xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านมา 20 ปี 200 ประเทศ พร้อมใจลงนาม “สนธิสัญญาทะเลหลวง” กำหนด 30% ของทะเลทั่วโลกเป็น “พื้นที่คุ้มครอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นเรื่องที่น่ายินดีในการปกป้องพื้นที่ทะเล เมื่อ 200 ประเทศ บนโลกแห่งนี้ได้ร่วมใจกัน ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงชื่อว่า “High Seas Treaty” หรือ "สนธิสัญญาทะเลหลวง" ที่มีขึ้นเพื่อที่จะกำหนดให้พื้นที่ 30% ของทะเลทั่วโลกเป็น “พื้นที่คุ้มครอง” ภายในปี 2030 เพื่อปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติใต้น้ำ ที่ศูนย์บัญชาการใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์ก หลังจากหารือมา 2 อาทิตย์ ซึ่งก่อนที่จะมีการตกลงในครั้งนี้ ก็มีการหารือกันอยู่หลายครั้งในเวลาเกือบ 20 ปี

สนธิสัญญาดังกล่าว เป็นข้อตกลงระดับนานาชาติเกี่ยวกับการปกป้องทะเล โดยก่อนหน้านี้มีชื่อว่า “UN Convention on the Law of the Sea” หรือ “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล” เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในปี 1982 ซึ่งได้กำหนดให้พื้นที่ที่เรียกว่า high seas หรือพื้นที่น่านน้ำสากล ที่ทุกประเทศมีสิทธิเข้ามาทำการประมงและทำงานวิจัย แต่ในพื้นที่นี้มีแค่ 1.2% ที่เป็นพื้นที่คุ้มครอง ดังนั้น สิ่งมีชีวิตใต้น้ำที่อยู่นอกพื้นที่นี้จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบทั้งจากการประมงเกินขนาด การขนส่งทางเรือ และภาวะโลกรวน


ข้อมูลได้มีการรายงานการสำรวจครั้งล่าสุดขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เผยว่า สิ่งมีชีวิตใต้น้ำของโลกเรามีถึง 10% ที่เสี่ยงสูญพันธุ์

พื้นที่คุ้มครองใหม่ที่มีถึง 30% ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2030 จะช่วยกำหนดว่าจะมีการประมงเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน เส้นทางใดบ้างที่สามารถใช้ในการเดินเรือขนส่งสินค้า และสามารถใช้ในการทำวิจัยและทำเหมืองใต้ทะเล ที่นำแร่ธาตุใต้ทะเลลึก 200 เมตรหรือมากกว่าออกมา


ในด้านความคิดเห็นของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นกังวลเรื่องการทำเหมืองใต้ทะเลว่าอาจจะรบกวนพื้นที่สืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และสร้างมลพิษทางเสียง ปล่อยสารเคมี ให้แก่สิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ซึ่งหน่วยงานที่ดูเรื่องการจดทะเบียนทำกิจกรรมเหล่านี้ The International Seabed Authority ก็ชี้ว่า ในอนาคต ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นใต้พื้นทะเลจะถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่เข้มงวด เพื่อที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ภายใต้ความรับผิดชอบ และส่งผลกระทบน้อยทีสุด

สิ่งที่ทำให้พวกเขาพูดคุยกันนานคือเรื่องของงบประมาณ สิทธิในการประมง และการเข้าถึงและแบ่งปันทรัพยากรทางทะเล เพราะทรัพยากรเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสังคม เช่นในวงการเภสัช ในวงการอุตสาหรรม และในวงการอาหาร ปัญหาคือประเทศที่รวยมีงบเพียงพอที่จะเข้าไปในพื้นที่ใต้ทะเลเพื่อหาทรัพยากรดี ๆ แต่ประเทศที่ยากจน แม้ไม่มีงบแต่ก็อยากที่จะได้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน มากไปกว่านั้น ด้วยความกว้างใหญ่ของทะเล จึงไม่มีใครรู้ว่าทรัพยากรเหล่านี้มีค่ามากแค่ไหนและก็ไม่รู้ว่ควรจะแบ่งกันอย่างไรด้วย


อย่างไรก็ตามการลงนามสนธิสัญญาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าจะมีการเห็นต่าง การถกเถียง สุดท้ายก็สามารถทำข้อตกลงนี้ได้ เพื่อจุดประสงค์สูงสุดคือการปกป้อง ให้ทะเลสามารถต่อสู้กับภาวะโลกรวนและความต้องการของผู้คนกว่าพันล้านคนได้ แต่นี่ก็ถือว่ายังไม่สิ้นสุด ประเทศที่ทำข้อตกลงจะมาเจอกันอีกเพื่อที่จะตกลงเรื่องการนำข้อตกลงไปใช้อย่างเป็นทางการ ก่อนที่ข้อตกลงนี้จะถูกนำไปใช้จริง

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
Environman / BBC - Ocean treaty / The Guardian - High seas treaty / CNN


กำลังโหลดความคิดเห็น