“ดวงจันทร์” เป็นหนึ่งในสถานที่นอกโลกที่ได้รับความสนใจในไปตั้งถิ่นที่อยู่และเพื่อการสำรวจ เนื่องจากเป็นดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลกที่อยู่ไม่ห่างไกลโลก และภูมิประเทศยังไม่ซับซ้อนมาก จึงทำให้สามารถไปถึงได้ง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางไปดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ
แม้จะดูว่าเป็นดวงดาวบริวารที่น่าจะสำรวจได้ง่าย เนื่องจากมีลักษณะส่วนใหญ่เป็นหลุมอุกกาบาต และมีฝุ่นบนพื้นผิวมากมาย แต่ในความเป็นจริงนั้น ดวงจันทร์กลับไม่ได้ง่ายต่อการสำรวจอย่างที่เห็น
ฝุ่นบนดวงจันทร์ที่ปกคลุมพื้นผิวดวงจันทร์นั้น เป็นองค์ประกอบของเรโกลิธบนดวงจันทร์ซึ่งเป็นชั้นของหินและดินที่หลวม ฝุ่นที่ปกคลุมส่วนใหญ่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 20 ไมโครเมตร ซึ่งสามารถเข้าสู่ปอดหรือกระแสเลือดได้ง่ายหากสูดดมหรือกินเข้าไป อนุภาคฝุ่นเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบในทางเดินหายใจและอวัยวะอื่นๆ
อีกหนึ่งสิ่งนอกจากขนาดที่เล็กแล้ว ฝุ่นบนดวงจันทร์ยังมีปฏิกิริยาเคมีที่สูง เนื่องจากการสัมผัสกับแสงอาทิตย์และรังสีต่างๆ ในอวกาศ เพราะดวงจันทร์มีชั้นบรรยากาศที่เบาบางมากๆ จึงทำให้พื้นผิวได้รับรังสีต่างๆ มากมาย มานับหลายล้านปี และหากมีการสัมผัสฝุ่นนี้ ก็จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน สร้างความเสียหายต่อ DNA และการตายของเซลล์
อนุภาคฝุ่นบนดวงจันทร์บางชนิดยังมีโลหะ เช่น เหล็ก ไททาเนียม อะลูมิเนียม ซึ่งสามารถกระตุ้นปฏิกิริยาต่างๆ ในร่ายกาย และเพิ่มความเป็นพิษได้
ฝุ่นเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ที่จะไปสำรวจหรือตั้งถิ่นฐานเท่านั้น มันยังสามารถก่อให้เกิดปัญหาต่อยานอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์หรือขึ้นลงจอดบนดวงจันทร์ได้ด้วยเนื่องจากมันถูกประจุด้วยไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และพลาสมาในสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์ มันสามารถเกาะติดกับพื้นผิวเกือบทุกชนิดที่มันสัมผัสได้ ซึ่งอาจจะรบกวนการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนยานอวกาศ
เมื่อยานอวกาศขึ้นหรือลงบนดวงจันทร์มากขึ้น พวกมันก็จะดูดฝุ่นเข้าสู่ยานมากขึ้น ฝุ่นนี้นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า Ejecta จะถูกขับออกจากชั้นบรรยากาศบนดวงจันทร์และเดินทางด้วยความเร็วสูงรอบดวงจันทร์ สิ่งนี้สามารถสร้างก้อนเมฆของเศษซากที่สามารถพ่นบนยานอวกาศที่โคจรรอบมันได้ด้วย
ฝุ่นบนดวงจันทร์จึงเป็นสารที่น่าสนใจแต่อันตรายมาก ที่มนุษย์เราต้องศึกษาเป็นอย่างดี เพื่อการไปตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ได้อย่างราบรื่น เรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายที่นักสำรวจจะต้องเผชิญขณะไปสำรวจดวงจันทร์ ดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลกเรา
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : สมาคมดาราศาสตร์ไทย / wikipedia.org