(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China dominates in high-quality natural-science research
By JOHN WALSH
18/09/2023
“เนเจอร์” วารสารทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติชั้นแนวหน้า จัดอันดับให้จีนขึ้นเป็นที่ 1 แซงหน้าสหรัฐฯ ในเรื่องการมีผลงานวิจัยคุณภาพสูงสุดทางด้านวิทยาศาสตร์-ธรรมชาติ
“ถือเป็นครั้งแรก จีนสามารถแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นเป็นหมายเลข 1 ของการจัดอันดับประเทศหรือดินแดนที่ร่วมสร้างคุณูปการด้วยการมีบทความด้านการวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์อยู่ในดัชนีเนเจอร์วารสารวิทยาศาสตร์-ธรรมชาติคุณภาพสูง (Nature Index of high-quality natural-science journals)” วารสาร “เนเจอร์” รายงานผลการศึกษาสำหรับปี 2022 เอาไว้เช่นนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/articles/d41586-023-01705-7)
ผลการประเมินที่ออกมาอย่างนี้ย่อมต้องมีสิ่งเกี่ยวข้องติดตามมาอย่างลึกซึ้ง ในสภาพที่อเมริกากำลังใช้ความพยายามเพื่ออุดปากบีบคอการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคของจีน และเพื่อ “หย่าร้างแยกขาด” (decouple) วิทยาศาสตร์จีนออกจากวิทยาศาสตร์อเมริกัน การชิงชัยกันในเรื่องไมโครชิปคือสิ่งที่แสงสปอตไลต์จับจ้องอยู่ในเวลานี้ แต่นี่ต้องถือเป็นแค่การต่อสู้กันแบบประปรายในด้านหนึ่ง ภายในกรอบของการแข่งขันที่ใหญ่กว่านั้น ในระยะยาวแล้วความสำเร็จของวิทยาศาสตร์จีน และรากฐานต่างๆ ที่มันสร้างขึ้นมาจะเป็นตัวตัดสินว่าประเทศนี้จะทำได้ดีแค่ไหน
ดัชนีเนเจอร์
วารสาร “เนเจอร์” ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1869 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน ได้รับการยกย่องจากหลายๆ ฝ่ายว่าเป็นวารสารงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แบบหลายหลากสาขาวิชาที่อยู่ในระดับนำหน้าของโลก ถือเป็นหนึ่งในวารสารงานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่มีผู้อ่านกันมากที่สุด ได้รับการอ้างอิงบ่อยที่สุด และได้รับความนับถือสูงที่สุด
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Nature_(journal))
ทั้งนี้ “เนเจอร์” และ “ไซเอนซ์” (Science) ที่เป็นวารสารของสมาคมความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Association of the Advancement of Science หรือ AAAS) ถือกันว่าเป็น 2 วารสารทางวิทยาศาสตร์แบบหลายหลากสาขาวิชา ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงที่สุดของโลก และในภาคผนวกของวารสารเนเจอร์ที่ออกเป็นประจำทุกสัปดาห์ฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เผยแพร่รายงานโดยละเอียดเกี่ยวกับการที่จีนได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 1 สำหรับปี 2022
(ดูเพิ่มเติมรายงานในภาคผนวกของวารสารเนเจอร์นี้ได้ที่ https://www.nature.com/articles/d41586-023-02158-8)
วิธีการของวารสารเนเจอร์ในการจัดเรตติ้งประจำปีว่าประเทศหนึ่งประเทศใดมีตำแหน่งอยู่ระดับไหนในแวดวงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ยึดโยงอยู่กับบทความการศึกษาวิจัยทั้งหมดซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์อันโด่งดังเป็นที่เชื่อถือกันมากที่สุดจำนวน 82 ชื่อวารสาร โดยวารสารเหล่านี้ซึ่งล้วนแต่อยู่ในประเภทที่มีการให้ผู้รู้ในวงการเดียวกันตรวจสอบทบทวนบทความก่อนตีพิมพ์ (peer-reviewed) นั้น อยู่ในสาขาวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เคมี วิทยาศาสตร์กายภาพ ตลอดจนโลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
การคัดสรรอย่างเข้มงวดโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ระดับแถวหน้าว่าวารสารคุณภาพระดับสูงสุดชื่อใดบ้างที่จะนำมาใช้ในการจัดเรตติ้ง จัดทำขึ้นมาก็เพื่อให้มัดเป็นมาตรวัดปริมาณงานวิจัยคุณภาพสูงที่มีความน่าเชื่อถือ การประเมินผลที่ได้ออกมาจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่มาตรวัดในเชิงปริมาณเท่านั้น โดยที่ถ้าหากใช้วิธีวัดง่ายๆ เช่นนั้นแล้ว จีนก็แซงหน้าสหรัฐฯ ในเรื่องจำนวนบทความทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในสิ่งตีพิมพ์ทางด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2017 ทั้งนี้ตามข้อมูลการศึกษาของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ (US National Science Foundation)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/articles/d41586-023-02159-7)
“เนเจอร์” คำนวณมาตรวัดที่ถือเป็นซิกเนเจอร์ของตน ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า “แชร์” (Share) โดยใช้บทความทุกๆ บทความซึ่งปรากฏอยู่ในวารสาร 82 ชื่อวารสารเหล่านี้ในแต่ละปีปฏิทิน กล่าวคือ การที่ประเทศหนึ่งๆ หรือสถาบันหนึ่งๆ มีคุณูปการโดยเสนอบทความที่เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในบทความทั้งหมดเหล่านี้ ก็จะถือเป็น “แชร์” ของประเทศหรือสถาบันนั้นๆ ขณะที่ฐานข้อมูลเปิดซึ่งบรรจุข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่ใช้ในการดำเนินกระบวนการนี้เรียกกันว่า “ดัชนีเนเจอร์”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่เรื่องเกี่ยวกับ “แชร์” ได้ที่ https://www.nature.com/nature-index/brief-guide และเรื่องเกี่ยวกับดัชนีเนเจอร์ได้ที่ https://www.nature.com/articles/d41586-023-02164-w)
ปกติแล้ว บทความรวมหลายหมื่นบทความที่ปรากฏอยู่ในดัชนีเนเจอร์ในแต่ละปี แต่ละบทความจะได้รับการพิจารณาว่าสมควรได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หรือไม่ อย่างน้อยที่สุดก็จากผู้รู้ในแวดวงเดียวกันที่ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบทบทวน (peer reviewer) จำนวนอย่างน้อย 2 คน และจากบรรณาธิการของวารสารนั้นๆ อีก 1 คน ด้วยวิธีการเช่นนี้ กองทัพนานาชาติของบรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยมที่สุดตัวจริงของจริงก็กำลังทำการวินิจฉัยตัดสินในเรื่องส่วนร่วมที่ประเทศหนึ่งๆ หรือสถาบันหนึ่งๆ มีคุณูปการให้แก่มาตรวัด “แชร์”
ในทางจิตสำนึกแล้ว พวกเขาแต่ละคนกำลังวินิจฉัยตัดสินคุณภาพของบทความแต่ละบทความที่เสนอเข้ามาให้พวกเขาตรวจสอบว่าสมควรได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หรือไม่ แต่ผลรวมของการวินิจฉัยของพวกเขานั่นเองคือสิ่งที่อยู่เบื้องลึกลงไปของมาตรวัด “แชร์” มันเป็นมาตรวัดที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับว่าบทความนั้นๆ ได้รับการอ้างอิงมากน้อยเพียงใด แต่ยึดโยงอยู่กับการยอมรับซึ่งเป็นผลจากการให้ผู้รู้ในวงการเดียวกันตรวจสอบทบทวนอย่างเรียกร้องคุณภาพอันสูงลิ่ว มันจึงมีคุณค่าเท่ากับการประเมินค่าตัวเองในระดับระหว่างประเทศโดยพวกนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเอง เพื่อวินิจฉัยตัดสินคุณูปการโดยรวมทั้งทางด้านคุณภาพและด้านปริมาณของแต่ละชาติและของแต่ละสถาบัน
จีนก้าวผงาดในวงการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
แล้วแชร์ของแต่ละชาติในด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในรอบปีปฏิทิน 2022 เป็นอย่างไร?
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/nature-index/annual-tables/2023/country/natural-sciences/all)
จีน: 19,373
สหรัฐฯ: 17,610
การค้นพบนี้เป็นการหนุนเสริมมาตรวัดวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงอีกตัวหนึ่ง ซึ่งได้แก่ การมีคุณูปการสร้างบทความการศึกษาวิจัยในสิ่งตีพิมพ์ที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดระดับท็อป 1% (the top 1% of most cited publications) มาตรวัดนี้ก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าจีนแซงหน้าสหรัฐฯ ในปี 2022 ทั้งนี้ตามข้อมูลของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของญี่ปุ่น (Japan’s National Institute of Science and Technology)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/articles/d41586-023-02159-7)
จีนก้าวผงาดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วชนิดน่าตื่นตาตื่นใจมาก การวัดเรตติ้ง “แชร์” ครั้งแรกที่สุดที่จัดทำกันสำหรับปี 2016 นั้น ปรากฏว่าอันดับของสหรัฐฯ และของจีนในตอนนั้นกลับข้างกันอย่างชนิดห่างกันสุดกู่กับในปัจจุบัน โดยที่แชร์ของจีนอยู่ในระดับแค่ 37% ของสหรัฐฯ เท่านั้น
สำหรับปี 2016 แชร์ออกมาดังนี้:
สหรัฐฯ: 20,767
จีน: 7,676
แต่เรื่องนี้มันยังไม่จบ มีเรื่องราวดำเนินต่อมาอีก นับจากปี 2021 ถึงปี 2022 แชร์ของจีนเมื่อปรับเข้ากับตัวเลขรวมของทั่วโลกทั้งหมด ปรากฏว่าเติบโตเพิ่มขึ้นราว 21% ขณะที่แชร์ของสหรัฐฯ กลับหล่นลงไปราว 7%
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/nature-index/annual-tables/2023/country/natural-sciences/all)
แบบแผนของการที่สหรัฐฯ หล่นลงมา ส่วนจีนผงาดขึ้น ปรากฏว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกๆ ปีนับตั้งแต่ที่มีการค้นพบเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในปี 2016
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/nature-index/annual-tables/2017/country/all/all)
มาถึงจุดนี้ มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่จะต้องชี้เอาไว้ด้วยว่า วารสารทั้ง 82 ชื่อวารสารในดัชนีเนเจอร์นั้น ล้วนตีพิมพ์เผยแพร่ในโลกตะวันตก พิจารณาจากข้อเท็จจริงนี้ อย่างน้อยที่สุดก็สามารถพูดได้ว่า มันไม่น่าเป็นไปได้เลยที่จะมีอคติแบบถือหางเข้าข้างจีนเกิดขึ้นในการคำนวณ “แชร์”
สุดท้าย วิทยาศาสตร์ของประเทศจีนบ่อยครั้งทีเดียวมักถูกมองด้วยอคติแบบเหมารวม (stereotyped) ว่า เป็นแค่ผลงานเลียนแบบ และไม่มีความริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของตนเอง อย่างไรก็ดี วาสารต่างๆ ที่อยู่ในดัชนีเนเจอร์ต่างเป็นวารสารซึ่งมุ่งที่จะตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยที่บุกเบิกพรมแดนแวดวงใหม่ๆ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งที่ยังไม่มีการศึกษากันมาก่อน การที่ประเทศจีนมีอันดับที่สูงมากในเรตติ้ง “แชร์” จึงไม่สอดคล้องกับอคติเหมารวมดังกล่าวเลย
ข้อสรุปนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับการอ้างอิงเอาไว้ในภาคผนวกของเนเจอร์ งานวิจัยดังกล่าวนี้เป็นการศึกษาที่มุ่งนับการอ้างอิงบทความหนึ่งๆ โดยวารสารทางวิชาการในสาขาวิชาอื่นๆ ตรงนี้หมายความว่า จำนวนของการที่ผลงานนั้นๆ ถูกนำไปใช้ข้ามสาขาวิชา กำลังถูกพิจารณาเป็นดัชนีอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความริเริ่มสร้างสรรค์ ปรากฏว่าการศึกษาชิ้นนี้พบว่าบทความที่มีคนจีนอย่างน้อยที่สุดคนหนึ่งเป็นผู้เขียนร่วม (co-author) ได้รับการอ้างอิงในลักษณะดังกล่าวจากสาขาวิชาอื่นๆ ในระดับกว้างขวางกว่าบทความอื่นๆ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/articles/d41586-023-02159-7)
อันดับของมหาวิทยาลัยจีน
ข้อมูลในมาตรวัด “แชร์” ยังถูกดัชนีเนเจอร์นำไปใช้คำนวณเพื่อจัดอันดับ 500 มหาวิทยาลัยทั่วโลกในรอบปี 2022 อีกด้วย
ปรากฏว่าจาก 500 มหาวิทยาลัยทั่วโลกซึ่งได้รับการเรตติ้ง “แชร์” นั่นคือการร่วมส่วนสร้างคุณูปการในเรื่องบทความการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงที่สุด พวกที่อยู่ในระดับท็อป 10 เป็นมหาวิทยาลัยจีน 7 แห่ง และมหาวิทยาลัยอเมริกัน 3 แห่ง ทั้ง 10 แห่งเหล่านี้ได้แก่:
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)
มหาวิทยาลัยแห่งบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ของจีน (University of the Chinese Academy of Sciences)
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (University of Science and Technology of China)
มหาวิทยาลัยหนานจิง (Nanjing University)
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)
มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University)
มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University)
สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology)
มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University)
มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น (Sun Yat-sen University)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/nature-index/annual-tables/2023/institution/academic/natural-sciences/global)
สำหรับท็อป 20 ปรากฏว่า 11 แห่งเป็นมหาวิทยาลัยจีน และ 4 แห่งเป็นมหาวิทยาลัยอเมริกัน “แชร์” ของสถาบันการศึกษาจีนทั้ง 11 แห่งเหล่านี้ต่างเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2021 ขณะที่ของสถาบันการศึกษาในประเทศอื่นๆ ทั้งหมดต่างลดต่ำลง
พวกมหาวิทยาลัยของจีนในปี 2019 ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (PhD) ในสาขาวิชาด้านสเตมศึกษา (STEM ย่อมาจาก science, technology, engineering, และ mathematics) จำนวน 49,498 คน เปรียบเทียบกับของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่ผลิตได้ 33,759 คน เมื่อถึงปี 2025 คาดการณ์กันว่าจีนจะผลิตผู้จบ PhD ด้านสเตมศึกษาได้ 77,179 คน เกือบเป็น 2 เท่าตัวของสหรัฐฯ ที่จะผลิตได้ 39,959 คน
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับปี 2019 ได้ที่ https://www.forbes.com/sites/michaeltnietzel/2021/08/07/us-universities-fall-behind-china-in-production-of-stem-phds/?sh=73bb83d84606 และการคาดการณ์ปี 2025 ได้ที่ https://cset.georgetown.edu/publication/china-is-fast-outpacing-u-s-stem-phd-growth/)
ผู้สำเร็จปริญญาเอกด้านสเตมศึกษาเหล่านี้ คือทุนมนุษย์ที่ความวิริยะอุตสาหะเพื่อทำให้วิทยาศาสตร์เติบโตขยายตัวและมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตจะต้องพึ่งพาอาศัย ในทางกลับกัน ความสามารถที่จะสร้างนักศึกษาระดับ PhD ซึ่งมีคุณภาพสูงขึ้นมาได้ ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยระบบการศึกษาที่พัฒนานักเรียนนักศึกษาให้มีความพรักพร้อมสำหรับมหาวิทยาลัย และตรงนี้ก็เช่นกัน ประเทศจีนไม่ได้สร้างความผิดหวังเลย
ในผลการทดสอบที่จัดทำทุกๆ 3 ปีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ซึ่งดำเนินการทดสอบใน 79 ประเทศและดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ครอบคลุมผู้อยู่ในวัย 15 ปี จำนวนประมาณ 600,000 คน ปรากฏว่านักเรียนจีน “ทำได้ดีชนิดเลยหน้าไปไกลเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนนักเรียนในประเทศอื่นๆ ทุกๆ ประเทศ ในผลการสำรวจเกี่ยวกับความสามารถทางด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์” นิตยสารฟอร์บส์ รายงานเอาไว้เช่นนี้ ผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ทำให้ฟอร์บส์ ถึงกับพาดหัวรายงานข่าวชิ้นนี้ว่า “เด็กนักเรียนจีนเวลานี้ได้รับการยอมรับว่าฉลาดที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการแล้ว” (China’s Schoolkids Are Now Officially the Smartest in the World)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://archive.ph/3KGuE)
“งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา” ของสหรัฐฯ และของจีน
การที่จะรักษาให้การวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) อยู่ในระดับชั้นหนึ่งได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณรายจ่ายอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังด้วย ไม่เพียงแค่ความรู้ความสามารถของมนุษย์ที่ได้รับการศึกษามาอย่างดี
ในปี 2022 งบประมาณด้านอาร์แอนด์ดีของสหรัฐฯ อยู่ที่ 679,400 ล้านดอลลาร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.statista.com/statistics/1345767/gross-research-development-expenditure-us/#:~:text=The%20gross%20expenditure%20of%20the,billion%20U.S.%20dollars%20in%202022.)
ส่วนของจีนอยู่ที่ 439,000 ล้านดอลลาร์ (3.08 ล้านล้านหยวน) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chinadaily.com.cn/a/202303/24/WS641d84b2a31057c47ebb66ef_1.html#:~:text=China%27s%20R%26D%20spending%20in%202022,percent%20over%20the%20previous%20year.)
แต่มูลค่าเป็นดอลลาร์สำหรับรายจ่ายของประเทศจีนนี้ เป็นการคำนวณที่มีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินตรา ถ้าหากเราแปลงตัวเลขนี้ให้กลายเป็นค่าเสมอภาคที่กำหนดโดยกำลังซื้อ (purchasing power parity หรือ PPP) ด้วยการใช้ correction factor ซึ่งผมคำนวณว่าจะเท่ากับ 1.7 (นั่นคืออัตราส่วนระหว่าง GDP-PPP กับ GDP ตามตัวเลขที่เป็นดอลลาร์สำหรับประเทศจีน) งบประมาณรายจ่ายของจีนก็จะต้องเป็น 746,000 ล้านดอลลาร์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_China#:~:text=%2419.373%20trillion%20(nominal%3B%202023%20est,(PPP%3B%202023%20est.)
(สำหรับ GDP-PPP กับ GDP ตามตัวเลขที่เป็นดอลลาร์ของสหรัฐฯ นั้น ย่อมเป็นตัวเลขเดียวกัน นั่นคือ อัตราส่วนเท่ากับ 1)
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีข้อสังเกตว่างบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของสหรัฐฯ เติบโตในอัตรา 5.5% จากปี 2021 ถึงปี 2022 ขณะที่อัตราเติบโตของจีนอยู่ที่ 10.4% โดยที่เป็นการเติบโตเกิน 10% เป็นปีที่ 7 ติดต่อกันแล้ว
(อัตราเติบโตของงบประมาณอาร์แอนด์ดีสหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.statista.com/statistics/1345767/gross-research-development-expenditure-us/#:~:text=The%20gross%20expenditure%20of%20the,billion%20U.S.%20dollars%20in%202022. และของจีนดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chinadaily.com.cn/a/202303/24/WS641d84b2a31057c47ebb66ef_1.html#:~:text=China%27s%20R%26D%20spending%20in%202022,percent%20over%20the%20previous%20year.)
ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะหย่าร้างแยกขาดจากวิทยาศาสตร์จีน จึงอาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายแก่สหรัฐฯ เอง
เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2011 ด้วยนโยบาย “หวนกลับไปให้ความสำคัญแก่เอเชีย” (Pivot to Asia) สหรัฐฯ ก็ได้แสวงหาหนทางที่จะทำให้จีนอ่อนแอลง และมุ่งที่จะชะลอการพัฒนาของจีนหรือทำให้การพัฒนาของจีนอยู่ในสภาพติดลบ ซึ่งก็คือการใช้ภาษาที่ให้ฟังดูนุ่มนวลมากขึ้นสำหรับ “การปิดล้อม” จีนนั่นเอง
ความพยายามของสหรัฐฯ มีทั้งด้านการทหาร อย่างที่แสดงให้เห็นด้วยการสร้างสมกำลังทหารของสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ด้านเศรษฐกิจ อย่างที่มองเห็นภาพได้จากพวกมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ตลอดจนการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากร และการบีบรัดจำกัดการส่งออก และด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งล่าสุดคือการแซงก์ชันในเรื่องชิป และที่ฉาวโฉ่ที่สุดก็คือในการดำเนินแผนการที่ใช้ชื่อว่า “แผนการริเริ่มเกี่ยวกับจีน” (China Initiative) ซึ่งพุ่งเป้าหมายมุ่งรังควานพวกนักวิทยาศาสตร์อเมริกันเชื้อสายจีน ที่เวลานี้ก็ยังคงดำเนินอยู่ ถึงแม้ได้มีการลบชื่อเดิมของแผนการออกไปเพื่อวัตถุประสงค์ในทางสร้างภาพให้ดูดีมากขึ้น
ล่าสุด คือการที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคลื่อนไหวที่จะยกเลิกพิธีสารสหรัฐฯ-จีนว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (US-China Protocol on Scientific and Technological Cooperation) ที่ใช้กันมาแล้ว 43 ปี ซึ่งทำให้เกิดหนังสือประท้วงส่งไปถึงประธานาธิบดีไบเดนจากนักฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 2 คน และมีนักวิทยาศาสตร์ราว 1,000 คนร่วมลงนาม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://archive.today/DJXM2)
เรื่องนี้กำลังเป็นที่รู้สึกรับรู้ได้ในโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างฝ่ายจีนกับฝ่ายอเมริกันจำนวนหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงปริมาณของความร่วมมือนี้ก็ได้ตกลงมา 15% แล้ว นับจากปี 2020 ถึงปี 2022 สอดคล้องต้องกันกับระยะปีแรกๆ ของคณะบริหารไบเดน อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์นี้ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เนื่องจากความร่วมมือระหว่างจีนกับพวกชาตินำหน้าด้านการวิจัยรายอื่นๆ ยังคงเติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
(ดูเพิ่มเติมที่ https://www.nature.com/articles/d41586-023-02161-z)
สุดท้าย เมื่อพิจารณาจากการที่จีนกำลังมีบทบาทนำหน้าในเรื่องการวิจัย จึงยังต้องติดตามกันต่อไปว่าจีนหรือสหรัฐฯ กันแน่ที่จะต้องประสบความเจ็บปวดได้รับความเสียหายมากกว่ากันจากการแข่งขันต่อสู้กันนี้ ซึ่งแท้จริงแล้วควรจะต้องเป็นการร่วมมือกันมากกว่า
ชัดเจนว่าแรงจูงใจของสหรัฐฯ คือการดึงรั้งจีนให้ถอยหลังกลับมาด้วยการโดดเดี่ยวพวกเขาจากโลกตะวันตก ทว่ามันเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อสหรัฐฯ ที่น่าเศร้าใจมากเมื่อต้องพูดว่า พวกเขากำลังปรารถนาที่จะทำลายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผลประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งมวล เพื่อที่จะผลักดันเดินหน้าเป้าหมายของพวกเขาในการครอบงำโลก
จอห์น วี วอลช์ เป็นอดีตอาจารย์ด้านสรีรวิทยาที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ชาน (Chan Medical School) มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ เขาสันทัดในการเขียนบทความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการดูแลสุขภาพ