xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ฯ ญี่ปุ่นให้กำเนิดลูกหนูจากเซลล์ของ “หนูเพศผู้” จำนวน 2 ตัว สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิทยาศาสตร์ประจำ มหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการให้กำเนิดลูกหนู จากเซลล์ของหนูตัวผู้จำนวน 2 ตัว จากปกติที่ต้องใช้เซลล์จากหนูตัวผู้และหนูตัวเมีย ด้วยวิธีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียจากเซลล์ของหนูตัวผู้ ซึ่งเป็นความพยายามในการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับกระบวนการสืบพันธุ์ ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นการปูทางไปสู่โอกาสในการรักษาภาวะมีบุตรยาก และการให้กำเนิดลูกของคู่รักเพศเดียวกันในอนาคต โดยถือเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง หรือ โอโอไซต์ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากเซลล์เพศผู้

ฮายาชิ คัตสึฮิโกะ นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยคิวชู ผู้ทำการวิจัยและบุกเบิกด้านการสร้างไข่และสเปิร์มในห้องปฏิบัติการ กล่าวว่า นี่เป็นกรณีแรกของการสร้างไข่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แข็งแรงจากเซลล์เพศชาย ซึ่งโดยปกติ เพศของสิ่งมีชีวิตจะถูกกำหนดโดยโครโมโซมเพศซึ่งจะมีอยู่ในเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายสิ่งมีชีวิต เพศชายจะเป็นโครโมโซม XY ส่วนเพศหญิงจะเป็นโครโมโซม XX


ในการทดลองของฮายาชิ ทีมวิจัยได้อาศัยลำดับขั้นตอนที่ซับซ้อนในการเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังของหนูตัวผู้ซึ่งมีโครโมโซม XY มาเปลี่ยนเป็นเซลล์ไข่ที่มีโครโมโซม XX เซลล์ผิวหนังของหนูตัวผู้ได้รับการโปรแกรมใหม่ให้อยู่ในสภาพเหมือนเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) เพื่อสร้างเซลล์ที่เรียกว่า Induced Pluripotent Stem (iPS) ซึ่งโครโมโซม Y ของเซลล์เหล่านี้จะถูกลบออกและแทนที่ด้วยโครโมโซม X ที่ “ยืม” มาจากเซลล์อื่นเพื่อผลิตเซลล์ iPS ที่มีโครโมโซม X สองตัวที่เหมือนกัน

“กลอุบายของสิ่งนี้ ซึ่งเป็นกลอุบายที่ใหญ่ที่สุด คือ การสำเนาโครโมโซม X เราพยายามที่จะสร้างวิธีเพื่อสำเนาโครโมโซม X ขึ้นมา”


ก่อนหน้านี้ เคยมีงานวิจัยและประสบความสำเร็จในการให้กำเนิดหนูจากหนูตัวผู้ 2 ตัวมาแล้ว แต่ด้วยเทคนิคที่ยุ่งยาก และวิธีทางพันธุวิศวกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มันกำเนิดมาจากไข่ที่พัฒนามาจากเซลล์เพศผู้ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ โดยทางทีมนักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะใช้วิธีการเดียวกันนี้กับเซลล์ชองมนุษย์ แม้ว่าจะมีอุปสรรคค่อนข้างมากและซับซ้อนกว่าการทดลองด้วยเซลล์ของหนูมาก เพราะเซลล์มนุษย์ต้องใช้เวลาเพาะเลี้ยงนานกว่ามากเพื่อผลิตไข่ที่โตเต็มที่ ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงที่เซลล์จะได้รับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ไม่พึงประสงค์

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
The Guardian / pptvhd36.com
กำลังโหลดความคิดเห็น