xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์เตรียมตรวจคัดกรอง "มะเร็งปากมดลูก" สาวไทย 1 ล้านคน เริ่ม ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ฯ ตั้งเป้าตรวจหญิงไทย 30-60 ปี 1 ล้านคน คัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Test เริ่ม ธ.ค. นี้ ทั่วประเทศ ช่วยรู้ผลเร็ว แม่นยำ ลดอุบัติการณ์ป่วยและเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยายาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมฯ สนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจร โดยจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง ด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์เสี่ยงสูง ให้กับสตรีไทย อายุ 30-60 ปี ทั้งนี้ จากข้อมูลภาพรวมของประเทศสตรีไทยที่จะต้องตรวจคัดกรองภายใน 5 ปี (2564-2568) จำนวน 15,677,638 คน โดยปี 2565 มีเป้าหมาย 3,135,528 คน แต่ได้รับการตรวจคัดกรอง 613,254 คน คิดเป็นร้อยละ 19.6 เป็นงานที่ต้องเร่งรัด (Quick win) เนื่องจากพบว่ายังมีสตรีไทยไม่ได้ตรวจจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน                      

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 สปสช. ได้เห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจด้วยวิธี HPV DNA Test ให้กับสตรีไทย อายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิทั่วประเทศฟรี จากเดิมที่เคยใช้วิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) หรือ VIA โดยการตรวจวิธี HPV DNA Test เป็นการตรวจในระดับโมเลกุลที่มีความถูกต้อง แม่นยำและมีความไวที่สูงกว่าการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ หรือมากกว่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก อาทิ สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ที่พบเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% กรณีตรวจไม่พบเชื้อไวรัส HPV สามารถเว้นการตรวจซ้ำได้ถึง 5 ปี ให้ความแม่นยำในการตรวจเจอการติดเชื้อสูง สามารถตรวจค้นหาผู้ป่วยได้ในระยะก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา ป้องกันได้ก่อนที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก


"การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพ ทำให้พบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้น เข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนลุกลาม ช่วยลดอุบัติการณ์โรค และเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ นอกจากนี้ วิธี HPV DNA Test สามารถใช้ตรวจตัวอย่างที่สตรีไทยเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่งให้แพทย์ตรวจ ลดความเขินอาย เลี่ยงความไม่สะดวกเข้าหน่วยบริการ" นพ.ยงยศกล่าว

นพ.ยงยศกล่าวว่า ในปี 2566 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ได้พัฒนารูปแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) ในจ.ชัยนาท เป็นพื้นที่นำร่อง เน้นการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด มีการพัฒนาอบรมให้ความรู้ อสม. ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการให้ความรู้สตรีในชุมชน เคาะประตูบ้าน กระตุ้นให้สตรีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการตรวจคัดกรอง และช่วยในการติดตามให้ผู้ที่พบผลเสี่ยงสูงได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้ชัยนาทมีอัตราการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ นำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ


“ขณะนี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทย์ 15 แห่งได้อบรมบุคลากร เชิงเทคนิคและควบคุมคุณภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพ อสม.นักวิทย์ ปัจจุบันมี 21,889 คน ทุกตำบลทั่วประเทศ ให้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก การป้องกันรักษา เพื่อถ่ายทอดสตรีกลุ่มเป้าหมาย จะเริ่มเก็บตัวอย่างตั้งแต่ ธ.ค.นี้ พร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 13 เขตสุขภาพ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้สตรีไทยได้รับการตรวจคัดกรอง จำนวน 1 ล้านตัวอย่าง ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยให้สตรีไทยเข้าถึงบริการ ได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังจะได้ข้อมูล Big Data ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ก้าวสู่การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)” นพ.ยงยศ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น