xs
xsm
sm
md
lg

สสว.เผยเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชุมชนมาแรงหลังโควิด โตเพิ่ม 155% สร้างมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสว. เผยผลการศึกษาธุรกิจท่องเที่ยวหลังวิกฤติ COVID-19 พบ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชุมชน เป็นเทรนด์ใหม่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสูงสุดในปี 2565 ด้วยตัวเลขเติบโตสูงถึง 155% สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 220 ล้านบาท สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน ลดความยากจน และความเข้มแข็งยั่งยืนของเศรษฐกิจในพื้นที่

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมจากการท่องเที่ยวชุมชนสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นงานศึกษาในเชิงชุมชน เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบ ปัจจัยความสำเร็จสู่ความยั่งยืนของชุมชน และกลไกการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริม โดยเลือกตัวอย่างการท่องเที่ยวชุมชน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา จ.ชัยนาท 2.ชุมชนวัฒนธรรมมอญเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี 3.ชุมแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ ทำการศึกษาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2566 ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่
 
 
ดยผลการศึกษา พบว่า การท่องเที่ยวสัมผัสวัฒนธรรมชนบทหรือท่องเที่ยวชุมชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมหลายมิติ ทั้งด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น หนี้สินที่ลดลง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน สามารถลดความยากจนในพื้นที่ และสร้างเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทมีการฟื้นตัวด้านรายได้เพิ่มขึ้นถึง 155% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยปี 2565 มีรายได้เฉลี่ย 30,500 บาท/เดือน หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 220 ล้านบาท ขณะที่ ก่อนสถานการณ์ COVID-19 ธุรกิจดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.9 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 13% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจในธุรกิจที่พักแรมทั้งหมด เมื่อพิจารณาภาพรวมในต้นปี 2566 รายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย และนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทในชุมชน โดยธุรกิจดังกล่าวทั้งหมดเป็น ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เลย สมุทรสงคราม เชียงราย และกาญจนบุรี

สำหรับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ พบว่า การท่องเที่ยวฯ สามารถสร้างรายได้โดยตรงจากการเดินทางเยี่ยมชมและพักแรม รวมทั้งสินค้าชุมชนและบริการชุมชนยังสามารถต่อยอดธุรกิจ คนในชุมชนสร้างอาชีพหลักและมีอาชีพเสริม หลายแหล่งท่องเที่ยวจากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูง คนในชุมชนสามารถสร้างรายได้และลดภาระหนี้สิน รวมทั้งผลกระทบเชิงสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น การกลับบ้านเกิดของคนรุ่นใหม่ ลดการย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมือง และสร้างโอกาสในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว อีกทั้งความเป็นชุมชนบ้านเกิดทำให้เกิดการต่อยอดในการพัฒนาชุมชนตนเอง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติของถิ่นกำเนิด การถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับคนรุ่นหลัง การส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

ทั้งนี้  ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวสัมผัสวัฒนธรรมชนบทหรือท่องเที่ยวชุมชนประสบความสำเร็จจะประกอบด้วย ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล และคนในชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานเชิงรุก การรับฟังความคิดเห็น และการกระจายผลประโยชน์ เป็นหลัก โดยรัฐควรสนับสนุนองค์ความรู้กับผู้นำชุมชน ผ่านสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ขณะที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ ให้เกิดความยั่งยืนมีคนรุ่นใหม่เป็นตัวแปรสำคัญ ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการวางรากฐาน หรือส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ไปพร้อมกันด้วย สรุปได้ว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ มี “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นองค์ประกอบในการขับเคลื่อนและส่งเสริมทุกมิติ

 
อย่างไรก็ดี ในปี 2566 สสว. ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ดำเนินโครงการ SME Restart 2566 โดยการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มท่องเที่ยว 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ใน 10 พื้นที่ คือ นครราชสีมา อุดรธานี ชลบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ รวมจำนวนกว่า 30 ชุมชน ให้มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) การพัฒนาการเล่าเรื่อง (Storytelling) การสร้าง Digital Content การประสานเครือข่ายธุรกิจแบบ B2B และการท่องเทียวบนโลกเสมือน (Virtual Tour) เพื่อเตรียมพร้อมผู้ประกอบการ SME สู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ เชื่อมโยงชุมชนสร้างรายได้แบบยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น