การนำ “ข้าวเปลือก” ไปตากแดด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมจากชาวนาไทย ในการช่วยลดความชื้นของข้าวเลือก ซึ่งวิธีนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเปลือกเนื่องจากทางโรงสีที่รับซื้อข้าวเปลือกจะมีการตรวจวัดค่าความชื่นก่อนรับซื้อ และในการนำข้าวเปลือกไปตากแดดนั้น จะต้องมีการนำไปตากกับพื้นราบ ทำให้ชาวนามีความลำบากในการเก็บใน แต่ละครั้งต้องใช้เวลาและกำลังคนที่มากในการช่วยลำเลียงข้าวเปลือก
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์มงคล ใจหาญ หัวหน้าแผนกช่างกลเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี จึงได้ประดิษฐ์ “เครื่องลำเลียงข้าวเปลือก” เพื่อตอบโจทย์ในการเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยชาวนาในการเก็บข้าวเปลือกที่ตากแดดไว้ ให้ประหยัดเวลาและใช้กำลังคนน้อยลง
จุดเริ่มต้นในการประดิษฐ์เครื่องลำเรียงข้าวเปลือก อาจารย์มงคล เล่าว่า ชาวนาตามชนบทส่วนใหญ่ เมื่อมีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็จะนำข้าวเปลือกที่ได้มาตากแดด เพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเปลือกด้วยการใช้แสงแดดลดความชื้น เนื่องจากในการนำข้าวเลือกไปขายที่โรงสี หากข้าวเปลือกที่มีความชื้นทางโรงสีก็จะให้ราคารับซื้อที่ต่ำลง แต่หากข้าวมีความชื้นต่ำก็จะได้ราคาที่มากขึ้น
แต่ด้วยการนำข้าวเปลือกไปตากแดด ต้องใช้เวลาและกำลังคนในการเก็บข้าวที่แห้งแล้ว และข้าวเปลือกที่ตากไว้ในพื้นราบก็ยังเก็บได้ค่อนข้างยาก ทำให้ชาวนาต้องมีต้นทุนที่มากขึ้นในการจ้างแรงงานในการมาช่วยเก็บ หรือหากต้องเก็บเองก็ต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก
เครื่องลำเลียงข้าวเปลือกจึงได้ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ โดยตัวเครื่องเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานลมดูด และลำเลียงผ่านท่อลำเลียงไปสู่ภาชนะที่จะใส่ เช่น กระสอบ ยุ้งฉาง หรือรถบรรทุกที่จะใช้ลำเลียงข้าวเปลือก ซึ่งใช้กำลังคนน้อย ช่วยประหยัดเวลา และประหยัดต้นทุนชาวนาได้อย่างมาก อีกทั้งในปัจจุบันมีสภาวะอากาศแปรปรวน การตากข้าวต้องดูฟ้าฝน หากจะมีฝนก็สามารถเก็บข้าวเปลือกที่ตากแดดได้อย่างรวดเร็ว
ในเรื่องของการต่อยอดในอนาคต จะมีการพัฒนาเครื่องลำเลียงข้าวเปลือกให้สามารถใช้พลังงานจากแก๊สโซฮอล์ได้ เนื่องจากตัวเครื่องในปัจจุบันใช้พลังงานจากไฟฟ้า ซึ่งบางพื้นที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงจึงไม่สามารถใช้งานได้ จึงจะมีการพัฒนาในเรื่องนี้เพื่อที่ชาวนาจะนำเครื่องลำเรียงข้าวเปลือกไปใช้ได้ในทุกที่ที่ต้องการ
เครื่องลำเลียงข้าวเปลือกจึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจในการตอบโจทย์ชาวนาไทย ที่ช่วยลดต้นทุนและกำลังคน ประหยัดเวลา ทำให้ชาวนามีกำไรจากการขายข้าวมากขึ้น และยังเป็นหนึ่งในผลงานเทคโนโลยีเกษตรที่ได้รับความสนใจในการเข้าชมภายในงาน "วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี" ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติอีกด้วย