แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จะดูคลี่คลายไปทางที่ดีขึ้น แต่การคัดกรองการติดเชื้อก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อลดการแพร่ระบาดที่อาจจะกลับมาอีกครั้งในอนาคต “เครื่องตรวจโควิด-19 แบบเป่า” หนึ่งในนวัตกรรมการตรวจคัดกรองโควิด - 19 ฝีมือนักวิจัยไทย ที่รู้ผลเร็วใน 5 นาที แม่นยำสูง 97% ตอบโจทย์การคัดกรองรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดขั้นตอน ลดการสัมผัสร่างกาย ลดระยะเวลาได้เป็นอย่างดี
ดร.เธียร์สิทธิ์ นาสัมพันธ์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก จากภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะผู้พัฒนานวัตกรรม “เครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด - 19 วิเคราะห์จากลมหายใจ” เล่าว่า งานวิจัยนี้เป็นการสร้างเครื่องสำหรับวิเคราะห์ลมหายใจ เพื่อจำแนกกลิ่นที่แตกต่างกันของคนติดเชื้อกับคนไม่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้เดิม ที่มีการพัฒนาเครื่องที่วิเคราะห์ลมหายใจเพื่อคัดกรองโรคต่างๆ
นวัตกรรมเครื่องตรวจโควิด - 19 แบบเป่า เป็นความร่วมมือ ระหว่างทีมนักวิจัยไทย สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โรงพยาบาลราชวิถี และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ต้นแบบของเครื่องนั้นมาจากเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในกระแสเลือดโดยใช้ลมหายใจ ซึ่งใช้งานกับโรคเบาหวานมาแล้วกว่า 10 ปี เป็นการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่าจมูกอิเล็กทรอนิกส์ หรือก๊าซเซ็นเซอร์ มาตรวจวัดสารระเหยอินทรีย์ หรือกลิ่นที่เป็นสารไบโอมาร์กเกอร์จากลมหายใจ ซึ่งทีมวิจัยมีฐานข้อมูลที่สามารถจดจำและจำแนกกลิ่นที่แตกต่าง ระหว่างคนที่ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อได้ และในช่วง 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา จึงเกิดแนวคิดในการฟอร์มทีมที่จะนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ ต่อยอดกับความเชี่ยวชาญของหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ขึ้น ที่สามารถรู้ผลเร็วภายใน 5 นาที ให้ความแม่นยำสูง 97% เมื่อคำนวนแล้วจะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่เกิน 10 บาทต่อคน
วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่มีความไว(Sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) สูง สามารถรู้ผลตรวจได้ภายใน 5 นาที ทำให้สามารถทำการคัดแยกผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อให้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที และลดโอกาสในการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในวงกว้างได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่เกิน 10 บาท/คน
ในปัจจุบันนวัตกรรมนี้ได้มีการนำมาใช้ โดยมีการอนุญาตทำการทดสอบในคนอย่างเป็นทางการ และเก็บตัวอย่างมากขึ้นที่โรงพยาบาลราชวิถี อีกทั้งได้ขอจดสิทธิบัตรแล้ว 12 ประเทศใน 6 ทวีป และอยู่ระหว่างการดำเนินการส่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีคุณภาพ รวมถึงมีแผนในการขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรม บัญชีสิ่งประดิษฐ์ และการทำมาตรฐานต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับจะสามารถผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปีนี้ และอนาคตจะสามารถประยุกต์ใช้งานเครื่องดังกล่าวกับการตรวจคัดกรองโรคอื่นๆ ที่ใช้ลมหายใจเป็นตัวบ่งชี้หรือบ่งบอกสภาวะผิดปกติได้