xs
xsm
sm
md
lg

วว. อบรมเกษตรกร จ.อุดรฯ ใช้ “การขยายสารชีวภัณฑ์ด้วยถังขยายชีวภัณฑ์" แก้ปัญหาการควบคุมศัตรูพืช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยแห่งประเทศไทย (วว.) จัดอบรมเรื่อง “การขยายสารชีวภัณฑ์ด้วยถังขยายชีวภัณฑ์" แก่เกษตรกรในพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี เพื่อแก้ปัญหาการควบคุมศัตรูพืช ขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน

นายเรวัตร จินดาเจี่ย นักวิจัย สถานีวิจัยลำตะคอง วว. ในฐานะหัวหน้าชุดแผนการดำเนินงานการวิจัยและพัฒนากระบวนการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของถั่วเหลืองในสภาวะเครียดจากภัยแล้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ดร.ตันติมา กำลัง นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) พร้อมคณะนักวิจัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การขยายสารชีวภัณฑ์ด้วยถังขยายชีวภัณฑ์ระดับชุมชน” พร้อมมอบถังขยายชีวภัณฑ์ วว. ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 50 ราย โอกาสนี้คณะเกษตรอำภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย นายวิทูล ศรีบุญเลิศ เกษตรอำเภอ นางสาวมาริษา จำปาทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ และนายวิชิต ไชยเวศ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ เข้าร่วมกิจกรรมด้วย


ทั้งนี้ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ในส่วนของ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ ICPIM 2 มีกำลังการผลิตรวมต่อปี 115,000 ลิตร มีสายการผลิต “สารชีวภัณฑ์” ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย มีประสิทธิภาพควบคุมศัตรูพืช เพื่อการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน วว. สามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ได้จำนวน 3 รูปแบบ คือ หัวเชื้อเหลว หัวเชื้อผง และหัวเชื้อสด ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ ตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่


วว. มีจุดแข็งด้านชีวภัณฑ์ คือ มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงาน ICPIM 2 ที่มีศักยภาพตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย ในการให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพัฒนาถังหมักระดับชุมชน ในรูปแบบถังสแตนเลสและถังพลาสติก ที่สามารถตอบโจทย์เกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการขยายชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานให้เพียงพอกับการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม




กำลังโหลดความคิดเห็น