xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์พบหลุมดำมวลมหาศาล วัตถุสว่างที่สุดในจักรวาล ที่โตเร็วที่สุดเท่าที่เคยพบมา กลืนมวลสารเท่ากับดวงอาทิตย์ วันละ 1 ดวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ควอซาร์ J059-4351 ได้กลายเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดในจักรวาล จากการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลีย ร่วมกับ หอดูดาวยุโรปตอนใต้ (European Southern Observatory หรือ ESO)

จุดที่สว่างที่สุดในจักรวาลนี้ เป็นหลุมดำมวลมหาศาลที่อยู่ห่างจากโลกเราไป 1.2 หมื่นล้านปีแสง สว่างกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 500 ล้านล้านเท่า และเป็นหลุมดำที่เติบโตเร็วที่สุดเท่าที่เคยพบมา ด้วยการกลืนมวลสารเท่ากับดวงอาทิตย์ วันละ 1 ดวง

การศึกษาด้านดาราศาสตร์ หลุมดำจะมีแรงโน้มถ่วงสูงมากๆ จนแสงไม่สามารถหลุดออกมาได้ จนทำให้เป็นสิ่งที่ดำมืดที่สุดในจักรวาล แต่การค้นพบวัตถุที่สว่างที่สุดในจักรวาลเป็นหลุมดำมวลมหาศาล ซึ่งแสงสว่างนั้น มาจากการปล่อยแสงและความร้อนออกมามหาศาลของจานสะสมมวลสารที่หมุนอยู่รอบๆ หลุมดำ ที่เรียกว่า “ควอซาร์” ในจักรวาลของเรามีควอซาร์อยู่นับไม่ถ้วน สำหรับควอซาร์ที่ค้นพบว่าสว่างที่สุดนี้คือ ควอซาร์ J059-4351


Christian Wolf รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) นักดาราศาสตร์ผู้เขียนงานวิจัยนี้ และ ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2024 อธิบายลักษณะของควอซาร์นี้ว่า

“เหมือนเซลล์พายุแม่เหล็กขนาดมหึมาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 ปีแสง มีอุณหภูมิ 10,000 องศาเซลเซียส มีฟ้าผ่าทุกหนทุกแห่ง มีลมที่พัดแรงมาก ๆ ขนาดที่สามารถหมุนวนรอบโลกได้ในเสี้ยววินาที”

แม้การค้นพบนี้จะเป็นจุดที่สว่างที่สุดในจักรวาล แต่ด้วยความกว้างใหญ่ของจักรวาล จึงทำให้การค้นพบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในปี 1980 หอดูดาวยุโรปตอนใต้ก็ได้สำรวจอวกาศบริเวณที่ตั้งของควอซาร์นี้เช่นกัน แต่ควอซาร์นี้สว่างจนระบบสำรวจที่วิเคราะห์ในสมัยนั้น ชี้ว่าจุดยี้เป็นดาวฤกษ์ หลังจากได้รับการศึกษาอย่างละเอียดโดยกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.3 เมตรที่หอดูดาว Siding Spring ในประเทศออสเตรเลีย และกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ของหอดูดาวยุโรปตอนใต้ European Southern Observator ในประเทศชิลี จึงทำให้ได้รู้ว่า จุดนี้ไม่ใช่ดาวฤกษ์ แต่เป็นหลุมดำมวลมหาศาลที่ได้กลายเป็น “จุดที่สว่างที่สุดในจักรวาล" นั่นเอง


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : www.nationalpost.com , www.space.com


กำลังโหลดความคิดเห็น