xs
xsm
sm
md
lg

"จัตุรัสกล" ที่พหูสูตชื่อ Benjamin Franklin สนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



eนักคณิตศาสตร์จีนและอินเดียในสมัยโบราณ ตลอดจนถึงนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหลายคนในปัจจุบัน ต่างก็ได้เคยสนใจศึกษา จัตุรัสกล (magic square) ซึ่งเป็นตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีขนาด n x n เมื่อ n เป็นจำนวนเต็มบวก และเลขจำนวนเต็มบวกทั้งหมด n ^2 จำนวน อยู่ในช่องเล็ก ๆ โดยที่เลขในแต่ละช่องเหล่านั้นไม่ซ้ำกัน โดยให้ผลรวมทั้งในแนวดิ่ง แนวนอน และแนวทแยงมุมเท่ากันหมด คือ มีค่าที่เรียกว่าค่าคงตัวกล (magic constant) = n/2 (n ^2+1) และ n คือ เลขแสดงลำดับของตาราง


การศึกษาเรื่องนี้ในเวลาต่อมาได้รับการพัฒนาต่อยอดไปสู่ทฤษฎีกลุ่ม (group theory), lattices, Latin squares, determinants, partitions, matrices, congruences arithmetic ตลอดจนถึง magic cubes, magic hexagons, magic octagons และ magic circles


ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในยุคของกษัตริย์ Ta-Yu เมื่อประมาณ 2,300 ปีก่อน มีวันหนึ่งที่พระองค์ได้เสด็จไปประพาสแม่น้ำ Lo และมีเต่าตัวหนึ่งโผล่ตัวขึ้นกลางแม่น้ำ โดยที่บนกระดองซึ่งเป็นหลังเต่าตัวนั้นมีตารางเป็นตัวเลขจำนวนเต็มตั้งแต่ 1,2,…9 อยู่ในตารางช่องเล็ก ๆ ของตารางใหญ่ ชาวจีนเรียกตารางนั้นว่า ตาราง Lo Shu (ซึ่งแปลว่า ภาษาแห่งแม่น้ำ Lo) ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวจีนจึงนิยมนำภาพของตารางนี้ไปติดที่ผนังบ้าน เพื่อไม่ให้ภูตผีปีศาจมาเบียดเบียนและรบกวนเจ้าของบ้าน


ในการแปลความหมายของจัตุรัสตามความเชื่อของคนจีนโบราณ ซึ่งเชื่อว่าว่าเลขคู่ 2, 4, 6, 8 แทนเพศหญิง (yin) และเลขคี่ 1, 3, 5, 7, 9 แทนเพศชาย (yang)
เลข 5 ที่อยู่ตรงกลางจัตุรัสแทนโลก จึงถูกล้อมรอบโดยมนุษย์ทั้งชายและหญิง
เลข 4 กับ 9 แทนโลหะ เลข 2 กับ 7 แทนไฟ
เลข 1 กับ 6 แทนน้ำ และเลข 3 กับ 8 แทนลม เมื่อรวมกับโลก จึงได้เอกภพ
ส่วนผลรวมของเลขทั้งหมดในแนวดิ่ง คือ 8+3+4 = 1+5+9 = 6+7+2 = 15
ผลรวมของเลขในแนวนอน คือ 8+1+6 = 3+5+7 = 4+9+2 = 15
และ ผลรวมของเลขในแนวทแยงมุม คือ 8+5+2 = 4+5+6 = 15
ทั้งหมดนี้มีเลข 5 เป็นเลขกลาง (central number)
ความน่าสนใจของจัตุรัสกลในวิชาคณิตศาสตร์ คือ การได้ชี้นำให้นักคณิตศาสตร์กรีกเห็น บรรดาเลขที่อยู่ในแนวดิ่งและแนวนอนที่ลากผ่านศูนย์กลางของตาราง (คือเลข 5) ซึ่งได้แก่ 1, 5, 9 และ 3, 5, 7 นั้นว่ามีลักษณะเหมือนไม้กางเขน ดังนั้นจึงนำภาพของตารางนี้ไปปักลงบนชุดของนักรบ เพื่อความเป็นสิริมงคล
จัตุรัสกล Lo Shu มีเลขลำดับเท่ากับ 3 เพราะมีขนาด 3 x 3 = 9 ช่อง และมีค่าคงตัวกล = 15
สามัญสำนึกคงทำให้เราสันนิษฐานได้ว่า จัตุรัสกลคงมีหลายขนาด (หลายลำดับ) เช่น 1 x 1, 2 x 2, 3 x 3, 4 x 4… ไปเรื่อย ๆ แต่ความจริงกลับปรากฏว่า
จัตุรัสกลลำดับ 1 มีตารางเดียว
จัตุรัสกลลำดับ 2 ไม่มีเลย
จัตุรัสกลลำดับ 3 มี 8 ตาราง
จัตุรัสกลลำดับ 4 มีทั้งหมด 880 ตาราง
และ จัตุรัสกลลำดับ 5 มีทั้งหมด 275,305,224 ตาราง
ปริศนาที่ยังไม่มีใครสามารถตอบกลับได้ คือ สมมติถ้ากำหนดลำดับ m มาให้ จัตุรัสกลขนาด m x m จะมีทั้งหมดกี่ตาราง

เพราะเท่าที่รู้ในปัจจุบัน คือ ที่ลำดับ 12 นั้น มีจำนวนมากกว่า 22,000 ล้านตาราง

และที่ลำดับ 36 มีประมาณ 2.7 x 10^44 ตาราง
จากประเทศจีน ความน่าสนใจของจัตุรัสกลก็ได้แพร่สะพัดต่อไปสู่อินเดีย โดยที่เมือง Khajuraho มีซากปรักหักพังที่แสดงผลงานหนึ่งของกษัตริย์แห่งอาณาจักร Chandel (870-1300) เป็นจัตุรัสกลขนาด 4 x 4


ณ วันนี้ จัตุรัสกลได้รับความนิยมเป็นยันต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอินเดียนำไปแกะสลักลงบนถ้วยยา เครื่องราง และในภาชนะที่หมอดูชาวอินเดียใช้ในการดูดวงให้ชาวบ้าน

ในทิเบตมีผ้ายันต์ที่เขียนเป็นรูปวงล้อชีวิตก็มีภาพของจัตุรัสกลเช่นกัน


ถ้วยเซรามิกของชาวอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีภาพของจัตุรัสกลเป็นลวดลายประดับ ภาพจาก http://koh-antique.com

ในส่วนของความเชื่อที่ว่าจัตุรัสกลมีความสัมพันธ์โดยตรงกับวิชาโหราศาสตร์ และวิทยาการเล่นแร่แปรธาตุนั้น ก็มีหลักฐานที่แสดงว่า ความเชื่อเช่นนี้เป็นไปได้ที่จะเป็นจริง เพราะเหล่าผู้รู้ในยุคกลางเชื่อกันว่า

เลข 1 ใช้แทนดวงอาทิตย์ และ แทนโลหะ ทองคำ
เลข 2 ใช้แทนดวงจันทร์ และ แทนโลหะ เงิน
เลข 3 ใช้แทนดาวพฤหัสบดี และ แทนโลหะ ดีบุก
เลข 4 ใช้เหมือนเลข 1 และ แทนดวงอาทิตย์กับทองคำ
เลข 5 ใช้แทนดาวพุธ และ แทนโลหะปรอท
เลข 6 ใช้แทนดาวศุกร์ และ แทนโลหะ ทองแดง
เลข 7 ใช้แทนดวงจันทร์ และ แทนโลหะ เงิน
เลข 8 ใช้แทนดาวเสาร์ และ แทนโลหะ ตะกั่ว
เลข 9 ใช้แทนดาวอังคาร และ แทนโลหะ เหล็ก

ชนชาว Hebrew ก็มีความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของจัตุรัสกลตามผู้นำศาสนายิวชื่อ ben Ezra (1092–1167) ที่ใช้เลข 15 (ซึ่งเป็นค่าคงตัวกลในจัตุรัสกลขนาด 3 x 3) ที่มีค่า = 10+5 ซึ่งต่างก็เป็นสองตัวอักษรแรกของภาษา Hebrew


ด้านนักคณิตศาสตร์ชาวอาหรับชื่อ Muhammad ibn Muhammad ibn Mohamed หรือ Abu Hamid al-ghazali ซึ่งเกิดที่เมือง Tusi เมื่อปี 1058 ได้เรียกจัตุรัสกลว่า shakal turabi และ Jabir ibn Hayyan แห่งเมือง Harran (ซึ่งปัจจุบันอยู่ใน Syria) ก็ได้แสดงภาพของจัตุรัสกลขนาด 3 x 3 ไว้หลายรูปในหนังสือชื่อ “Kitab al-mawazin”

เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Édouard Lucas (1842-1891) ได้แสดงสูตรทั่วไปที่ใช้ในการสร้างจัตุรัสกลลำดับ 3 ดังนี้




ไม่เพียงแต่นักคณิตศาสตร์เท่านั้นที่หลงเสน่ห์ในความน่าสนใจของจัตุรัสกล แม้แต่จิตรกรชาวเยอรมันชื่อ Albrecht Dürer (1471–1528) ปี 1557 ก็ได้เคยวาดภาพของจัตุรัสกลที่มีขนาด 4 x 4 ลงในหนังสือชื่อ Melencolia 1 โดยแสดงไว้ที่มุมขวาบนของภาพ และจัตุรัสกลมีค่าคงตัวกล = 34


และแม้แต่ Benjamin Franklin ซึ่งเป็นพหูสูตชาวอเมริกัน ผู้ที่โลกรู้จักว่าได้ประดิษฐ์สายล่อฟ้าและแว่นตาที่มีความยาวโฟกัส 2 แบบ คือ ใช้ดูทั้งใกล้และไกล (bifocals) ก็ได้เคยปรารภว่า จัตุรัสกลได้ช่วยฝึกสมองของคนเล่นให้เฉลียวฉลาด เขาจึงสร้างจัตุรัสกลขึ้นมา 1 ตาราง ขนาด 8 x 8 ซึ่งมีค่าคงตัวกล = 260


โดยที่เลขในแต่ละแถวนอน กับแต่ละแถวดิ่ง รวมกันได้เท่ากับ 260
เช่น เลขในแนวนอน 33+31+46+20+37+27+42+24 = 260
และ เลขในแนวดิ่ง 43+38+27+22+11+6+59+54 = 260
เลขที่เรียงเป็นอักษร S (สีเหลือง) คือ 36+19+46+29+53+6+59+12 ก็เท่ากับ 260 ด้วย


จัตุรัสกล จึงเป็นคณิตศาสตร์ที่ “ใครๆ” ก็เล่นได้ แต่จะทำได้สำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะแม้แต่คนที่มีอายุมากถึง 87 ปี เช่น Kathleen Ollerenshaw (1912–2014) ก่อนจะเสียชีวิตก็สามารถสร้างจัตุรัสกลขนาด 12 x 12 ได้ดังรูป


และผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ทำให้ Kathleen Ollerenshaw ได้รับอิสริยาภรณ์เป็น Dame ในฐานะนักคณิตศาสตร์สตรีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอังกฤษ

ในสหรัฐอเมริกาก็มีบุรุษคนหนึ่ง แม้จะเป็นนักคณิตศาสตร์สมัครเล่นก็ได้แสดงความสามารถในการสร้างจัตุรัสกลขนาด 8 x 8 เช่นกัน เขาคือ Benjamin Franklin


คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงเวลาที่อเมริกาซึ่งกำลังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ได้เริ่มกระบวนการแยกตัวเป็นเอกราช ในช่วงเวลานั้นสายตาของชาวอเมริกันกับชาวอังกฤษทุกคนได้มุ่งตรงไปที่บุคคลคนหนึ่งนามว่า Benjamin Franklin ซึ่งในวัยเด็กแทบจะไม่ได้รับการศึกษาเลย จึงต้องหลบหนีออกจากบ้านที่ Boston เดินทางไปแสวงหาโชคลาภ ที่เมือง Philadelphia ด้วยการทำงานเป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการ พนักงานพิมพ์หนังสือ และเจ้าของโรงพิมพ์ ครั้นเมื่อมีฐานะดีขึ้นและเริ่มมีชื่อเสียง Franklin ก็ได้เป็นผู้จัดตั้งมหาวิทยาลัย Pennsylvania และสมาคม American Philosophical Society การประสบความสำเร็จในงานหลากหลายอาชีพได้ทำให้ Franklin เป็นบุคคลหนึ่งที่สังคมยอมรับให้ร่วมเขียนแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพของอเมริกา นอกจากนี้ก็ยังเป็นนักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ ผู้สามารถพิสูจน์ได้ว่า ฟ้าแลบมิได้เกิดจากการล่อแก้วของนางเมขลา และฟ้าร้องก็มิได้เกิดจากการขว้างขวานของรามสูร แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าระหว่างก้อนเมฆในอากาศ และระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน


เมื่อครั้งที่ยุโรปเกิดอาเพศด้านภาวะดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในปี 1780 Franklin ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า สาเหตุคงเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใน Iceland และภาวะอากาศที่แปรปรวนนี้ได้ทำให้เกิดภาวะทุพภิกขภัยในยุโรป จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ส่วนการมีประสบการณ์เดินทางด้วยเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไป ๆ มา ๆ บ่อยครั้ง ได้ทำให้ Franklin พบว่า การเดินทางไปและกลับใช้เวลานานไม่เท่ากัน เวลาที่แตกต่างกันนี้ช่วยให้ Franklin ได้พบว่ามีกระแสน้ำอุ่น Gulf Stream ไหลในมหาสมุทรแอตแลนติก ในภาพรวม Franklin จึงเป็นบุคคลศิลปวิทยา (Renaissance man) ผู้รอบรู้ศาสตร์ต่าง ๆ มากมาย และยังเป็นนักประดิษฐ์อุปกรณ์ดนตรี harmonica แต่เหนือสิ่งอื่นใดเขาเป็นคนที่ได้อุทิศชีวิตของตนทั้งชีวิตเพื่อทำคุณประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติ

Benjamin Franklin เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ปี 1706 ที่เมือง Boston ในสหรัฐอเมริกา เป็นลูกคนที่ 10 จาก 17 ของครอบครัว เมื่ออายุ 8 ขวบได้เริ่มเรียนหนังสือที่ Boston Latin School แต่เพราะพ่อแม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพง จึงได้ลาออกเพื่อมาช่วยบิดาทำธุรกิจสบู่และเทียนไข แต่ได้พบว่าตนมีความพอใจจะเดินทางผจญภัยไปในทะเลมากกว่า บิดาจึงได้พยายามหางานอื่นมาให้ทำ เพราะรู้ว่าชีวิตของลูกชายในทะเลจะเต็มไปด้วยภัยอันตราย แต่เมื่อได้พบว่าลูกชายคนนี้ชอบอ่านหนังสือมาก จึงคิดจะให้ Franklin ทำงานด้านหนังสือพิมพ์ วารสาร และทำแผนที่

ดังนั้นเมื่ออายุ 12 ปี บิดาจึงได้ฝาก Franklin ให้ทำงานเป็นคนเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ร่วมกับพี่ชายชื่อ James ที่เมือง Boston สองคนพี่น้องจึงได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ New England Courant ซึ่งนับเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับที่ 2 ที่วางขายในอเมริกา Benjamin เป็นคอลัมน์นิสต์ที่ชอบเขียนบทความล้อเลียนและเสียดสีนักการเมือง โดยใช้นามแฝงว่า "Silence Dogood"

อีกสี่ปีต่อมา เมื่อ Franklin ได้อ่านตำราโภชนาการที่สนับสนุนให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์บริโภคแต่อาหารมังสวิรัติ เขารู้สึกชอบแนวคิดนี้มาก จึงเจียดครึ่งหนึ่งของเงินเดือนไปซื้อหนังสือเล่มนั้น เพราะพบว่าตนมีเงินเหลือจากการบริโภคมังสวิรัติ แต่อีกหนึ่งปีต่อมา Franklin ได้เลิกยึดติดแนวคิดนี้ เมื่อต้องเดินทางไกลและรู้สึกหิวมาก และได้หันกลับไปบริโภคเนื้อสัตว์เหมือนเดิม

เมื่ออายุ 17 ปี Franklin ได้ทะเลาะกับพี่ชายเกี่ยวกับเรื่องที่เขียนในบทความ จึงหนีไปเมือง Philadelphia ในรัฐ Pennsylvania แต่ก็ยังทำงานด้านการพิมพ์ต่อที่นั่น อีกหนึ่งปีต่อมาได้เดินทางไป London เพื่อเข้ารับการฝึกฝนด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัยเป็นเวลานาน 2 ปี ขณะพำนักอยู่ที่ลอนดอน Franklin ได้ตกหลุมรัก แต่พบว่าตนยังมีอายุน้อยเกินไป จึงแต่งงานไม่ได้และได้ทิ้งให้คนรักให้พักอยู่ต่อที่อังกฤษ ส่วนตนเองเดินทางกลับอเมริกา ด้านคนรักก็ได้ไปแต่งงานกับชายคนอื่น แต่ก็ถูกสามีทิ้ง ถึงปี 1730 Franklin ได้กลับไปแต่งงานกับเธอ และใช้ชีวิตร่วมกัน จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในอีก 43 ปีต่อมา

ในปี 1726 ที่ Franklin เดินทางกลับ Philadelphia นั้นเขาได้เริ่มทำธุรกิจการพิมพ์ และออกหนังสือพิมพ์ชื่อ Pennsylvania Gazette อีกสี่ปีต่อมาได้จัดพิมพ์วารสาร Poor Richard's Almanac ซึ่งเป็นที่นิยมอ่านกันมากในสังคมอเมริกายุคนั้น เพราะเนื้อหาในเล่มมีทุกอรรถรส ทั้งเรื่องขำ เกร็ดชีวิต ข่าวสังคม และคำคม ฯลฯ มากมาย ผลงานนี้ได้ทำให้ Franklin มีชื่อเสียง และมีฐานะร่ำรวยมาก


ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทัศนคติและจิตสำนึกของ Franklin เกี่ยวกับสังคมก็เริ่มเปลี่ยน จากเด็กที่เคยยากจนคนหนึ่งที่ได้เริ่มชีวิตใหม่ด้วยการพัฒนาตนเอง และต้องการจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมที่ตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งด้วย จึงได้จัดตั้งสมาคม ซึ่งมุ่งหมายจะปฏิรูปสังคมโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างบรรดาสมาชิกในประเด็นต่างๆ เช่น ในปี 1730 ได้จัดตั้งห้องสมุดสาธารณะเพื่อให้ประชาชนสามารถยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านได้ ในปี 1731 ได้จัดตั้งบริษัทประกันอัคคีภัย โดยกำหนดให้องค์กรต่าง ๆ มีอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยอย่างพอเพียง ในปี 1744 ได้จัดตั้งสมาคมปรัชญา และเมื่ออังกฤษประกาศสงครามกับสเปนและฝรั่งเศส อเมริกาซึ่งเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษจึงต้องเข้าร่วมสงครามด้วย Franklin ได้จัดตั้งกองทหารอาสาสมัครขึ้น กิจกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า Franklin เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมสังคมและเป็นนักเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ

จากนั้น Franklin ก็ได้พยายามพัฒนาสมาคมวิชาการให้เจริญเติบโตจนเป็นมหาวิทยาลัย Pennsylvania เมื่อปี 1749 อีกสองปี ต่อมา Franklin กับเพื่อนที่เป็นแพทย์ชื่อ Dr. Thomas Bond (1841–1901) ก็ได้จัดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกในอเมริกานามว่า Charles Pennsylvania Hospital โดยได้ขอเรี่ยไรเงินจากสังคม


สำหรับผลงานด้านเทคโนโลยีนั้นก็มีมากมาย เช่น ในปี 1742 Franklin ได้ประดิษฐ์เตาผิงรูปแบบใหม่ให้ชาวบ้านได้ใช้อย่างคุ้มค่าและปลอดภัย โดยให้ความร้อนและควันไฟไหลผ่านเข้าและออกคนละทาง จากนั้นก็ได้ปฏิเสธการขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์ของเตา โดยให้เหตุผลว่า ตนเองก็ได้ใช้สิ่งประดิษฐ์ที่บุคคลอื่นคิด โดยไม่ต้องเสียเงินอะไรอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรอนุญาตให้คนอื่นได้ใช้สิ่งที่ตนประดิษฐ์ฟรีเช่นกัน

ตั้งแต่ปี 1749 เป็นต้นมา Franklin วัย 43 ปี ได้กลายเป็นบุคคลของสังคม แม้จะมีฐานะดี แต่ก็ยังใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์คือ กินแต่ขนมปัง กับนม และไม่ดื่มน้ำชา เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในบ้านก็มีราคาถูก ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งภรรยาได้เห็นว่าสามีได้ทำงานหนักมามากและเป็นเวลานานแล้ว จึงสมควรจะมีชีวิตที่ดีบ้าง เธอจึงจัดซื้อด้วยโถ ถ้วยที่ทำด้วยเครื่องปั้นดินเผาดี ๆ มาใช้ในบ้าน


ในด้านผลงานวิทยาศาสตร์ แม้ Franklin จะไม่ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง แต่เขาก็มีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า เพราะได้ทดลองโดยใช้ถ้วย Leyden จนพบว่า ธรรมชาติมีไฟฟ้าสองชนิด คือ ไฟฟ้าบวก กับไฟฟ้าลบ (ในสมัยนั้นยังไม่มีการพบโปรตอนและอิเล็กตรอน) ถึงปี 1752 Franklin ก็รู้ว่าฟ้าแลบเกิดจากการที่ไฟฟ้าเคลื่อนที่ผ่านอากาศ จึงได้ประดิษฐ์สายล่อฟ้าขึ้น ซึ่งทำให้อาคารบ้านเรือนสูง ปลอดภัยจากการถูกฟ้าผ่า ผลงานเหล่านี้ทำให้สังคมพากันชื่นชมความสามารถของ Franklin มาก ไม่ว่าจะในอเมริกา อังกฤษ หรือฝรั่งเศส จนทำให้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกต่างชาติของสมาคม Royal Society (F.R.S.) และได้รับเหรียญ Copley ของสมาคมเมื่อปี 1753


ชีวิตของ Franklin เป็นชีวิตที่ได้อุทิศให้สังคมโดยตลอด เช่น ในปี 1775 ขณะอายุ 69 ปีได้รับเลือกเป็นนายไปรษณีย์แห่งเมือง Philadelphia เป็นสมาชิกสภาผู้แทนของเมือง เป็นชาวอเมริกันที่คนอังกฤษรู้จักดีที่สุด และเป็นรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งมีเพื่อนชื่อ David Hume (1711-1776) ซึ่งเป็นนักปรัชญา และมีเพื่อนเป็นปราชญ์ชื่อ François-Marie Arouet (1694-1778) ซึ่งเป็นนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า Voltaire นักเคมีชื่อ Joseph Priestley (1733-1804) ผู้พบแก๊สออกซิเจน ตลอดจนถึงเป็นสหายในสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และนักอุตสาหกรรมชื่อ Josiah Wedgwood (1730–1795) เป็นต้น

เมื่อครั้งที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐ Pennsylvania กับครอบครัวตระกูล Penn ในปี 1764 เกี่ยวกับการเก็บภาษีของรัฐ Franklin ได้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจนความขัดแย้งยุติ และในฐานะตัวแทนของรัฐ Franklin ได้เดินทางไปอังกฤษ เพื่อทูลขอให้กษัตริย์อังกฤษทรงประกาศให้ Pennsylvania เป็นรัฐในความปกครองของพระองค์

แต่เมื่อสงครามประกาศอิสรภาพระเบิด Franklin ได้เข้าร่วมในกระบวนการต่อสู้เพื่อชาติอเมริกัน และถูกส่งตัวไปฝรั่งเศสในปี 1776 เพื่อขอฝรั่งเศสให้ช่วยเหลือเรื่องอาวุธยุทธโธปกรณ์ และเงินทองในการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสรภาพจากอังกฤษ ขณะอยู่ที่ฝรั่งเศสนี้เองชาวฝรั่งเศสได้ต้อนรับ Franklin ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญาอย่างอบอุ่น เพราะเห็นด้วยกับวิธีคิดของ Franklin ในการประกาศอิสรภาพ ถึงปี 1779 Franklin ได้รับเลือกเป็นผู้ว่ารัฐ Pennsylvania

เมื่อกลับถึงอเมริกา Franklin ยังทำงานต่อไปเพื่อสังคม แม้จะมีอายุ 81 ปี ก็ยังช่วยร่างรัฐธรรมนูญ (Constitution of the United States) ให้ประเทศ และเป็นรัฐบุรุษผู้นิยมการมีเสรีภาพ โดยพยายามล้มล้างระบบการมีทาส

หลังจากที่ล้มป่วยไม่นาน Franklin ก็ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 เมษายน ในปี 1790 ที่ Philadelphia สิริอายุ 84 ปี ในงานศพไว้อาลัยมีผู้เข้าร่วมพิธีกว่า 20,000 คน

ชีวิตของ Franklin เป็นชีวิตที่เกิดมาเพื่อบุคคลอื่น ตามปกติเขาเป็นคนขยันทำงานและมุ่งทำแต่สิ่งที่ดี เป็นคนที่มีความต้องการจะให้สังคมดีขึ้น จึงได้เข้ามามีบทบาทร่วมในการทำกิจกรรมดีๆ แทบทุกเรื่อง

สำหรับผลงานเขียนนั้นก็มีมากมายทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ เช่น ในเบื้องต้นเขาคิดว่า อเมริกาไม่ควรเป็นอิสระจากอังกฤษ แต่เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ Franklin ก็กลับใจและเข้าร่วมต่อสู้เพื่อชาติ โดยไปขอร้องให้ฝรั่งเศสช่วยอเมริกาในการต่อสู้กับอังกฤษ

บทความต่าง ๆ ที่เขียนของ Franklin แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนมีอารมณ์ขัน มีสติปัญญาหลักแหลม เป็นคนเขียนหนังสือเก่ง และเป็นผู้ที่คิดบัญญัติคำใหม่ๆ มากมาย เช่น battery, charge, condenser, conductor ฯลฯ แม้แต่สำนวนที่ว่า “An apple a day, keep the doctor away.”, “God Heals and the Doctor Takes the Fee.”, “When the well's dry, we know the worth of water.” และ “Eat to live, don't live to eat.” ก็เป็นสำนวนเขียนของ Franklin

อ่านเพิ่มเติมจาก “Benjamin Franklin's Numbers.” โดย Paul C. Pasles จัดพิมพ์โดย Princeton University Press ปี 2007 Franklin of Philadelphia โดย Esmond Wright จัดพิมพ์โดย Harvard University Press ในปี 1986 

อ่านเรื่อง Attoscience ในวันศุกร์หน้า 


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น