xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทยาศาสตร์บริการ โชว์ 5 ผลงานเด่น ใช้ วทน.ขับเคลื่อน BCG Model พัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ในงาน“ World Hapex 2023” 13-15 กรกฎาคมนี้ ที่ มอ.หาดใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทยาศาสตร์บริการ โชว์ 5 ผลงานเด่น ใช้ วทน.ขับเคลื่อน BCG Model พัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ในงาน“ World Hapex 2023” 13-15 กรกฎาคมนี้ ที่ มอ.หาดใหญ่ ตอกย้ำความร่วมมือภาครัฐกับผู้ประกอบการ เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
 
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)เปิดเผยว่า วศ. เป็นองค์กรที่มีความพร้อมทั้งด้านการวิจัย พัฒนา และวิเคราะห์ทดสอบโดยห้องปฏิบัติการต่าง ๆ รวมถึงเป็นหนึ่งในองค์กรที่กำหนดมาตรฐานชั้นสูงของประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการสู่ความมีมาตรฐานและความปลอดภัย ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ของ วศ. ได้มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนากระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่น และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทภารกิจและผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วศ. ให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาคได้รับรู้และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น วศ. ได้นำผลงานวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการและสามารถนำไปต่อยอดเชิงการค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม เข้าร่วมจัดนิทรรศการในงานแสดงสินค้าและประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล 2566 หรือ “ World Hapex 2023 ” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
 
สำหรับ 5 ผลงานเด่นที่นำไปจัดแสดงในงาน ฯ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อน BCG Model พัฒนาพื้นที่ภาคใต้” ประกอบด้วย เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ซอสจากพริกไทยสุไหงอุเป ผลิตภัณฑ์สาคูพัทลุงกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากแมลง การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน : ผลิตภัณฑ์วัสดุสัมผัสอาหารจากธรรมชาติ และการจัดทำเกณฑ์ระดับค่าสีเพื่อบ่งชี้คุณภาพของขมิ้นชันและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

โดย “เทคโนโลยีการผลิต ผลิตภัณฑ์ซอสจากพริกไทยสุไหงอุเป” เป็นการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ซอสพริกไทยสุไหงอุเป และการทดสอบคุณภาพ โดยนักวิทยาศาสตร์ของ วศ. ร่วมมือกับเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบพริกไทยในท้องถิ่นและยกระดับมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากพริกไทยสุไหงอุเป ส่วน “ผลิตภัณฑ์สาคูพัทลุงกึ่งสำเร็จรูป” เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สาคูกึ่งสำเร็จรูปขึ้น โดยใช้แป้งสาคูต้นจากจังหวัดพัทลุงเป็นวัตถุดิบ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น จุดเด่นอยู่ที่การลดความซับซ้อนในกระบวนการปรุงสุก ลดระยะเวลาในการเตรียม เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เพียงเติมน้ำร้อนและนำเข้าไมโครเวฟ 3-5 นาที จากนั้นสามารถรับประทานได้ทันที ผู้ประกอบการอาหารสามารถนำผลงานวิจัยไปผลิตเป็นสินค้าจำหน่าย ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและเพิ่มมูลค่าให้กับแป้งสาคูซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น

ขณะที่ “ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากแมลง” เป็นผลงานที่นักวิทยาศาสตร์ วศ. ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกและแนะนำแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ วศ. ช่วยพัฒนาสูตรเส้นสปาเก็ตตี้ เส้นพาสต้า ฯลฯ ที่มีจิ้งหรีดเป็นส่วนประกอบหลัก โดยใช้จิ้งหรีดจากฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด จังหวัดขอนแก่น มาแปรรูปผ่านกรรมวิธีจนได้เส้นพาสต้าที่เหนียวหนึบ รสชาติอร่อย มีกลิ่นรสจิ้งหรีดที่เป็นเอกลักษณ์ เพิ่มความสะดวกในการรับประทาน ลดระยะเวลาในการเตรียม เพียงนำเส้นไปต้มให้สุกแล้วนำไปประกอบอาหารเป็นเมนูจากเส้นได้หลากหลายเมนู มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยจิ้งหรีดจะช่วยเพิ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
 
นอกจากผลงานเด่นในด้านผลิตภัณฑ์อาหาร วศ. ยังให้ “การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน : ผลิตภัณฑ์วัสดุสัมผัสอาหารจากธรรมชาติ” ได้แก่ ภาชนะกาบหมาก เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้าน BCG และนโยบายลด ละ เลิกใช้พลาสติกแบบ Single-use ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการพัฒนากระบวนการหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและข้อกำหนดเฉพาะผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยที่พิจารณาถึงเกณฑ์กำหนดด้านความปลอดภัย เช่น สารปนเปื้อน ความชื้นและจุลินทรีย์ คุณลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น การรั่วซึม ความคงรูป มีกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดสุขลักษณะอนามัยและมีการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับมาตรฐานระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติ

และ “การจัดทำเกณฑ์ระดับค่าสีเพื่อบ่งชี้คุณภาพของขมิ้นชันและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง” เป็นอีกหนึ่ง ผลงานเด่นที่ วศ.ได้วิจัยและพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมุ่งเน้นส่งเสริมกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรให้มีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และนำไปสู่การยกระดับผู้ประกอบการในระดับฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งนี้การใช้เครื่องตรวจวัดค่าสีของผงขมิ้นชันจากแหล่งต่าง ๆ สามารถใช้ในการประเมินปริมาณเคอร์คูมินอยด์ในผงขมิ้นชันได้ จึงเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ต้องใช้ตัวทำละลายในการสกัดตัวอย่าง และสามารถใช้ตรวจสอบขมิ้นชันเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับงานแสดงสินค้าและประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล 2566 หรือ “ World HAPEX 2023” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันฮาลาล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “ฮาลาลเพื่อสุขภาพ” เพื่อให้เกิดโอกาสการขยายตัวของธุรกิจเชิงสุขภาพด้านสินค้าและบริการฮาลาล กระตุ้นนักวิจัย นักวิชาการ บุคลากรภาครัฐและผู้ประกอบการฮาลาลในพื้นที่ให้รับรู้แนวทางการจัดการธุรกิจรูปแบบใหม่ พัฒนาธุรกิจเชิงสุขภาพด้านสินค้าและบริการฮาลาลของตนเอง ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลวิจัย ข้อมูลวิชาการที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าบริโภค อุปโภค และบริการด้านฮาลาลในระดับประเทศและนานาชาติ.


















กำลังโหลดความคิดเห็น