xs
xsm
sm
md
lg

นัดบอร์ด สปสช.ถกด่วนพรุ่งนี้ เคาะร่าง พ.ร.ฎ.บริหารงบป้องกันโรค "ประกันสังคม-ขรก."

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถกบอร์ด สปสช.ด่วนพรุ่งนี้ เคาะออกร่างพระราชกฤษฎีกา บริหารงบส่งเสริมสุขภาพสิทธิประกันสังคมและข้าราชการ ก่อนเสนอ ครม.ต่อไป สธ.-สปสช.ประสานเสียง ยันประชาชนทุกสิทธิรับบริการตามเดิม ไม่ได้รับผลกระทบ หลังภาคประชาชนจ่อเรียกร้อง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าให้ผู้มีสิทธิประกันสังคม ข้าราชการ ใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบ สปสช. เตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกามอบ สปสช.ดูแลงบสร้างเสริมสุขภาพแก่คนไทยทุกคน

นพ.โอภาสกล่าวว่า งบด้านสุขภาพแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งบการรักษาและงบการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองโรค เป็นต้น สำหรับการรักษาพยาบาล การจัดบริการจะครอบคลุมคนไทยทั้งหมด 66 ล้านคน ผ่าน 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 48 ล้านคน ประกันสังคม 12 ล้านคน และสวัสดิการรักษาพบาบาลข้าราชการ 6 ล้านคน ถือว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่มีปัญหา คือ ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แตอีก 2 กองทุนไม่ได้มีเขียนไว้ แต่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมาตรา 66 สามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีการองรับให้กับกองทุนประกันสังคมและข้าราชการ มีสิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้


สำหรับปี 2566 งบประมาณหลักประกันสุขภาพฯ มี 204,140 ล้านบาท โดย 90% เป็นงบรักษาพยาบาลประมาณ 180,000 ล้านบาท ส่วนนี้ไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 10% ประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นสิทธิบัตรทองงบ 15,000 ล้านบาท ทำให้การส่งเสริมสุขภาพประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ส่วนที่มีปัญหาและมีความเข้าใจไม่ตรงกัน คือ งบสำหรับข้าราชการและประกันสังคม 5,000 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายให้ออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อเอางบประมาณตรงนี้มาใช้ และเป็นการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

บอร์ด สปสช.ประชุม 14 ธันวาคม 2565 ซึ่งกรรมการประกอบด้วยหลายหน่วยงาน ทั้งรัฐ เอกชน นักกฎหมาย วิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิ เอ็นจีโอ มีมติเห็นตรงกันประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ว่ากองทุนไหนสามารถรับบริการ ทั้งดูแลรักษา ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยไม่มีอุปสรรคทางการเงิน และไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยออกพระราชกฤษฎีกาและให้ครม.เห็นชอบ ซึ่งแม้จะเป็น ครม.รักษาการก็สามารถออกได้ แต่ขั้นตอนอาจจะเยอะขึ้น โดย สธ.ให้หน่วยบริการในสังกัดกว่า 1 หมื่นหน่วยงาน ให้บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคประชาชน ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณ สธ.จะร่วมกับสปสช.ดำเนินการ ย้ำว่า สธ.ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและประชาชนได้รับบริการโดยไม่เสียสิทธิ์


ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า หน่วยบริการนอกสังกัด สธ. นั้น สปสช.ได้ประสาน ทั้งของกองทัพ กทม. มหาวิทยาลัย ให้บริการตามปกติเช่นเดียวกัน ให้ความมั่นใจว่าไม่ได้กระทบบริการ ส่วนข้อจำกัดทางกฎหมาย จึงดำเนินการตามมาตรา 9 มาตรา 10 และ 66 โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้สิทธิ์กับหน่วยอื่น ทั้งประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ล่าสุด ประกันสังคมและกรมบัญชีกลางทำจดหมายมาเห็นตรงกันว่าจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยวันที่ 9 มี.ค. เวลา 16.30 น. จะประชุมบอร์ด สปสช.เร่งด่วนตามข้อสั่งการ รมว.สธ.เพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อมีเวลาส่วนหนึ่งในการเสนอ ครม.ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาต่อไป ซึ่งจะรวมถึงข้าราชการสังกัด กทม. เมืองพัทยา รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระต่างๆ ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้เสร็จในครั้งเดียว และยังเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างผ่านเว็บไซต์ สปสช.

"ยืนยันว่าประชาชนไม่มีผลกระทบการรับบริการ หากมีพระราชกฤษฎีกามาแล้ว งบประมาณที่เตรียมไว้ในปี 2566 ก็จะดำเนินการจัดสรรต่อไป" นพ.จเด็จกล่าว


ถามถึงกรณีกลุ่มภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในสิทธิป้องกันโรค นพ.จเด็จกล่าวว่า เรามีการสื่อสารหลายครั้งต่อเนื่อง เหมือนที่สื่อสารในสภาว่าในเดือนมีนาคมจะดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องมาเถียงกันแล้วว่าจะทำอย่างไร เราทำตามพ.ร.บ.หลักประกันฯ มาตรา 9 มาตรา 10 และ 66 สมัยก่อนอาจมีการท้วงว่า ทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ สิ่งที่มีข้อเสนอต่างๆในวันนี้ ทั้งสธ.และสปสช.ได้เดินหน้าขับเคลื่อนโดยใช้ 3 มาตรานี้ จะทำให้ระบบยั่งยืนกว่า แทนใช้กระบวนการทางบริหารเป็นครั้งๆไป ส่วนประชาชนที่กังวลว่าจะไม่ได้รับบริการยืนยันว่าเราจัดเตรียมตรงนี้ร่วมกับสธ. ซึ่งปลัด สธ.ก็ยืนยันว่า หน่วยบริการ สธ.ยังให้การจัดบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคอยู่ ส่วนสังกัดอื่น สปสช.ก็ไปประสาน ก็ยินดีให้บริการ แต่หากไม่สะดวกจะให้แจ้งมา สปสช.เพื่อจัดระบบส่งต่อ เพื่อให้ได้รับบริการต่อไปอาจจะต้องมีการสื่อสารอีกครั้ง

"ที่ผ่านมามติบอร์ดมีการขึ้นเว็บไซต์ทุกครั้ง มีการสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ แต่การเคลื่อนไหวก็ถือว่าเป็นสิทธิ แต่หากมีโอกาสเราก็จะขอชี้แจงในกระบวนการของเรา ส่วนใหญ่ที่มากังวลในเรื่องการให้บริการ อย่างเรื่องท้องไม่พร้อมจริงๆ ก็เป็นปัญหาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นในเรื่องของผู้ให้บริการ ซึ่งเมื่อให้ข้อมูลมาแล้วก็ยินดีที่จะชี้แจง ยืนยันว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่ไม่กระทบบริการ แต่หากกระทบก็ให้แจ้งมาจะดำเนินการแก้ปัญหา" นพ.จเด็จกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น