Clip Cr.Greenpeace
UK
ความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมาย การเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ส่วนหนึ่งคือ แก้ไขพฤติกรรมการทิ้งขยะที่เป็นพลาสติก ซึ่งเป็นไปไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากตัวผู้บริโภคที่เป็นปลายทางของการบริหารจัดการขยะพลาสติก
เมื่อเร็วๆ นี้ BBC NEWS รายงานว่าในสหราชอาณาจักร ผู้คนชาวอังกฤษจำนวนมากได้ถูกกำหนดให้ทำการบันทึกบรรจุภัณฑ์ที่พวกเขาทิ้งในแต่ละวัน เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะนำไปสู่การสร้างภาพรวมในระดับวาระแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก ภายใต้โครงการต้นแบบ Big Plastic Count ที่คัดเลือกจากอาสาสมัครจำนวน 140,000 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Everyday Plastic และ Greenpeace UK
ตามโครงการนี้ ผู้เข้าร่วมงาน Big Plastic Count จะได้รับเอกสารการบันทึกที่เป็นชุดอธิบายวิธีการนับพลาสติกที่พวกเขาใช้ โดยแบ่งออกเป็น 19 หมวดหมู่ จากนั้นพวกเขาจะนับขยะพลาสติกแต่ละประเภทก่อนที่จะทิ้งลงในถังขยะเพื่อนำไปจัดการต่อ เช่น การนำกลับไปรีไซเคิล ผลจากข้อมูลที่มีการบันทึกดังกล่าวจะถูกวิเคราะห์โดย Everyday Plastic และ Greenpeace เพื่อสร้างภาพขยะพลาสติกระดับประเทศของอังกฤษทั้งหมด
นอกจากนั้นข้อมูลดังกล่าวยังมีการสอบย้อนกลับไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกที่มีการขายสินค้ามาถึงมือครัวเรือนหรือผู้บริโภค เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า การที่ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ต ยังไม่ได้เอาจริงจังหรือมุ่งมั่นที่จะถอดบรรจุภัณฑ์ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งออกไปจากการขายของตน ได้ก่อให้เกิดการสร้างปัญหาของขยะพลาสติกมากน้อยเพียงใดกับทุกเมืองทั่วประเทศ
ข้อมูลที่ได้จากการบันทึกบรรจุภัณฑ์ที่ผู้บริโภคทิ้งเป็นประจำ ถือว่ามีส่วนช่วยให้ข้อมูลที่เติมเต็ม พร้อมช่วยให้คำอธิบายเกี่ยวกับช่องว่างที่สำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เพื่อจะแสดงให้ทั้งรัฐบาลและบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องมีการจัดการในเชิงรุกและจริงจังมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก
ตามความเห็นของกรีนพีซพบว่าชาวอังกฤษ ในสหราชอาณาจักรนั้นมีการผลิตขยะพลาสติกต่อคน มากกว่าประเทศอื่นๆหลายประเทศ ยกเว้นสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นสหราชอาณาจักรยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกขยะพลาสติกเป็นจำนวนมากไปอย่างต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าช่วงที่ผ่านมา สหราชอาณาจักร เป็นอีกหนึ่งประเทศในลำดับต้นๆ ของโลกที่ก่อมลภาวะของพลาสติก
การที่สหราชอาณาจักรออกมาให้ความสำคัญและทำการรณรงค์ โครงการต้นแบบ Big Plastic Count ต้องการจะบอกผู้คนของเขาว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับขยะพลาสติกของพวกเขา หลังจากที่คนทุกคนซึ่งเป็นผู้บริโภคได้ทิ้งลงไปในถังขยะ หรือตามพื้นดิน
ส่วนหนึ่งของปัญหาในกรณีอังกฤษมาจากการที่ระบบรีไซเคิลไม่ได้ผล และประเทศเลือกที่จะใช้การส่งออกขยะพลาสติกไปยังต่างประเทศ ซึ่งทำให้ผู้คนมองไม่เห็นถึงสภาพของปัญหาอย่างแท้จริง และเป็นการผลักภาระในเรื่องของขยะพลาสติกไปยังประเทศอื่น เช่น การส่งออกไปยังตุรกี โดยผู้ที่เป็นผู้สร้างมลภาวะดังกล่าวไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ การที่สหราชอาณาจักรยกโครงการ The Big Plastic Count ขึ้นมาดำเนินการซึ่งอาจจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนและกดดันให้รัฐบาลจะต้องมีการดำเนินการและจัดการกับวิกฤตขยะพลาสติกอย่างแท้จริงในระยะยาว ซึ่งตามกรอบของ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ถือว่าเป็นการทดสอบครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเกี่ยวกับขยะพลาสติกในสหราชอาณาจักร การที่มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก พร้อมกับสะท้อนให้เห็นด้วยว่าชาวอังกฤษเองก็มีความวิตกกังวลต่อปัญหาขยะพลาสติกของตนเอง
ทั้งนี้ Greenpeace UK และ Everyday Plastic ได้ระบุว่าผลการสำรวจที่เกิดขึ้นตามโครงการนี้จะถูกเปิดเผยทันทีที่ได้รับการประมวลผลเสร็จสิ้น โดยนักรณรงค์หวังว่า ข้อมูลที่ได้จากผลการบันทึกและสำรวจข้อมูลครั้งนี้จะสามารถผลักดันรัฐบาลนำไปสู่มาตรการที่ทำให้เกิดการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งลง 50% ภายในปี 2025 รวมถึงการออกมาตรการที่ห้ามส่งออกขยะพลาสติกทั้งหมด และดำเนินการตามโครงการคืนเงินฝาก (DRS) สำหรับการรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่ในที่สุด