ในปี 2565 นับเป็นปีที่หลายประเทศทั่วโลกได้มีการพัฒนาผลงานด้านวิทยาศาสตร์ออกมาอย่างมากมาย และประสบความสำเร็จในการนำไปใช้งานได้จริง รวมถึงประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้มีการพัฒนาผลงานด้านวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ด้าน และประสบผลสำเร็จ ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งปณิธานไว้ และสามารถใช้งานได้จริงตอบโจทย์สังคมได้อย่างยั่งยืน
Science MGROnline จึงขอนำบางส่วนของผลงานจากฝีมือนักวิจัยไทย ในปี พ.ศ. 2565 ที่น่าสนใจ มาให้ได้รู้จักกันในวันสุดท้ายของปีนี้
เริ่มต้นด้วยงานวิจัย “โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย ที่เป็นหนึ่งเดียวในอาเซียน 1 ใน 9 ของโลก ผลงานรางวัลประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น 2564 “โดรนแปรอักษร” เป็นอีกหนึ่งผลงานนวัตกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ และสร้างสวยงามให้กับท้องฟ้ายามค่ำคืน ด้วยการแต่งเติมท้องฟ้าให้มีสีสันด้วยโดรนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากฝีมือคนไทย ที่สามารถบินแปรอังษรเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ได้สูงสุดถึงห้าพันลำ ซึ่งได้กลายเป็นโดรนแปรอักษรหนึ่งเดียวในอาเซียน และ 1 ใน 9 ของโลก พร้อมกับยังการต่อยอดปรับระบบซอฟต์แวร์ไปใช้ในการแพทย์ ขนส่งสิ่งของ และดับเพลิง ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น โดยมี อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เจ้าของผลงาน Drone Swarm Software นวัตกรรมการเรียนรู้การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร
อ่าน – ชมคลิป : ความรู้จัก “โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย! ที่ หนึ่งเดียวในอาเซียน 1 ใน 9 ของโลก ผลงานรางวัลประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น 2564 https://mgronline.com/science/detail/9650000012828
แม้ว่าในปี 2565 นี้ ประเทศไทยเราจะเสียแชมป์ให้กับข้าวสายพันธุ์ "ผกาลำดวน" ข้าวหอมมะลิของประเทศกัมพูชา ในเวทีการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลกประจำปี 2022 (The World's Best Rice 2022) แต่ในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวอื่นๆ ประเทศไทยก็ไม่ได้น้อยหน้าประเทศใด เพราะในปีนี้ ทางกรมการข้าวได้พัฒนานวัตกรรมข้าวสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 5 สายพันธุ์ ซึ่งได้พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ว่า “ทำอย่างไรให้ชาวนาจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการปลูกข้าว จึงได้ 3 หัวข้อในการตีโจทย์ในเรื่องนี้คือ 1.ทำอย่างไรให้การปลูกข้าวในแต่ละครั้งได้ผลผลิตสูง 2.พันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานต่อโรค แมลงศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุนในการป้องกัน และ 3.ทำอย่างไร ผลผลิตจากการปลูกข้าวนั้น จะได้ออกสู่ตลาดโลก เพราะข้าวไทยต้องมีคุณภาพข้าวที่ดี ตรงตามมาตรฐานความต้องการของตลาดสากล
เพื่อตอบโจทย์ในการช่วยลดต้นทุน ลดความเสี่ยงในเรื่องสภาพอากาศ และเพิ่มปริมาณผลผลิต เพิ่มคุณภาพในการส่งออกสูตลาดโลก จึงได้มีการพัฒนา “5 ข้าวพันธุ์ใหม่” ซึ่งได้เป็นความหวังใหม่ชาวนาไทยที่จะได้มีรายได้ที่ยั่งยืน ได้แก่ 1.ข้าวขาวพื้นนุ่ม SPR08092 , 2.ข้าวขาวพื้นนุ่ม CNT15171 ,3.ข้าวหอมไทย Bioh95-CNT 4.ข้าวขาวพื้นแข็ง และ 5.ข้าวขาวพื้นแข็ง CNT07001
อ่าน – ชมคลิป :รู้จัก “5 ข้าวพันธุ์ใหม่” ความหวังใหม่ชาวนาไทย แข็งแต่หอม ทนน้ำท่วมฉับพลัน อายุเกี่ยวสั้น แข็งแกร่งทุกฤดูกาล https://m.mgronline.com/science/detail/9650000092150
“พลังงานจากลม” เป็นอีกหนึ่งพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ที่ในปัจจุบันผู้คนต่างให้ความสนใจกันมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยลดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งานวิจัย “กังหันลมหอยแมลงภู่ผลิตไฟฟ้า” (The Mussel turbines) โดย ดร.สุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ถือเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากสามารถนำไปใช้งานได้จริง ในพื้นที่ ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว อ.คลองท่อม จ.กระบี่
กังหันลมหอยแมลงภู่ผลิตไฟฟ้า เป็นการนำนำอัตลักษณ์วิถีชีวิตการเลี้ยงหอยแมลงภู่ มาต่อยอดประดิษฐ์เป็นกังหันแนวตั้ง ที่ได้ใช้รูปแบบอันโดดเด่นของเปลือกหอยแมลงภู่ของชุมชนที่สุดของประเทศไทย มาออกแบบเป็นใบพัดกังหันลม สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทุกช่วงเวลา และยังสร้างสีสันให้กับบริเวณที่ติดตั้งจนกลายเป็นจุดเช็คอินที่สวยงาม
อ่าน – ชมคลิป : ถอดแบบ “เปลือกหอยแมลงภู่” ทำกังหันผลิตไฟฟ้า ชูอัตลักษณ์ชุมชน ตอบโจทย์การสร้างพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
แม้การสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่การตรวจคัดกรองโรคยังถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดของโรคอีกครั้งในอนาคต “เครื่องตรวจโควิด-19 แบบเป่า” หนึ่งในนวัตกรรมการตรวจคัดกรองโควิด - 19 ฝีมือนักวิจัยไทย ที่รู้ผลเร็วใน 5 นาที แม่นยำสูง 97% ตอบโจทย์การคัดกรองรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดขั้นตอน ลดการสัมผัสร่างกาย ลดระยะเวลาได้เป็นอย่างดี
นวัตกรรม “เครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด - 19 วิเคราะห์จากลมหายใจ” เป็นงานวิจัยที่มี ดร.เธียร์สิทธิ์ นาสัมพันธ์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก จากภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะผู้พัฒนา โดยเป็นการสร้างเครื่องสำหรับวิเคราะห์ลมหายใจ เพื่อจำแนกกลิ่นที่แตกต่างกันของคนติดเชื้อกับคนไม่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้เดิม ที่มีการพัฒนาเครื่องที่วิเคราะห์ลมหายใจเพื่อคัดกรองโรคต่างๆ
อ่าน – ชมคลิป : “เครื่องตรวจโควิด-19 แบบเป่า” ฝีมือนักวิจัยไทย ตรวจแบบไม่เจ็บตัว รู้ผลเร็วใน 5 นาที แม่นยำสูง 97%
(ชมคลิป) “เครื่องตรวจโควิด-19 แบบเป่า” ฝีมือนักวิจัยไทย ตรวจแบบไม่เจ็บตัว รู้ผลเร็วใน 5 นาที แม่นยำสูง 97% (mgronline.com)
2565 ถือได้ว่าเป็นปีทองของงานวิจัยด้านเกษตรของไทย เพราะมีหลายๆ ผลงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการนำไปใช้งานได้จริงและตรงตามวัตถุประสงค์
“Magik Growth” นวัตกรรมถุงห่อทุเรียนสีแดง ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่ช่วยทำให้ “ทุเรียนไทย” ผลไม้ลำดับต้นๆ ที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ มีคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น โดยเป็นนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนเกษตรสวนทุเรียน ในการดูแลรักษาผลทุเรียนจากแมลงศัตรูพืชและสภาพอากาศที่แปรปรวน ในช่วงฤดูกาลผลิตระหว่างรอผลสมบูรณ์เพื่อตัดขาย และสีแดงยังทำให้ขนาดผลเพิ่มขึ้น สีเปลือกสวยขึ้น พร้อมต่อยอดให้เป็นต้นแบบทุเรียนพรีเมี่ยมเพื่อการส่งออก เพิ่มมูลค่าให้สินค้าการเกษตร
อ่าน – ชมคลิป : “Magik Growth” นวัตกรรมถุงห่อทุเรียนสีแดง ให้ผลใหญ่เปลือกบางสวย ต่อยอดสู่เกรดพรีเมี่ยมส่งขายต่างประเทศ https://mgronline.com/science/detail/9650000037091
และในปีนี้ประเทศไทยเราก็ยังมี “ห้องแล็บโคลนนิ่งอินทผลัมแห่งแรก"เกิดขึ้น เพื่อลดปัญหาในเรื่องการพึ่งพาการนำเข้าต้นพันธุ์เพศเมียที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศในราคาที่สูง เนื่องจาก การเติบโตช้าของพืชตระกูลปาล์ม และการขยายพันธุ์ด้วยการเพราะเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สามารถกำหนดเพศได้ งานวิจัยเรื่องนี้จึงทำให้ช่วยลดระยะเวลาในการระบุเพศ และการันตีถึงความสม่ำเสมอของคุณภาพและปริมาณของผลิตผลอินทผลัมที่จะออกสู่ตลาด
อ่าน – ชมคลิป : แห่งแรกในไทย! “ห้องแล็บโคลนนิ่งอินทผลัม” ปลูกไม่ต้องลุ้นเพศ ลดเสี่ยงลดทุนนำเข้าต้นพันธุ์
https://mgronline.com/science/detail/9650000070404
ผลงานของนักวิจัยไทย ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ยังมีผลงานอีกมากมายที่รอการนำมาเผยแพร่สู่สังคม เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ ได้อย่างตรงจุด ซึ่งงานวิจัยต่างๆ นั้น ได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานต่างๆ หน่วยงาน อาทิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นทุกๆ หน่วยงานอยู่ภายใต้สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่หน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ติดตามอ่านและชมคลิป วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม ในเรื่องอื่นๆ ได้ที่ลิงค์นี้ https://mgronline.com/science