xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเขาสามร้อยยอดเก็บหอยแมลงภู่ขายช่วงน้ำลง รายได้งามวันละ 3,000-5,000 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ชาวบ้านสามร้อยยอดเร่งเก็บหอยแมลงภู่ที่เลี้ยงไว้หน้าชายหาดขาย หลังเลี้ยงแบบธรรมชาติมา 1 ปี เก็บขายส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ ใส่รถตระเวนขาย บางคนให้ลูกหลานโพสต์ขายทางสื่อออนไลน์ได้ราคาดีกว่า สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

วันนี้ (2 พ.ค.) ที่หน้าชายหาดบ้านหนองแขมใหญ่ ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านพากันลงเก็บหอยแมลงภู่ที่กำลังโตได้ขนาด ส่งขายตามออร์เดอร์ ใส่รถตระเวนขาย และขายตามสื่อโซเชียล สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเมื่อมองไปในทะเลจะพบไม้ไผ่ปักไว้อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อน้ำทะเลลดลง และหอยแมลงภู่ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้แบบธรรมชาติโตได้ขนาด จะมีชาวบ้านพาครอบครัว พร้อมนำอุปกรณ์ลงไปเก็บหอยของแต่ละคนที่เป็นเจ้าของ นำขึ้นมาทำความสะอาดเพื่อนำไปขายให้แม่ค้าขายส่งนำไปขายต่อ

โดยช่วงนี้แต่ละวันชาวบ้านจะเก็บขึ้นมาขายวันละ 150-200 กิโลกรัม ขายส่งราคากิโลกรัมละ 25 บาท โดยจะมีรายได้ตกวันละ 3,000-5,000 บาท ถ้าชาวบ้านคนใดนำไปขายเองหรือโพสต์ขายในโซเชียลจะได้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 35 บาท

นายสุรินทร์ สีละมุด กล่าวว่า ตนเองมีหอยหลักอยู่ประมาณ 1 ไร่ 800 หลัก มาเก็บหอยได้ 3 วันแล้ว ตกวันละ 150-160 กิโลกรัม และจะมีแม่ค้ามารับในราคากิโลกรัม 25 บาท และหอยหลักไม่ต้องดูแลอะไร ครบปีลงเก็บได้เลย จะมาเก็บในช่วงที่น้ำลง เป็นรายได้เสริมในช่วงนี้

นางกลอยใจ พลอยม่วง ชาวประมงกล่าวว่า มาเก็บได้ 2 วันแล้ว โดยของตนเองจะขายทางออนไลน์เท่านั้น พื้นที่ของตนเองมี 1 ไร่ ปักไป 400 หลัก ยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่สร้างรายได้เสริมได้อย่างดี

หอยแมลงภู่ คือหอยทะเลที่เป็นอาหารยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งที่มีราคาถูกกว่าหอยทะเลชนิดอื่น อย่างหอยแครง หรือหอยนางรม เนื่องจากในประเทศไทยยังเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ได้ในปริมาณมาก ทำให้มีหอยป้อนเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งแบบหอยสด หรือหอยแปรรูป นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่นั้นยังมีต้นทุนที่ต่ำมาก มีเพียงต้นทุนค่าเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์เพื่อสร้างที่ยึดเกาะให้ลูกหอยอาศัยเท่านั้น ส่วนลูกพันธุ์หอยแมลงภู่นั้น ผู้เลี้ยงไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเพราะลูกหอยในธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ ต่างจากการเพาะเลี้ยงหอยแครง และหอยนางรม ที่จำเป็นเป็นต้องลงทุนหาซื้อลูกพันธุ์หอยมาเพาะเลี้ยงเอง เนื่องจากปริมาณลูกหอยในธรรมชาติของหอยทั้ง 2 ชนิดหายาก และขาดแคลนมาก

น.ส.ชุลี ลิ้มประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาอาชีพ (กศส.) กล่าวว่า ช่วงนี้ชาวบ้านมีรายได้จากการเก็บหอยเพราะเป็นช่วงน้ำลง ส่วนเรื่องการขายของชาวบ้านจะมีหลายแบบ บางคนจะมีแม่ค้ามารับซื้อ ขายทางออนไลน์ และอีกส่วนหนึ่งนำมาแปรรูป จะได้ในเรื่องของการเพิ่มมูลค่า และเรามีโครงการสร้างอาชีพด้านอาหารปลอดภัย โดยใช้ชุมชนมาสนับสนุน คือส่งเสริมในเรื่องของการแปรรูป เช่น การทำหอยดอง หอยผีเสื้อ และต่อไปจะพัฒนาเป็นเรื่องของการทำหอยทรงเครื่อง รวมถึงพัฒนาแพกเกจให้ทันสมัยเพื่อจำหน่ายตลาดนอกด้วย ซึ่งจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต ซึ่งตอนนี้มีผลตอบรับดีมาก และวางแผนการผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า










กำลังโหลดความคิดเห็น