xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ทำความรู้จัก “ดาวหาง Tsuchinshan – ATLAS” ก่อนชมความงดงามได้ด้วยตาเปล่าปลายเดือนกันยายน – ต้นเดือนตุลาคมนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ในช่วงปลายเดือนกันยายน – ต้นเดือนตุลาคม 2024 นี้ เป็นช่วงที่ผู้คนทั่วโลกจะมีโอกาสได้ชมความงดงามของ “ดาวหาง Tsuchinshan – ATLAS” (จื่อจินซาน - แอตลัส) ได้ด้วยตาเปล่า ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างจากโลกไป 


ดาวหาง Tsuchinshan – ATLAS” (จื่อจินซาน - แอตลัส) หรือ C/2023 A3 ถูกค้นพบโดยระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2023 แต่ต่อมาพบว่ามีรายงานจากนักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวจื่อจินซาน ในประเทศจีน ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2023 ดังนั้น ชื่อของหอดูดาวทั้งสองฝั่งจึงกลายเป็นชื่อของดาวหางดวงนี้

ในช่วงนี้ ดาวหาง Tsuchinshan - ATLAS อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวพุธและดาวศุกร์ โดยจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 กันยายน 2024 นี้ ที่ระยะห่างประมาณ 58.6 ล้านกิโลเมตร (ประมาณระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ) ก่อนเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2024 ที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งจะเป็นช่วงที่ดาวหางจะมีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากที่สุด ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อยๆ 

ในวันที่ 28 กันยายน 2024 จะเป็นวันที่ดาวหางจะโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ดาวหางจะได้รับรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จนทำให้ปลดปล่อยฝุ่นและแก๊สออกมามากยิ่งขึ้น และอาจเกิดเป็นหางที่พุ่งยาวไปในอวกาศได้ไกลหลายล้านกิโลเมตร


สำหรับการชม ดาวหาง Tsuchinshan - ATLAS ในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงประมาณวันที่ 6 ตุลาคม 2024 ดาวหางจะปรากฏในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก และหลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม2024 เป็นต้นไป ดาวหางจะปรากฏบนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก

ปัจจุบัน ดาวหาง Tsuchinshan - ATLAS อยู่ในกลุ่มดาวเซกซ์แทนต์ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 144,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอันดับความสว่างประมาณ 8.5 มีนิวเคลียสที่เป็นจุดเล็กๆ และทอดหางยาวประมาณ 0.5 องศา ตามการคาดการณ์ของนักดาราศาสตร์ ดาวหางในช่วงที่มีความสว่างที่สุดจะมีอันดับความสว่างประมาณ 2-3 และอาจสว่างถึงอับดับ -1 ก็เป็นได้

ทาง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผยว่า จากการคำนวณล่าสุดชี้ว่า ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ดาวหางอาจมีความสว่างได้มากกว่า “ดาวศุกร์” จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท

Joseph Marcus นักวิจัยด้านดาวหาง ชี้ว่า Tsuchinshan - ATLAS อาจมีค่าความสว่างปรากฏได้สูงมากถึงแมกนิจูด -6.9 ในวันที่ 9 ตุลาคม 2024 ซึ่งมีความสว่างมากกว่าดาวศุกร์ในช่วงที่สว่างที่สุดในรอบปี ความสว่างจะน้อยกว่าดวงจันทร์ครึ่งดวง หากเป็นเช่นนั้นจริง เราอาจสามารถมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท


ติดตามตำแหน่งของ ดาวหาง Tsuchinshan-ATLAS ได้ที่ https://theskylive.com/c2023a3-tracker


ข้อมูล – รูปอ้างอิง

- thaiastro.nectec.or.th (สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
- astroworldcreations.com
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT
- VDO : Matthew Dominick / ISS NASA


กำลังโหลดความคิดเห็น