรณีเลวร้ายสุดต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากราคาน้ำมันยังเร่งตัวขึ้นไม่สูงมากนัก

ประกอบกับ ต้องประเมินผลกระทบจากปัญหาตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้ไทยเผชิญกับปัญหานี้แต่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี เพราะมีการปรับตัวด้วยการกระจายตลาด พร้อมกับลดความสำคัญของตลาดสหรัฐฯลง

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่แน่นอน ทั้งราคาน้ำมัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเมือง ซึ่งเราให้ความสำคัญปัจจัยการเมืองมาก แม้จะได้รัฐบาลใหม่ แต่จะช่วยเร่งฟื้นความเชื่อมั่นการลงทุนโครงการวางระบบสาธารณูปโภคได้หรือไม่ยังไม่รู้” นางอมรา สรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น