สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ก.พ. ลดลงเป็น 42.5 จากระดับ 45.2 โดยเป็นการลดลงทุกกลุ่มธุรกิจ ชี้เหตุจากเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว ผปก.กังวลต้นทุนผลิตเพิ่ม ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย คาดการณ์ 3 เดือนหน้า สถานการณ์ดีขึ้น เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มออกฤทธิ์
นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเปรียบเทียบกับมกราคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการมีค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 42.5 จากระดับ 45.2 และเป็นการปรับตัวลดลงทุกภาคธุรกิจ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ลดลงอยู่ที่ 41.3 41.5 และ 43.9 จากระดับ 44.2 45.0 และ 45.9 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศและธุรกิจตนเองก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน อยู่ที่ 39.6 และ 39.8 จากระดับ 40.8 และ 45.8 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะภาคค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีก (ดั้งเดิม) นับว่ามีการปรับตัวลดลงในระดับต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน ซึ่งมีผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว รวมถึง ผู้ประกอบการกังวลต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนก็มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจทั้งจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ และห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ที่รุนแรง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลงดังกล่าว ส่วนภาวะของธุรกิจบริการท่องเที่ยวและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งลดลงในระดับสูงเช่นกันนั้น มีผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลลงและต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ในส่วนของภาคการค้า ธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดในภาคการค้าส่ง โดยอยู่ที่ 39.3 จากระดับ 44.9 (ลดลง 5.7) ขณะที่ ภาคการค้าปลีก ร้านค้าปลีก (ดั้งเดิม) มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 39.6 จากระดับ 44.0 (ลดลง 4.4 ) ส่วนภาคบริการ กลุ่มธุรกิจบริการท่องเที่ยวและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด โดยบริการร้านอาหาร และภัตตาคาร ค่าดัชนีอยู่ที่ 42.1 จากระดับ 46.5 (ลดลง 4.4) บริการการท่องเที่ยว ค่าดัชนีอยู่ที่ 42.3 จากระดับ 46.5 (ลดลง 4.2) และ กิจการโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ และบังกะโล ค่าดัชนีอยู่ที่ 44.7 จากระดับ 48.7 (ลดลง 4.0)
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยอยู่ที่ 47.4 จากระดับ 46.3 (เพิ่มขึ้น 1.1) ซึ่งค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.2 46.5 และ 47.9 จากระดับ 47.8 45.6 และ 46.4 หรือเพิ่มขึ้น 0.4 0.9 และ 1.5 ตามลำดับ
“การที่ค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า การดำเนินมาตรการด้านต่างๆ ของรัฐบาลน่าจะส่งผลเป็นรูปธรรมและทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น แต่เนื่องจากค่าดัชนียังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าแม้ผู้ประกอบการจะมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในอนาคตเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก” ผอ.สสว. กล่าว
สำหรับดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการรายภูมิภาค 5 ภูมิภาค เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม พบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลง โดยภาคใต้ เป็นภูมิภาคที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุด อยู่ที่ 42.5 จากระดับ 52.2 (ลดลง 9.7) โดยมีผลมาจากกิจการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโค ร้านค้าปลีกดั้งเดิมและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงบริการวิชาชีพ บริการขนส่ง การก่อสร้าง บริการการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงในระดับสูง รองลงมาคือภาคเหนือ ลดลงอยู่ที่ 41.0 จากระดับ 43.8 (ลดลง 2.8) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงอยู่ที่ 38.5 จากระดับ 40.7 (ลดลง 2.2) ขณะที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 44.6 และ 45.7 จากระดับ 43.8 และ 45.1 หรือเพิ่มขึ้น 0.8 และ 0.5 ตามลำดับ