DGA ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8 พันล้านบาท หลังเริ่มขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในช่วงปี 2566 พร้อมขยายบริการรัฐบนแอป ‘ทางรัฐ’ ให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึง พร้อมเดินหน้า Smart Connector เชื่อมต่อภาครัฐทุกภาคส่วนกับประชาชน
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA กล่าวถึงผลงานการดำเนินงานในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ได้เริ่มให้บริการครบคลุมทั้งในระดับ Government to Citizens (G2C) Government to Business (G2B) และ Government to Government (G2G)
ไม่ว่าจะเป็นแอป “ทางรัฐ” ภายใต้ G2C ที่รวมบริการจากทุกหน่วยงานรัฐที่ช่วยแก้ปัญหาประชาชนกว่า 112 บริการ มีการใช้งานสะสมกว่า 7.5 ล้านครั้ง และมียอดดาวน์โหลดถึง 6 แสนครั้ง ซึ่งในปี 2567 จะเพิ่มบริการที่สำคัญ เช่น เช็กสอบภาษีที่ดินส่วนบุคคล ข้อมูลประกัน Life/Non-Life ส่วนบุคคล และบริการชำระดอกเบี้ย (รับจำนำ)
ขณะเดียวกัน ยังยกระดับ “ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th)” ให้มีชุดข้อมูลเปิดที่มีคุณภาพ และตรงต่อความต้องการของประชาชน และนักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ คาดว่าในปี 67 จะเพิ่มให้เกิดการแลกเปลี่ยนใช้ประโยชน์ข้อมูลระหว่างรัฐ-เอกชน-นานาชาติ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Digital Transcript หรือทรานสคริปต์ในรูปแบบดิจิทัล เพิ่มความสะดวกให้นักศึกษา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสาร รวมถึงลดงบประมาณของมหาวิทยาลัยในการออกเอกสาร มีจำนวนการผลิตแล้วกว่า 1 ล้านใบ ใน 82 มหาวิทยาลัยที่ให้บริการทั่วประเทศ
ในแง่ของความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม DGA ได้สร้าง “ระบบกลางทางกฎหมาย” (law.go.th) สนับสนุนให้ภาครัฐสามารถเปิดรับความคิดเห็นจากภาคประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินงานการจัดทำร่างกฎหมายต่างๆ ไปจนถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เพื่อให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น
มีการพัฒนา ‘ภาษีไปไหน’ ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐผ่าน govspending.data.go.th เปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่นำเสนอเป็นภาพรวมสถิติในรูปแบบ Dashboard การจัดอันดับ Ranking ข้อมูล และการแสดงข้อมูลในแผนที่ประเทศไทยรูปแบบง่ายๆ พร้อมมีช่องทางให้ประชาชนร่วมเป็นพลังสำคัญในการติดตามตรวจสอบและต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน
ส่วนในภาคของ G2B หรือระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจ เริ่มให้บริการ Biz Portal ผ่าน bizportal.go.th เพื่ออำนวยความสะดวกกับ SME ให้สามารถติดต่อยื่นคำขอใบอนุญาตจากภาครัฐได้กว่า 124 บริการ/ใบอนุญาต โดยมีผู้ประกอบการที่ใช้งานแล้ว 15,881 ราย
ตามด้วย G2G หรือระหว่างรัฐกับรัฐ ที่เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐกับรัฐ เช่น ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (Government Data Exchange: GDX) เพื่อเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานรัฐ บนช่องทางการสื่อสารที่มีความปลอดภัย ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงแล้ว 13 หน่วยงาน 74 API ข้อมูลบริการ และมีการเชื่อมโยงข้อมูลไปแล้ว 133.44 ล้านครั้ง
ที่สำคัญมีการพัฒนา “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” ซึ่งเป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในระดับท้องถิ่น เพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารงานและการให้บริการขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยปัจจุบันมี อปท. เข้ารับการอบรมแล้ว 659 หน่วยงาน ติดตั้งและใช้ระบบ 117 หน่วยงาน เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกทุกที่ ทุกเวลา นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ได้ทั่วประเทศ
โดยระบบท้องถิ่นดิจิทัล เป็นระบบบริการประชาชนที่ประกอบด้วย 5 บริการหลัก คือ 1.ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS) 2.ระบบขออนุญาตก่อสร้าง (สำหรับพื้นที่ไม่เกิน 150 ตร.ม.) 3.ระบบออกหนังสือรับรองแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหาร 4.ระบบชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ และ 5.ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่รัฐ
“จากความสำเร็จของโครงการต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงบทบาท และภารกิจของ DGA ในการนำประเทศให้เป็น Smart Nation Smart Life เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยได้อันดับการพัฒนาด้านรัฐบาลดิจิทัลที่จัดสำรวจโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง