xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) นักวิจัยไทยใช้ “เชื้อราแดงในข้าว” เปลี่ยนเป็นครีมแก้สิว สารต้านอนุมูลอิสระสูง ประโยชน์ยาวนานกว่าพันปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีได้มีการแชร์ภาพ "หุงข้าวขาว แล้วเป็นสีแดง เกิดจากมีราแดงปนอยู่" ในโซเชียลมีเดีย และเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้มีการโพสต์อธิบายคร่าวๆ ว่า 

“ข้าวเหนียวมานึ่ง แล้วกลายเป็นข้าวสีแดงปนอยู่ เกิดจากการที่มีเชื้อราสีแดง เกาะปะปนอยู่ที่ข้าวบางเมล็ด ซึ่งแม้จะมีน้อยจนมองไม่ค่อยเห็น แต่สารสีแดงที่ราสร้างขึ้น มันละลายน้ำได้ ออกมาในน้ำที่หุงข้าว และซึมเข้าไปทั่วข้าวเมล็ดอื่น ... สรุปคือ ถ้าเป็นราแดงตัวนี้ ข้าวสุกแล้วก็กินได้ครับ”


Science MGROnline จึงขอพาไปทำความรู้จัก “เชื้อราแดง” ที่อยู่ในข้าว และงานวิจัยที่ได้นำข้าวสีแดงที่เกิดจากราแดงมาผลิตเป็น “ครีมพอกหน้าต้านสิว” ให้ได้รู้จักกัน



ดร.ประมวล ทรายทอง (ซ้าย) -  ผศ.ดร.ศรีสุดา ธำรงพิรพงษ์ (ขวา)
ดร.ประมวล ทรายทอง นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายว่า สีแดงที่เกิดขึ้นในข้าวนั้น เกิดขึ้นจากเชื้อราที่มีชื่อว่า “เชื้อราโมแนสคัส” (Monasscut spp.) เชื้อราชนิดนี้มีประวัติการนำมาใช้ในด้านอาหารเป็นระยะเวลานานแล้วกว่าพันปี และในประเทศไทยก็ได้มีการนำมาใช้ทำอาหาร อาทิ การทำหู้ยี้ เหล้าแดง สีผสมอาหาร ในช่วงการเจริญเติบโตของเชื้อราจะให้สารสีแดง จะมีการผลิตสารต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ สารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงมาก และยังมีสารที่มีสรรพคุณในการนำมารักษาโรคต่างๆ เช่น โรคอาหารไม่ย่อย กล้ามเนื้อฟอกช้ำ ท้องร่วง อีกทั้งยังถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของตำหรับยาจีนหลายขนานอีกด้วย


ด้วยเหตุนี้ จึงได้ร่วมทำโครงการวิจัย “ครีมพอกหน้าต้านสิวจากสารสกัดข้าวแดง" ร่วมกับ ผศ.ดร.ศรีสุดา ธำรงพิรพงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการนำ “เชื้อราแดง” หรือ “เชื้อราโมแนสคัส” (Monasscut spp.) มาเพราะเลี้ยงใน “ข้าวกล้องล้นยุ้ง” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีสีแดงตามธรรมชาติและมีที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่สูง เชื้อราแดงในข้าวกล้องจะช่วยเพิ่มความเข้มของสีแดงให้กับข้าวกล้อง และเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระให้มากยิ่งขึ้น

เมื่อได้มีการสกัดสารทางชีวภาพจากข้าวกล้อง หรือข้าวแดงที่เลี้ยงร่วมกับเชื้อราชนิดนี้ จะพบว่าสารสกัดจากข้าวแดงจะมีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านต้านอนุมูลอิสระ และยังมีผลยับยั้งเชื่อก่อสิว นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเมลานิน หรือเซลล์เม็ดสีสร้างจากเซลล์ผิวหนังที่ทำให้ผิวมีสีคล้ำขึ้น และได้มีการนำไปทดสอบความเป็นพิษในระดับเซลล์แล้ว พบว่าสารนี้ไม่มีความเป็นพิษ จึงได้นำสารสกัดจากข้าวแดงมาผลิตเป็นครีมพอกหน้า ภายใต้แบรนด์ “HOMKRAJORN Cosmetics” โดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต



ในเรื่องการนำข้าวลุ้นยุ้งมาเป็นวัตถุดิบในการเลี้ยงเชื้อราแดงนั้น ดร.ศรีสุดา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“ในปัจจุบันได้มีการรณรงค์ให้มีการปลูกข้าวพื้นเมือง เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และมีการส่งเสริมให้มีการใช้ผลผลิตทางการเกษตรมาต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จึงได้เห็นว่า “ข้าวกล้องล้นยุ้ง” ซึ่งข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดจันทบุรี มีความพิเศษคือมีวิตามินดีมากกว่าข้าวขาวธรรมดา จึงได้นำข้าวชนิดนี้ มาวิจัยเพื่อสร้างมูลให้กับข้าวพื้นเมืองให้เพิ่มมากขึ้น”




"เชื้อราแดง” หรือ เชื้อราโมแนสคัส (Monasscut spp.) ที่เป็นต้นเหตุทำให้ข้าวมีสีแดง จึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด การนำเชื้อราที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์นี้ จึงถือเป็นการพัฒนามาจากฐานรากของรากหญ้า เพิ่มมูลค่าจากสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น