การกำจัด “ขี้ไก่” เป็นอีกหนึ่งโจทย์ผู้ประการที่ทำฟาร์มไก่ ต้องหาวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัด เนื่องจากหากกำจัดไม่ถูกวิธีแล้ว ก็จะสามารถเกิดเป็นมลพิษทั้งในเรื่องอากาศและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยา จึงได้นำโปรแกรม ITAP สวทช. สนับสนุนการดำเนินการการใช้พลังงานทดแทนของ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ด้วยการนำขี้ไก่จากไก่ที่เลี้ยงภายในฟาร์มมาเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพ พร้อมกับนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในระบบฟาร์ม ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงไก่ และยังสามารถเพิ่มศักยภาพการใช้พลังงานทดแทน
ดร.ศตวรรษ ทนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ทำโครงการวิจัย โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า จากโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด ที่ต้องการแก้ไขปัญหา คือ เรื่องน้ำเสียของกิจการ ที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงไก่ ทีมผู้เชี่ยวชาญจึงได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนน้ำเสียและของเสียให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบพลังงานทดแทนได้ โดยการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในกิจการ ระบบบำบัดเสียน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการหมักย่อยน้ำเสียในระบบปิด และน้ำที่ผ่านการบำบัดจะสะอาดได้มาตรฐานตามที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้
ทีมผู้เชี่ยวชาญมีความพยายามที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเน้นในเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น เช่น การออกแบบให้ระบบใช้พื้นที่ในการติดตั้งให้น้อยลง ใช้เงินลงทุนน้อยลง แต่ประสิทธิภาพการหมักย่อยสูงขึ้น การออกแบบพัฒนาให้ระบบสามารถรองรับน้ำเสียที่มีสภาวะแตกต่างกันมากๆ ได้ภายในระบบเดียว และการเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบสามารถผลิตก๊าซชีวภาพในปริมาณที่สูงขึ้น
หมดปัญหาการกำจัดขี้ไก่ ลดต้นทุนคืนทุนไว เพิ่มศักยภาพการใช้พลังงานทดแทน
ในด้านของผู้ประกอบการ นายชาญวิทย์ เวชชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด ได้เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังว่า ทางบริษัท ได้ดำเนินงานทำฟาร์มไก่มาตั้งแต่ พ.ศ.2526 โดยแรกเริ่มมีเพียง 50 ตัวเท่านั้น จนกระทั่งในปัจจุบันได้มีการขยายการผลิตจนได้พัฒนาฟาร์มเลี้ยงไก่ได้ 5 แสน ด้วยการทำฟาร์มไก่นั้น โจทย์ที่สำคัญนอกกจากการขายไข่และเลี้ยงไก่ ก็คือการกำจัดขี้ไก่และน้ำเสียภายในฟาร์มให้ถูกวิธี เพื่อที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ทางฟาร์มจึงได้ประสานงานกับ ทาง สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้จัดทำโปรแกรม ITAP มาช่วยพัฒนาระบบในการกำจัดขี้ไก่และน้ำเสียภายในฟาร์ม ด้วยการติดตั้ง “ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนน้ำเสียและของเสียให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพได้ ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ได้นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบพลังงานทดแทนได้ ด้วยการผลิตเป็นไฟฟ้าด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้า และสามารถนำไฟฟ้านั้นมาใช้ในภายในฟาร์มได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
“การใช้ก๊าซชีวภาพจากขี้ไก่ มาปั่นเป็นไฟฟ้าและใช้ในระบบฟาร์มไก่สามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 5 แสนบาทต่อเดือน และสามารถประหยัดได้ถึงปีละ 6 ล้านบาท ทำให้ลดต้นทุนและคืนทุนที่ลงทุนในระยะเวลาสั้นได้อีกด้วย” .... เจ้าของ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม กล่าว
เทคโนโลยีระบบบำบัดเสียน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในเรื่องไฟฟ้าแล้ว ก็ยังช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น เนื่องจากเป็นการหมักย่อยน้ำเสียในระบบปิด และน้ำที่ผ่านการบำบัดจะสะอาดได้มาตรฐานตามที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ ทำให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบฟาร์มไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ นับเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่สามารถต่อยอดของจากของเสียที่ไม่ใช้แล้ว ให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม