วงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์คาดการณ์ว่า ทุกปีโลกจะมีคอมพิวเตอร์เพิ่มประมาณ 300 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือเพิ่ม 1,000 ล้านเครื่อง นอกจากนั้นก็มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อีก เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น พัดลม เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ที่ต่างก็มีเพิ่มทุกปี ครั้นเมื่ออุปกรณ์เหล่านี้หมดสภาพ หรือเสีย หรือทำงานบกพร่อง วัสดุทั้งหมดก็จะถูกกำจัดโดยการทิ้งลงถังขยะ เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ขยะอี (e-waste) ที่นับวันจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
เช่นในปี 2011 องค์การสภาพแวดล้อมของสหประชาชาติได้รายงานว่า โลกมีขยะอี 35.8 ล้านตัน ปี 2015 ปริมาณขยะอีได้เพิ่มเป็น 46.4 ล้านตัน ถึงปี 2019 โลกมีขยะอี 53.6 ล้านตัน และในปี 2023 ปริมาณขยะอี ได้เพิ่มเป็น 61.3 ล้านตันแล้ว ตัวเลขล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยประชากรโลกแต่ละคนสร้างขยะอี ได้ในปริมาณ 8 กิโลกรัม
สถิติการสำรวจล่าสุดยังแสดงให้เห็นอีกว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ผลิตขยะอีมากที่สุด คือ 7.1 ล้านตัน และจีนมาเป็นอันดับสองที่ 6.0 ล้านตัน ปริมาณขยะอีที่มากเช่นนี้ ชี้นำว่าในทุกวินาที จะมีคนทิ้งเครื่องคอมพ์ 800 เครื่อง ลงถังขยะ
ในความเป็นจริงสิ่งที่เราเรียกว่าขยะอีนั้น มีอะไรๆ หลายอย่างที่เป็นโทษมากกว่าขยะปกติทั่วไป ซึ่งมีแต่จะสร้างความสกปรก รกรุงรัง เพราะขยะอีเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีชิ้นส่วน ซึ่งทำด้วยแร่ธาตุ และสารประกอบต่างๆ มากมาย ที่เป็นพิษต่อสุขภาพ ถ้าขยะอีนั้นถูกกำจัดโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม สารพิษก็จะหวนกลับมาทำลายสุขภาพของคนและสภาพแวดล้อมของชุมชนในที่สุด
เพราะเวลานักวิทยาศาสตร์ใช้อุปกรณ์ X-ray spectrometer, gas chromatography และ mass spectrometer วิเคราะห์ขยะ ก็มักจะพบแร่พิษหลายชนิด เช่น ตะกั่ว ซึ่งเวลาขยะอีถูกเผา ตะกั่วที่มีอยู่ในชิ้นส่วนของอุปกรณ์จะระเหิดกลายเป็นไอ ให้ผู้คนสูดหายใจเข้าปอด และถ้าร่างกายได้เก็บสะสมฝุ่นตะกั่วในปริมาณมาก ระบบหายใจและระบบขับถ่ายจะทำงานบกพร่อง นอกจากนี้การวิเคราะห์ในบางครั้งก็อาจจะพบ chromium ในสารประกอบ hexavalent chromium (CrVI) ที่สามารถทำให้ระบบหายใจของร่างกายมีอาการระคายเคืองในจมูก คอ ปอด และถ้าร่างกายมี chromium สะสมในปริมาณมาก กระเพาะก็อาจจะเป็นแผล (ulcer)
บางคอมพิวเตอร์อาจจะมีธาตุ cadmium ที่เป็นพิษ เพราะสามารถทำอันตรายปอด ไต และทำให้ร่างกายเป็นโรคกระดูกอ่อน หรือมีธาตุ selenium ที่ถ้าสูดหายใจเข้าร่างกาย อาจทำให้เป็นโรค Parkinson, Alzheimer และ Multiple sclerosis ที่ทำให้ร่างกายมีอาการสั่นกระตุกอย่างรุนแรง นอกจากนี้ในขยะอีก็อาจจะมี bromine ที่มักพบในรูปของสารประกอบ decabromodiphenyl ether (หรือ decaBDE) ที่บริษัทคอมพิวเตอร์มักใช้ในการทำอุปกรณ์ เพราะสารนี้มีคุณสมบัติต่อต้านการลุกไหม้ได้ดี คือ ทำให้ติดไฟได้ยาก และธาตุสุดท้ายที่น่ากลัวก็คือปรอท ซึ่งถ้าร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้ตาและผิวหนังมีอาการระคายเคือง นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด และหายใจลำบาก เป็นต้น
สถิติการทิ้งขยะอี ยังระบุอีกว่า 70% ของขยะทั้งหมดเป็นขยะพิษ และ 12.5% ของขยะ มีธาตุที่สามารถนำกลับมาใช้ (recycle) ได้อีก โดย 80% ของขยะทั้งหมดมีต้นกำเนิดจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และขยะนี้มักจะถูกลำเลียงส่งไปกำจัดที่ประเทศด้อยพัฒนา เช่น ประเทศในเอเชียและแอฟริกา เพราะเป็นดินแดนที่มีกฎหมายขยะอีค่อนข้างหละหลวม อีกทั้งไม่มีระบบการควบคุมการกำจัดอย่างเข้มงวดและเหมาะสม นอกจากนี้กฎหมายการทำลายขยะอีก็มีช่องโหว่ให้นักฉวยโอกาส เวลาทำผิดสามารถหลบเลี่ยงการจับกุมได้ง่ายด้วย
ก่อนปี 2012 ประมาณ 70% ของขยะที่มีในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปได้ถูกส่งไปที่จีน และ 30% ที่เหลือถูกส่งไปกำจัดที่ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาตะวันออก เช่น ที่ Nigeria กับในเอเชียตะวันออก เพื่อให้คนยากจนหาเลี้ยงชีพ ด้วยการแยกชิ้นส่วนที่มีโลหะมีค่า เช่น เงิน ทองคำ และ platinum มาแปรสภาพให้บริสุทธิ์ เพื่อนำไปขายหรือนำกลับไปใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีก โดยคนงานเหล่านี้จะได้ค่าจ้างในการแยกเศษโลหะ วันละ 50 บาท และต้องทำงานโดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกันใด ๆ เช่น ไม่มีหน้ากากป้องกันฝุ่นหรือไอพิษที่เกิดจากการเผาขยะ และต้องใช้มือเปล่าในการแยกขยะที่มีสารพิษ ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคผิวหนังได้ และกรณีที่ร้ายที่สุดก็คือการใช้แรงงานเด็กยากจน ดังนั้นเวลามีการตรวจเลือดเด็กเก็บขยะที่เมือง Guiyu ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่มีขยะอีมากที่สุดในจีน ก็ได้พบว่าเลือดของเด็กที่นั่น มีความเข้มข้นของโลหะพิษมากเป็น 3 เท่าของปริมาณปลอดภัยที่ศูนย์ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ของอเมริกาได้กำหนดไว้
ผลการสำรวจสถานะทางสุขภาพของสิ่งแวดล้อมยังแสดงให้เห็นอีกว่าไม่เพียงแต่คนเท่านั้นที่ได้รับสารพิษหรือไอพิษ แม้แต่นกบนฟ้า และปลาในน้ำ ก็ได้รับสารพิษ polybrominated diphenyl ether เช่นกัน
หลังจากที่ได้มีการพบว่าประเทศจีนของตนได้เป็นถังขยะของประเทศตะวันตกมาเป็นเวลานานหลายสิบปี จนความเสียหายได้เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้นตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา รัฐบาลจีน จึงได้ออกกฎหมายห้ามนำขยะอีจากต่างชาติเข้าประเทศ อีกทั้งยังได้กำหนดให้มีนโยบายลดปริมาณขยะ และหาวิธีที่สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ภายใต้โครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่บังคับให้ใครก็ตามที่ผลิตขยะจะต้องมีบทบาทรับผิดชอบขยะที่ตนสร้างบ้าง นอกจากนี้รัฐบาลจีนก็ยังสนับสนุนให้โรงงานหนึ่งนำขยะอีที่โรงงานหนึ่งสร้างไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และให้การทำงานแปรรูปขยะทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างสะอาด คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน การที่จีนได้ยึดมั่นอุดมการณ์นี้เป็นหลักในการกำจัดขยะ เพราะจีนเป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์อีได้มากที่สุดในโลก ดังนั้นในเวลาเดียวกันจีนก็เป็นประเทศที่มีขยะอีมากที่สุดในโลก และผลที่ตามมาก็คือ ประเทศจีนมีความก้าวหน้าในการกำจัดและลดปริมาณขยะอีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกด้วย
โดยจีนได้เสนอให้ใช้วัสดุอื่นแทนวัสดุพิษในการผลิต เช่น ห้ามไม่ให้ใช้ polyvinyl chloride (PVC) ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีสารพิษ chlorine และเป็นที่นิยมใช้ในการหุ้มลวดไฟฟ้า เพราะเป็นฉนวน และเวลากำจัด PVC โดยการเผาจะทำให้เกิดสาร dioxin ที่มีปัญหาด้านมลพิษ จีนจึงเสนอให้ใช้พลาสติกที่มี alkene เป็นองค์ประกอบแทน คือ ให้ใช้ polyethylene เป็นต้น
สำหรับเทคโนโลยีการบัดกรีที่นิยมใช้ตะกั่วมากถึง 50% นั้นก็อาจใช้ดีบุก เงิน ทองแดง บิสมัท หรือสังกะสีแทน เพราะสารที่ใช้แทนมีพิษน้อยกว่าตะกั่ว หรือเวลาต้องการให้ปฏิกิริยาสันดาปดำเนินช้าลง ซึ่งตามปกตินักเคมีมักจะใช้สาร BFR (brominated flame retardant) แต่ถ้าสตรีใช้สารนี้ในปริมาณมากและนาน น้ำนมของคนที่เป็นมารดาก็อาจจะมีสารนี้ปนอยู่ด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้สมองของทารกเกิดใหม่ เวลาดื่มนมอาจจะได้รับความกระทบกระเทือน ทางจีนจึงได้เสนอให้ใช้สาร silicone ที่ไม่เป็นพิษแทนสาร hexabromocyclododecane (HBDC)
ส่วนสารประกอบ hexavalent chromium ที่ใช้ยับยั้งการสึกกร่อนนั้น ถ้าใช้มาก chromium ที่มีอยู่ก็อาจจะทำให้คนเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นก็อาจจะใช้สารเจือนิกเกิล-เหล็ก-โคบอลท์ (Ni-Fe-Co) แทน
โครงการ Blue Sky ที่จีนประกาศใช้ในปี 2018 ได้จำกัดการนำเข้าขยะที่มีสารพิษสูงกว่า 0.5% ว่า ขยะจะต้องได้รับการทำความสะอาด ณ สถานผลิตก่อนที่จีนจะนำขยะนั้นมาผลิตเป็นสินค้าหมุนเวียน การมีกฎหมายฉบับนี้ จึงมีผลกระทบต่อปริมาณของขยะกระดาษ และขยะพลาสติกที่ออสเตรเลียมักส่งไปจีน กฎหมายฉบับนี้ยังได้ทำให้หลายประเทศนำวัสดุขยะ เช่น กระดาษและพลาสติกมาเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติตนเอง แทนที่จะส่งออกไปเป็นภาระให้ชาติอื่นต้องทำความสะอาดขยะที่ตนผลิต
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลออสเตรเลียที่ผลิตขยะพลาสติก ขยะกระดาษ และขยะกระป๋องอลูมิเนียมมากถึงปีละ 5.5 ล้านตัน จึงได้ลดปริมาณการส่งขยะไปจีนเหลือเพียง 1 ล้านตัน ด้านชาติอื่น ๆ เช่น อเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ก็จำเป็นต้องหาแหล่งทิ้งขยะแหล่งใหม่ และต้องหาวิธีแปรสภาพของขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์สะอาดใหม่ๆ ด้วย
ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่เกิดจากการลดการนำขยะเข้าประเทศจีนก็คือ ราคาของวัสดุดิบ เช่น พลาสติก และกระดาษ ได้เพิ่มขึ้น เพราะจีนมีวัสดุดิบเหล่านี้น้อยลง จากสถิติปี 2018 ที่จีนนำขยะประเภทนี้เข้าประเทศ 40 ล้านตัน ปริมาณได้ลดลงเหลือเพียง 5.44 ล้านตันเท่านั้นเอง
เมื่อจีนหยุดรับขยะจากบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว อารยะประเทศเหล่านี้ก็ได้เบนเส้นทางการขนขยะไปกำจัดโดยส่งไปที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย แต่ไม่มีใครแน่ใจว่า บรรดาประเทศที่นำขยะเข้านั้น จะสามารถจัดการกับขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพดีเพียงใด เพราะประเทศเหล่านี้อยู่ใกล้จีน และเวลาเรือสินค้าจากจีนส่งสินค้าไปต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ขากลับเรือจะขนขยะนำไปปล่อยทิ้งตามประเทศต่าง ๆ กลางทาง ด้วยเหตุนี้มาเลเซียและเวียดนามจึงเป็นแหล่งทิ้งขยะแหล่งใหม่แทนจีน ด้านไทยกับอินโดนีเซียก็ได้รับผลกระทบจากการห้ามนำเข้าขยะจากจีน เพราะมีปัญหาที่เกิดจากการกำจัดขยะ โดยในบางครั้งได้มีการนำขยะไปฝังดิน หรือปล่อยลงน้ำ ซึ่งจะมีผลทำให้ดินและน้ำมีมลพิษ และเป็นภัยต่อสัตว์น้ำ
องค์การ Greenpeace East Asia และ Bureau of International Recycling ได้เตือนประเทศทุกประเทศให้ตระหนักในภัยอันตรายนี้ว่า ประเทศผู้ผลิตขยะมักจะไม่สนใจมากว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับขยะที่ตนสร้าง ดังนั้นประเทศที่รับขยะไปจะต้องรู้เท่าทัน และต้องหาวิธีแก้ปัญหาเอง การเห็นแก่ตัวของชาติใด ๆ ที่มุ่งผลิตสินค้าและสร้างขยะไปในเวลาเดียวกัน โดยการเอาขยะไปทิ้งในประเทศอื่นให้เขาจัดการนั้น นับเป็นเรื่องที่ทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นไปได้ยาก
ในอินเดียก็กำลังสร้างวัฒนธรรมการหมุนเวียนการใช้ขยะเช่นกัน โดยมีคนที่เกี่ยวข้องหลายรูปแบบ เช่น คนเก็บขยะ คนรับซื้อขยะ และคนจัดการขยะ ซึ่งมีขยะที่ต้องจัดการมากถึงวันละ 100,000 ตัน แต่อินเดียไม่มีกลไกหรืออุปกรณ์ที่จะจัดการกับขยะอี หรือขยะโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากเท่าจีน ดังนั้นประเทศจึงตกอยู่ในภาวะที่กำลังแพ้สงครามขยะ
โดยทั่วไปคนเก็บขยะในอินเดียมักจะเก็บขยะที่ทิ้งตามบ้าน ตามโรงงาน ตามตลาด แล้วนำมารวมกันที่ศูนย์ขยะเพื่อคัดแยกนำบางส่วนไปใช้อีก และบางส่วนเพื่อสร้างพลังงาน แต่ปรากฏว่า ขยะมักไม่ได้รับการคัดแยก ดังนั้นประมาณ 90% ของขยะ จึงถูกนำไปฝังดิน ส่วนคนที่หาเลี้ยงชีพโดยการเก็บของมีค่าจากกองขยะ ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยใด ๆ ดังนั้นคนเหล่านี้ จึงมีโอกาสที่จะได้รับภัยอันตรายจากกองขยะขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น เมือง Mumbai (เดิม Bombay), Delhi และ Kolkata ที่มักมีอาหารเน่า ปฏิกูล และวัสดุเสีย ๆ ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นำโรค เช่น แมลงวัน และหนู ฯลฯ นอกจากนี้กองขยะก็อาจจะเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดไฟไหม้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งปล่อยไอเสียและแก๊สพิษ และทำให้เกิดปรากฏการณ์ภูเขาขยะถล่ม (landslide) ก็ได้ด้วย
เมื่อครั้งที่เกิดการระบาดของกาฬโรคที่เมือง Surat ในอินเดีย เมื่อปี 1994 เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดจากการบริหารจัดการขยะที่ผิดพลาด ส่วนที่เมือง Moradabad ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประดิษฐ์งานทองเหลือง มีคนงานที่นั่นได้หายใจฝุ่นโลหะและไอสารเคมีเข้าปอดจนเป็นอันตรายหลายคน นอกจากนี้โรงงานที่นั่นก็ยังได้ทิ้งปฏิกูล และเศษโลหะ เช่น ปรอทกับ arsenic ลงแม่น้ำจนทำให้แม่น้ำมีแต่ของเน่าเสีย และผู้คนได้ล้มป่วยมากมาย จนเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก
ณ วันนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 560 ล้านคน และประชากรที่ยากจนจำนวนมาก ไม่มีสถานบำบัดทุกข์ (ส้วม) อันเป็นขยะร่างกาย ดังนั้นในปี 2014 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Narindra Modi จึงตั้งโครงการสร้างส้วม 120 ล้านหลังทั่วประเทศ ภายในปี 2019 อันเป็นวาระครบรอบ 150 ปี แห่งชาตกาลของ Mahatma Gandhi และสามารถทำได้สำเร็จภายในกำหนด
แม้อินเดียจะเป็นชาติที่ประหยัด แต่ก็เป็นประเทศที่ผู้คนกำลังเลื่อมใสในวัตถุนิยมมากขึ้นตลอดเวลา จึงกำลังมีโรงงานเกษตรกรรม โรงงานถลุงแร่ และผู้คนกำลังเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้วัสดุธรรมชาติไปเป็นวัสดุประดิษฐ์ (พลาสติก) มากขึ้น เช่น จากที่เคยใช้กิ่งต้นสะเดา (Azadirachta indica) แทนแปรงสีฟัน ชาวบ้านที่ยากจนก็ได้หันมาใช้แปรงพลาสติกแทน ซึ่งวัสดุประเภทนี้จะไม่มีวันสลายไปจากโลก
เมือง Alang ในอินเดีย เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในโลกที่มีอุตสาหกรรมแยกชิ้นส่วนของเรือที่ปลดระวางออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำขยะเหล็กออกขายเพื่อเอากำไร นอกจากนี้อินเดียยังเป็นผู้นำของโลกในการส่งขยะ (เส้นผม) เป็นสินค้าออกด้วย จนสามารถทำเงินเข้าประเทศได้ปีละ 12,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะผู้หญิงอินเดียมักใช้วิธีตัดเส้นผมที่ยาวสลวยเพื่อแสดงความศรัทธาในศาสนา แล้วส่งเส้นผมขยะไปที่จีน เพื่อใช้ทำผมปลอมขาย
ในอินเดียยังมีบริษัทจัดการเรื่องขยะโดยเฉพาะ เช่น บริษัท Ramky Group ซึ่งเชี่ยวชาญการนำขยะเสียมาปรับใช้อีก โดยการกำจัดพิษที่มีในขยะตามโรงพยาบาลจำนวนกว่า 169,000 แห่ง ให้หมดสิ้นก่อนด้วย
โครงการจัดการขยะทุกรูปแบบในทุกประเทศจะยั่งยืนได้ควรเป็นโครงการที่มีกิจกรรม ซึ่งทำให้องค์การได้กำไรบ้าง มีระบบการทำงานที่ดี และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขยะเป็นที่ต้องการของสังคม จีนมีโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว แต่อินเดียก็กำลังติดตามจีน โดยได้ระดมบุคลากรทุกสาขาอาชีพ เช่น คนเก็บขยะ นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจที่มีจริยธรรม รวมถึงการมีนักการเมืองที่สนใจปัญหาขยะด้วย
อ่านเพิ่มเติมจาก “”Waste of a Nation: Garbage and Growth in India” โดย Assa Doron, Robin Jeffrey จัดพิมพ์โดย Harvard University Press ปี 2018
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์