xs
xsm
sm
md
lg

สวทช. ผลิตต้นกล้า "อินทผลัม" ด้วยการเพาะเนื้อเยื่อ เพิ่มจำนวนต้นกล้าพันธุ์ดีแก่เกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อินทผลัม" เป็นไม้ยืนต้นตระกูลเดียวกับปาล์ม ผลมีเนื้อสีเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ มีรสชาติหวานฉ่ำ มีเมล็ดแข็งทรงยาวรีอยู่ข้างในเนื้อ และเนื่องจากผลสุกมีราคาสูง ปัจจุบันจึงได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยเฉพาะ พันธุ์บาฮี ที่เป็นพันธุ์รับประทานผลสดและเป็นพันธุ์การค้ายอดนิยม ให้ผลผลิตสูง สามารถปลูกได้ดีในประเทศไทย ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้อินทผลัมขึ้นแท่นเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่มาแรงที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ สอดคล้องแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ในการขยายพันธุ์ต้นอินทผลัม เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชแยกต้นเพศผู้และเพศเมีย เกษตรกรจะปลูกให้ได้ผลผลิตจะต้องปลูกต้นเพศเมียเท่านั้น แต่การเพาะเมล็ดอินทผลัมนั้นนอกจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์แล้วยังมีความเสี่ยงสูงที่จะได้ต้นเพศผู้มากกว่าต้นเพศเมีย และจะทราบก็ต่อเมื่อปลูกไปแล้ว 2-3 ปี จนกระทั่งพืชออกดอก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะสามารถส่งตรวจทดสอบเพศของต้นอินทผลัมได้แล้ว แต่ก็ไม่การันตีถึงคุณภาพของผลผลิตที่ได้รับ ทำให้เกษตรกรเกิดความเสียหายอย่างมาก เกษตรกรรายใหญ่จึงมักเลือกซื้อต้นกล้าอินทผลัมที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศมาปลูกทำให้มีการนำเข้าต้นพันธุ์เพาะเลี้ยงมาจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งจะมีลักษณะดีเหมือนแม่พันธุ์ทุกประการ ตลอดจนให้ผลผลิตที่สม่ำเสมออีกด้วย แต่มีราคาสูง ทำให้เกษตรกรต้องเจอกับต้นทุนที่สูงขึ้น


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท พี โซลูชัน จำกัด พัฒนาเทคนิคการขยายพันธุ์อินทผลัมพันธุ์บาฮีในเชิงการค้า โดยใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้สามารถขยายต้นกล้าอินทผลัมพันธุ์บาฮีในระดับห้องปฏิบัติการ และต่อยอดสู่ในระดับเชิงพาณิชย์ เพื่อแก้ปัญหาการขยายต้นกล้าพันธุ์ดีของพืชมูลค่าสูง และยังช่วยให้ผลิตจำนวนต้นกล้าพันธุ์ดีเพียงพอต่อความต้องการของภาคเกษตรกรผู้ผลิต โดยได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช.


ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รองผู้อำนวยการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยที่มุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างขีดความสามารถและความมั่นคงในการผลิตพืชเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านมา ไบโอเทค มีการนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่มีอายุยาว เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ซึ่งความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาใช้ในการการขยายพันธุ์อินทผลัมพันธุ์บาฮีในเชิงการค้าครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของงานวิจัยที่ไบโอเทค นำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และกระจายโอกาสให้ทั่วถึง สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy Model)


ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค ให้ข้อมูลว่า “อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์ม ซึ่งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชตระกูลปาล์มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นพืชที่โตช้า ดังนั้นการพัฒนาเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการจึงใช้ระยะเวลานานไปด้วย ทางทีมวิจัยก็ได้รับโจทย์นี้มาจากผู้ประกอบการและเกษตรกรที่สนใจการขยายพันธุ์อินทผลัมพันธุ์บาฮีด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จึงได้เริ่มทำวิจัยโดยคัดเลือกต้นอินทผลัมเพศเมียสายพันธุ์บาฮีที่มีลักษณะดีเพื่อใช้เป็นต้นแม่ แล้วนำเนื้อเยื่อเจริญส่วนยอดและใบอ่อนของต้นแม่มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเป็นเวลากว่า 1-2 ปี จนสามารถชักนำให้เกิดการพัฒนาเป็นกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่าแคลลัส และแคลลัสสามารถเจริญไปเป็นต้นอ่อนสมบูรณ์ได้”


“ที่ผ่านมาทำวิจัยในปาล์มน้ำมัน พบว่ากว่าจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมันให้เกิดเป็นต้นอ่อนในห้องปฏิบัติการได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี แต่ในอินทผลัมเราสามารถทำได้เร็วกว่าปาล์มน้ำมัน โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี เท่านั้น ก็เริ่มเห็นเป็นยอดอ่อนสีเขียวพัฒนาจากแคลลัสแล้ว ยอดอ่อนสีเขียวที่เห็นนี้ถือว่าสำเร็จไปแล้ว 80% และจากประสบการณ์ของทีมวิจัย เราเห็นแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปเป็นต้นและพร้อมนำลงปลูกในดินได้ต่อไป ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการใช้ระบบไบโอรีแอคเตอร์เข้ามาช่วยเร่งกระบวนการในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของอินทผลัมบาฮี เพื่อเพิ่มจำนวนให้ได้เป็นจำนวนมาก”


คุณประพัฒน์ วนาพิทักษ์ ประธานบริษัท พี โซลูชัน จำกัด กล่าวว่า “อินทผลัมเป็นพืชมูลค่าสูง ผลสดเป็นที่ต้องการสูงในตลาด มีราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 500-800 บาท ทั้งบริโภคในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลาง ในขณะที่ต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงถึงต้นละ 1,500-2,000 บาท ส่วนใหญ่นำเข้าจากอิรัก อียิปต์ รวมถึงอังกฤษ จึงมีแต่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่ลงทุนปลูกได้ แต่หากเราสามารถผลิตต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เองในประเทศและทำให้มีราคาถูกกว่าของต่างประเทศ จะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้มาก ส่วนเกษตรกรรายย่อยก็มีโอกาสปลูกได้มากขึ้นด้วย หรือปลูกเสริมจากการทำไร่ทำนาเพียงไม่กี่ต้น ก็จะช่วยให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย จึงได้เข้ามาติดต่อกับทาง ไบโอเทค สวทช. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และจัดทำเป็นโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์บาฮีขึ้นมา และจากการทำงานร่วมกับทาง ไบโอเทค สวทช. มา ก็คาดว่าในอนาคตจะมีการจัดทำโครงการร่วมกันในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตต้นกล้าอินทผลัมโดยเฉพาะ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนด้านห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อผลิตต้นกล้าอินทผลัมในเชิงพาณิชย์ต่อไปด้วย

สิ่งสำคัญสำหรับเกษตรกรผู้ผลิตอินทผลัม คือ การคัดเลือกสายพันธุ์ของอินทผาลัม เพื่อนำมาเป็นต้นแม่สำหรับการขยายพันธุ์ เนื่องจากอินทผลัมมีระยะเวลาในการเจริญเติบโต 2 - 3 ปีกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งหากไม่ได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีก็พบความเสี่ยงที่ต้นกล้านั้นจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อาจจะเกิดการเน่าเสียหรือได้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ทำให้เกษตรกรเสียหายเนื่องจากนำเข้ามาในราคาแพง ซึ่งต้นแม่พันธุ์อินทผลัมบาฮีในโครงการนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณรณชัย วงษ์ศรีทา เกษตรกร เจ้าของอินทผลัมสวนลุงขุน อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี


กำลังโหลดความคิดเห็น