xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ฯ บริการ เดินหน้าเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการ เพิ่มขีดความสามารถอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ฯ บริการ เดินหน้าเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการ สร้างมาตรฐานประเทศเทียบเท่าสากลด้วยการประกันคุณภาพ พร้อมขยายเครือข่ายในมหาวิทยาลัยให้ผู้ประกอบการในทุกภูมิภาคมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านวิทยาศาสตร์ได้สะดวกขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า จากนโยบาย “นางสาวศุภมาส อิศรภักดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นการนำเอาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาพัฒนาประเทศ และที่สำคัญคือการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งในสภาวะการแข่งขันทางการค้า ผลการวัดจากห้องปฏิบัติการถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะสามารถใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจทั้งในกระบวนการผลิตและการค้า ดังนั้นห้องปฏิบัติการจึงต้องทำให้ผลการวิเคราะห์ทดสอบมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและสามารถเปรียบเทียบผลกับหน่วยงานอื่นได้

“ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการ ที่เป็นเป้าหมายของประเทศในการพัฒนาให้ได้มาตรฐานกว่า 20,000 แห่ง ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้เพียง 2,000 แห่ง ดังนั้นกรมวิทย์ฯ บริการ จึงมุ่งสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการของประเทศแบบก้าวกระโดด ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ที่ถือเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพและความสามารถของหน่วยงานด้านห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังเดินหน้าในการรับรองมาตรฐานของประเทศ หรือ “DSS Recognize” ซึ่งเป็นการรับรองห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพียงแต่ปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายกระทรวง อว.ในการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วมในแต่ละภูมิภาค เพื่อขยายบริการห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานไปทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเข้าถึงบริการด้านวิทยาศาสตร์อีกด้วย”

นางเยาวลักษณ์ ชินชูศักดิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
ล่าสุด กรมวิทย์ฯ บริการ โดยกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการของประเทศอย่างยั่งยืน จึงจัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “ความสำคัญการส่งเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการของประเทศอย่างยั่งยืน” ขึ้น เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ภายในงาน “อว.แฟร์ หรือมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ” ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการจากภาครัฐและเอกชน ให้ความสนใจเข้าร่วมการสัมมนา ฯ กว่า 250 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการประกันคุณภาพ ด้วยการควบคุมภายในและภายนอก และนำประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญ นำไปสร้างความสอบกลับได้ของการวัด การประเมินความไม่แน่นอนของการวัดและตรวจสอบความใช้ได้ของการวัด


นางเยาวลักษณ์ ชินชูศักดิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กองฯ มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและดำเนินการให้บริการด้านการทดสอบความชำนาญหรือการเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการ การพัฒนาตัวอย่างควบคุมและวัสดุอ้างอิง เพื่อให้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สามารถดำเนินการตรวจสอบ ทวนสอบ สร้างความมั่นใจ และความเชื่อมั่นในความใช้ได้ของผลการทดสอบและสอบเทียบ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศและทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

กองฯ จึงมุ่งพัฒนาและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางวิชาการ ด้านการประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการ ซึ่งมุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมคุณภาพภายนอกด้วยการเข้าร่วมทดสอบความชำนาญ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อห้องปฏิบัติการ เนื่องจากกระบวนการนี้ถือเป็นห่วงโซ่สำคัญที่จะใช้บ่งชี้และพัฒนาคุณภาพของห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ผลการทดสอบมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และยกระดับศักยภาพบริการทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศได้อีกด้วย


“กรมวิทย์ฯ บริการอยู่ระหว่างการส่งเสริมห้องปฏิบัติการของประเทศไม่ว่าจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการ ภาคการศึกษาและในหน่วยวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีการพัฒนาคุณภาพที่ดีตามมาตรฐานสากล และกำลังสร้างเครือข่ายในภูมิภาค เพื่อกระจายบริการทางวิทยาศาสตร์ไปให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้สะดวกขึ้น โดยเบื้องต้นจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นพันธมิตรในเครือข่ายกระทรวง อว.ก่อน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมศักยภาพของห้องปฎิบัติการอื่น ๆ ของประเทศให้มีความเข้มแข็งด้วยการประกันคุณภาพ ซึ่งต้องมีการเปรียบเทียบผล การทดสอบผลของห้องปฏิบัติการเพื่อให้เกิดความมั่นใจในผลการทดสอบ และสามารถที่จะนำผลการทดสอบนี้ไปยืนยันได้ว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นผลการทดสอบที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้หากได้การรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เวลาซื้อขายแลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจ หรือการสินค้าส่งออกก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้มากที่สุด”






กำลังโหลดความคิดเห็น