สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อดำเนินการศึกษา การวิจัยพัฒนา และการประยุกต์ใช้นวัตกรรม เพื่อการให้บริการด้านสุขภาพของภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วม
ภายใต้ความร่วมมือนี้ เบื้องต้นกำหนดการดำเนินการใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1.การส่งข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Claim Gateway)
2.การรับเรื่องร้องเรียนระดับเขต และระดับจังหวัด (Traffy Fondue) และจับคู่ความต้องการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาล 3.การให้ปรึกษาด้านการออกแบบคลาวน์ (Cloud Computing)
4.การใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมากและปัญญาประดิษฐ์ (Big Data & AI) รวมทั้ง Dashboard สำหรับการบริหารจัดการ
5.การพัฒนา Roadmap สำหรับการวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์และอวัยวะเทียมในรายการสิทธิประโยชน์ มีระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี นับจากนี้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือกับ สวทช. ครั้งนี้ หนึ่งในนโยบายที่ สปสช. ให้ความสำคัญ คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่ง สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมืออันดีในวันนี้ จะยังให้เกิดประโยชน์กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองทั่วประเทศอย่างแน่นอน
สำหรับบทบาทและหน้าที่ของ สปสช. ภายใต้ความร่วมมือนี้ อาทิ การร่วมกำหนดโจทย์การวิจัยที่ต้องการศึกษาและพัฒนา การสนับสนุนข้อมูลและเปิดช่องทางการวางข้อมูล การร่วมพัฒนาหรือปรับปรุงระบบสารสนเทศหรืออุปกรณ์ทางด้านการแพทย์ตามที่เห็นร่วมกัน รวมทั้งร่วมจัดหาทรัพยากรเพื่อดำเนินการ การมอบหมายผู้รับผิดชอบและผู้ประสานงานเข้าร่วมดำเนินการ รวมถึงอำนวยความสะดวกทีมผู้เชี่ยวชาญของ สวทช. เพื่อดำเนินการตามประเด็นที่ได้กำหนดร่วมกัน
“การศึกษา การวิจัยพัฒนา และการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทั้ง 5 ประเด็นนี้ ได้ผ่านการหารือและกลั่นกรองและวิเคราะห์ร่วมกันระหว่าง สปสช. และ สวทช. ซึ่งจะเป็นส่วนในการเพิ่มศักยภาพการดำเนินการและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ทั้งเป็นการต่อยอดระบบ A-MED Telehealth ระบบบริการทางการแพทย์ทางไกล ในการบันทึกข้อมูลบริการเพื่อส่งเบิกจ่าย และการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ที่เพิ่มเติมในส่วนของไลน์” ..... เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกับ สปสช. ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในวงกว้างและเป็นรูปธรรม สำหรับบทบาทและหน้าที่ของ สวทช. ภายใต้ความร่วมมือนี้ สวทช. จะนำพลังความรู้ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนักวิจัยเข้ามาช่วยสร้างและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับ สปสช.
ที่ผ่านมา สวทช. ได้นำผลงานงานวิจัยและพัฒนามาสนับสนุน ได้แก่ แอปพลิเคชัน ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) : Dashboard สปสช. เพิ่มช่องทางรับข้อเสนอแนะสิทธิบัตรทอง ในการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนและปัญหาการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ระหว่าง สปสช. กับประชาชนให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเรื่องที่ร้องเรียน 766 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง 470 เรื่อง (61.36%) ซึ่งดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 463 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 7 เรื่อง ไม่เกี่ยวข้องและส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 296 เรื่อง (38.64%) เช่น แจ้งเรื่องฝุ่น จราจร และคนทิ้งขยะ เป็นต้น และในปัจจุบัน สปสช. กำลัง เปิดให้ ไลน์ทราฟฟี่ ฟองดูว์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ที่เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อ “กองทุนบัตรทอง” ปี 2566 อีกด้วย
นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ร่วมกับ สปสช. ในการขยายการทำงานร่วมกันจากแพลตฟอร์ม A-MED Telehealth ไปสู่การออกแบบและพัฒนาระบบ e-Claim Gateway ร่วมกัน ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญภายใต้ความร่วมมือนี้ โดยมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ความรวดเร็ว และความถูกต้องในการเบิกเคลมของโรงพยาบาลกับ สปสช.
นอกจากระบบ e-Claim Gateway แล้ว สวทช.ยังได้ร่วมมือกับ สปสช. และ สภาเภสัชกรรม ต่อยอดแพลตฟอร์ม A-MED Telehealth ไปสู่ A-MED Care ระบบบริการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยทั่วไป (Common illnesses) ใน 16 อาการ สำหรับผู้ถือสิทธิบัตรทอง สามารถขอรับยาได้ทันที ปัจจุบันให้บริการมากกว่า 900 ร้านยาคุณภาพ ให้บริการสะสมแล้วมากกว่า 1 แสนครั้ง โดยในปี 2566 ตั้งเป้าหมายขยายผลการให้บริการครอบคลุมร้านยาคุณภาพ 1,500 ร้านยา
“ความร่วมมือของ 2 หน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการนำ วทน. ไปใช้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะช่วยนำมาสู่คุณภาพและบริการสุขภาพที่ดีขึ้นไทยในอนาคต” .... ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวทิ้งท้าย