สกสว. ผลักดันผลงานวิจัยแก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อให้เกิดการใช้งานจริง พร้อมมุ่งปรับฐานประเทศไทยไปสู่ net zero emissions เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูง ยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยสู่มาตรฐานสากล
ผศ. สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) เปิดเผยในงาน Triup Fair 2023 งานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 ว่า ในปัจจุบันปัญหาโลกร้อนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้รัฐบาลของทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และวางเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน ซึ่งได้ส่งผลต่อภาคธุรกิจทุกภาคส่วนทั้งด้านการผลิต การบริการ และการท่องเที่ยว ดังนั้น สกสว. จึงได้ให้การส่งเสริมการวิจัยด้านการลดภาวะโลกร้อนอย่างเต็มที่
การเริ่มต้นขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เริ่มเมื่อปี 2564 เกิดความร่วมมือระดับกระทรวงจาก 3 กระทรวง กับภาคีเครือข่าย 8 องค์กรพันธมิตรจากส่วนกลาง ซึ่งในตอนนั้นก็จะมีหน่วยงานภาครัฐ คือ อบก. ที่มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน และหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมและพัฒนาภาคการท่องเที่ยวและบริการ ได้แก่ อพท. ททท สสปน. รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นผู้ให้บริการภาคการท่องเที่ยวและบริการ ได้แก่ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หรือ TEATA เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวจากการท่องเที่ยวแบบปกติให้เป็นการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) ที่สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวคุณภาพ เกิดผลกระทบเชิงบวกทางด้านเศรษฐกิจ เหมาะสมกับบริบทของภาคธุรกิจของไทยทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ และชุมชนท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ในปัจจุบันเรามีเครื่องมือในการวัด ลด ชดเชย การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคการท่องเที่ยวและบริการ หรือที่เรียกว่า PCR บริการทางการท่องเที่ยว 4 กิจกรรม ได้แก่ (1) การเดินทาง (2) การบริการอาหารและเครื่องดื่ม (3) การพักแรม และ (4) การจัดการของเสีย ครอบคลุมโปรแกรมการท่องเที่ยวกว่า 50 โปรแกรม ใน 26 จังหวัด และมีรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (สวนผลไม้) การท่องเที่ยวโดยชุมชนบนวิถีแห่งสายน้ำ การท่องเที่ยววิถีประมง การท่องเที่ยวทางทะเล การท่องเที่ยวฝั่งอันดามันและอ่าวไทย การท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยาน และการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร รวมไปถึงการขยายไปสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่ Eco Spa และ Eco Sport ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา สกสว. และ บพข. ร่วมกับ อบก. ได้มีการจัดงานเปิดตัวแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ในกลุ่มผู้ประกอบการทางการท่องเที่ยว ให้สามารถวัด ลด ชดเชย และแลกเปลี่ยน ซื้อขาย คาร์บอนเครดิตในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยจะสามารถใช้ได้จริงในเดือนกันยายน 2566 นี้
ล่าสุดได้มีการขยายเครือข่ายร่วมกับองค์กรด้านการท่องเที่ยว ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำการวิจัยในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีนักวิจัยกว่า 200 คน จาก 20 มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมงาน มีการบูรณาการทำงานขยายไปยังระดับพื้นที่ ภายใต้การขับเคลื่อน Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้มีภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 14 องค์กรพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัด สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัด หมู่เกาะลันตา อ่าวนาง สมาคมโรงแรมจังหวัด สมาคมร้านอาหารจังหวัด สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัด สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัด ชมรมกระบี่ฮาลาลแอนด์มุสลิมเฟรนด์ลี่ มูลนิธิกระบี่ยั่งยืน รวมไปถึงสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทยที่จะเป็นแหล่งต้นน้ำสำหรับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ
นอกจากนี้ยังมีการขยายเครือข่ายองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อีก 28 องค์กรสำหรับองค์กร DMCs อาทิ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมโรงแรมไทย (THA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) สมาคมส่งเสริมธุรกิจการจัดอินเซนทีฟระดับโลกจากฝั่งยุโรปและอเมริกา (SITE) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) สมาคมท่องเที่ยวและไมซ์จังหวัดขอนแก่น สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเลย สมาคมการค้าธุรกิจท่องเที่ยวยโสธร สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งภาคีในจังหวัดเชียงใหม่อื่นๆ ได้แก่ เครือข่าย เขียว สวย หอม และ Thai Localista วิสาหกิจเพื่อสังคม เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดชุมพร สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสวนผึ้ง ทำให้โดยรวมแล้วทำให้วันนี้เรามีเครือข่ายทั้งสิ้น 50 องค์กรที่จะช่วยผนึกกำลังสร้างสรรค์การท่องเที่ยวไทยให้ไร้คาร์บอน และสำหรับ 28 องค์กร มีทั้งองค์กรภาคเอกชนในระดับประเทศ ภูมิภาคและท้องถิ่น รวมถึงสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง
โดยที่ผ่านมาได้ทดลองนำร่องพัฒนาผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล และหมู่เกาะต่าง ๆ ทั้งในฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย โดยการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจการที่เข้าร่วมที่มีจำนวนหลายพันราย จากนั้นก็พยายามแก้ไขปัญหาลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในส่วนที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ก็จะรู้ปริมาณที่ชัดเจนและประเมินเป็นตัวเงิน เพื่อนำไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากการเข้าไปสนับสนุนการฟื้นฟูป่าชายเลน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางทะเล หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เข้ามาดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปเก็บกับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งชาวต่างชาติที่มุ่งเน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็พร้อมที่จะจ่ายเงินในส่วนนี้ เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะจ่ายเพิ่มคนละไม่กี่สิบบาท
ส่วนในก้าวต่อไป ในปี 2567 จะขยายภาคีเครือข่ายให้ครอบคลุมกิจกรรม กิจการท่องเที่ยวที่ มูลค่าสูงทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Eco Sport / Eco Spa ในปี 2568 – 2569 จะพัฒนาเส้นทาง Carbon Neutral Route เป้าหมาย 1,500 เส้นทาง ขยายภาคีเครือข่ายและได้รับการยอมรับในระดับสากล และในปี 2570 ประเทศไทยเป็นกลางคาร์บอนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
เครือข่าย 50 องค์กรพันธมิตรในวันนี้จะเป็นองค์กรที่จะช่วยกันผลักดันและหนุนเสริมให้ไทยเป็นประเทศผู้นำระดับสากลในด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดังนั้นหนทางสู่สำเร็จจึงต้องอาศัยความทุ่มเท ความร่วมมือ และการบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน เพื่อคว้าโอกาสในการเป็นผู้นำ แสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินไปด้วยกันได้ และร่วมกันพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่งตอบโจทย์ความท้าทายให้การท่องเที่ยวไทยเกิด Net Zero Emission ในระดับเส้นทาง/โปรแกรมการท่องเที่ยว และระดับธุรกิจทางการท่องเที่ยว ในปี 2570 การพัฒนานี้ไม่เพียงแต่รักษาสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาตินี้เท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นและส่งมอบมรดกทางธรรมชาติที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานในรุ่นต่อๆ ไป
ด้าน ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจ พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่าเราจะมุ่งเน้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องทดสอบทดลอง และทดสอบมาตรฐานสินค้า โดยจะมีหน่วยงานที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา ผ่านทางหน่วยงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่กระจายอยู่ใน 44 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่พร้อมเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องการทดสอบ ทดลองผลิตภัณฑ์ การทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการวิจัยวิทยาศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ที่เข้ามาแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการได้ ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีห้องทดสอบทดลองแทบจะทุกประเภทผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานสากล และการนำผลงานการวิจัยเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการในทุก ๆ ด้าน