สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ หน่วยงาน บพท. กวส. สกสว. ร่วมรับฟังและออกแบบการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียง พัฒนานวัตกรรมเกษตรพื้นที่ภาคอีสาน แก้ไขปัญหาความยากจน
นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผศ.ดร. ณัฐพงค์ จันจุฬา นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ร่วมลงพื้นที่กับหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ประกอบด้วย คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ภายใต้แผนงานการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำของ บพท. เพื่อร่วมรับฟังและออกแบบการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ตามแผนงานการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำของ บพท. วว. จะเข้าไปมีบทบาทใน pro poor value chain ในฐานะหน่วยงานวิจัยที่ทำงานหนุนเสริมร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่หารือเบื้องต้น วว. สามารถนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรแม่นยำเข้าไปส่งเสริม เช่น การพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ทางการเกษตร การพัฒนาการผลิตพืชผักเชิงพาณิชย์ การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ การผลิตเห็ดเศรษฐกิจ เป็นต้น นอกจากจะพัฒนาเทคโนโลยีให้กับครัวเรือนยากจนได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว ยังเป็นการยกระดับการทำงาน วว. ในด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ด้วย” ... ผู้อำนวยการ สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม วว. กล่าว
นอกจากนี้ นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม วว. และ ผศ.ดร. ณัฐพงค์ จันจุฬา นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้ร่วมประชุมหารือการนำผลงานวิจัย วว. สนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในการพัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์ของผลงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ โดยมีแผนการดำเนินงานด้านการผลิตกระบวนการผลิตเห็ดแบบครบวงจร ทั้งในการเพาะปลูกเห็ด การยืดอายุเห็ดเพื่อจัดจำหน่าย การแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นรูปแบบเห็ดฟังก์ชั่น เห็ดทอดกรอบ ระบบพลังงานในการเพาะเลี้ยงเห็ด รวมทั้งการพัฒนาชีวภัณฑ์ชุมชนเพื่อส่งเสริมการปลูกผักเศรษฐกิจ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับมูลค่าสูง พร้อมนี้ได้ติดตามผลการดำเนินงานการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี Hydroponic ของศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ซึ่ง ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ได้ให้นโยบายในการส่งเสริมเทคโนโลยีการเพาะปลูก การผลิตสารละลายธาตุอาหารพืชให้กับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งพบว่าเกิดประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา และการสร้างรายได้ให้นักเรียน นักศึกษา และสร้างอาชีพให้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
อนึ่ง ในการขับเคลื่อนการแก้จนที่เหมาะสม วว. ในฐานะผู้ดำเนินโครงการจะนำกลไกด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ วว. ได้พัฒนาขึ้นในหน่วยงาน รวมทั้งประสบการณ์ในการทำงานกับภาคเอกชนและพื้นที่ นำมาพัฒนากลุ่มคนจนเป้าหมาย โดยการประเมินการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม พร้อมทั้งเชื่อมต่อข้อมูลหรือเทคโนโลยีพื้นที่ รวมทั้งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้าไปพัฒนาและยกระดับระบบผลิตในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อก่อให้เกิดศักยภาพการผลิตที่มีประสิทธิภาพแก่กลุ่มคนจนเป้าหมาย เกิดการรสร้างงาน สร้างอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพื้นที่ เป็นกลไกนำคนจนกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบการทำงาน เปิดโอกาสให้คนจนกลุ่มเป้าหมาย เข้าถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดการมองเห็นโอกาสและแรงบันดาลใจเพื่อต่อสู้กับการขจัดความจน สร้างมูลค่าทรัพยากรถิ่น เกิดธุรกิจในพื้นที่ โดยโครงการจะสร้างเครื่องมือทำมาหากิน เกิดรายได้ อาชีพ ให้ครัวเรือนยากจนกลุ่มเป้าหมาย ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาประกอบด้วย
1. พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ กลุ่มจังหวัดคนจน กลุ่มเป้าหมายได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร และร้อยเอ็ด
2. พัฒนาด้านสินค้าเกษตร กลุ่มจังหวัดคนจนกลุ่มเป้าหมายได้แก่ พิษณุโลก กาฬสินธุ์ สกลนคร ศรีสะเกษ ยะลา และนราธิวาส ซึ่งผลผลิตจากโครงการจะเป็นกระบวนการ/เทคโนโลยี/นวัตกรรม/องค์ความรู้ ที่เหมาะสมตามบริบทของกลุ่มเป้าหมายที่สามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลผลิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และงานในพื้นที่ ซึ่งโครงการจะเป็นจุดเชื่อมให้เกิดโมเดลการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดอาชีพ และเพิ่มทักษะการดำรงชีพเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมีนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นตัวขับเคลื่อนและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งจากฐานราก เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน