รัฐบาลประเดิมโอนเงินงวดแรกตามมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไปยังชาวนาทั่วประเทศ จำนวน 14,531 ล้านบาท จากเป้าหมายรวม 81,265 ล้านบาท ผ่านโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ และโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 พร้อมมาตรการคู่ขนาน โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ที่เกษตรกรไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แล้วยังได้รับเงินช่วยเหลือค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกอีก 1,500 บาทต่อตัน และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% มุ่งเป้าหมายเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านครัวเรือน
วันนี้ (24 พ.ย.) ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จังหวัดเพชรบูรณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในกิจกรรมส่งมอบเงินตามมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เป็นวันแรก โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้บริหารและผู้แทนจากส่วนงานต่าง ๆ พร้อมด้วยเกษตรกรในเขตจังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมกิจกรรม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภัยธรรมชาติ และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมอบนโยบายให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่าน 4 โครงการ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่าย และพัฒนาศักยภาพในการผลิต เพื่อให้มีโอกาสขายข้าวเปลือกในราคาที่สูงขึ้น วงเงินรวม 81,265 ล้านบาท ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 4.68 ครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2566 ประกอบด้วย มาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่
1) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต และสร้างขวัญกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี ในการเพิ่มโอกาสในการขายข้าวในราคาที่สูงและมีรายได้มากขึ้น โดยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 2565/66 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 55,083 ล้านบาท โดยในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 77,452 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 932 ล้านบาท
2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภัยธรรมชาติ โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละ ไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตันวงเงิน วงเงินงบประมาณ 18,700 ล้านบาท
สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงตามข้อมูลที่ได้รับจากกรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 1-6 โดยเกษตรกรสามารถถอนเงินได้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 รวมทั้งสิ้น 1.68 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวนกว่า 4,516 ล้านบาท สำหรับพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการโอนเงินให้เกษตรกร จำนวน 42,008 ครัวเรือน วงเงิน 143 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile และ A-Mobile Plus ตลอด 24 ชั่วโมงและจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสามารถใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ
ด้านมาตรการคู่ขนาน ที่จะช่วยดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ได้แก่ 3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงินสินเชื่อรวม 25,590 ล้านบาท กรณีชำระคืนภายใน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย (รัฐบาลรับภาระจ่ายแทน) ตั้งเป้ากักเก็บปริมาณข้าวเปลือกกว่า 2.5 ล้านตัน โดยคุณสมบัติข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 และสีได้ต้นข้าวไม่ต่ำกว่า 20 กรัม โดยในส่วนข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม) กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 10,400 –11,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 8,900 – 9,500 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 5,400 บาท/ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 7,300 บาท/ตัน และข้าวเหนียว 8,600 บาท/ตัน โดยเกษตรกร กู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรและชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท กรณีเกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก 1,500 บาทต่อตัน ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 และภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง 30 กรกฎาคม 2566 วงเงินงบประมาณ 7,107 ล้านบาท
4) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 สำหรับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป กำหนดวงเงินกู้สำหรับสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละ ไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งคิดจากสถาบันฯ เพียงร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธันวาคม 2566 วงเงินงบประมาณ 375 ล้านบาท