กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมหารือการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่า เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในคลองแม่ข่าอย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดความยั่งยืนและสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธาน พร้อมนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
นายวราวุธ ศิลปอาชา เปิดเผยว่า จากปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแม่ข่ามาเป็นเวลายาวนาน ในปี พ.ศ. 2560 ทส. ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ หารือเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่าอย่างจริงจัง ต่อมาจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดทำแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ. 2561 -2565) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข” เพื่อให้แต่ละหน่วยงานใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำของคลองแม่ข่ามาตั้งแต่ปี 2558 พบว่า คุณภาพน้ำในช่วงต้นน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ แต่จะมีคุณภาพเสื่อมโทรมลง เมื่อไหลผ่านชุมชนเมืองต่างๆ โดยมีค่าออกซิเจนละลายน้ำ ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา คุณภาพน้ำคลองแม่ข่ามีคุณภาพน้ำดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่คุณภาพน้ำส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับเสื่อมโทรม เนื่องจากระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียยังไม่ครอบคลุมลพื้นที่ และบางโครงการยังอยู่ระหว่างดำเนินงาน โดยทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามแนวทาง “เติมน้ำ-บำบัด-สกัดกั้น-ร่วมกันดูแล” การเติมน้ำต้นทุนเข้าสู่คลองแม่ข่า บำบัดน้ำเสียโดยการดักน้ำเสียไม่ให้ระบายลงคลองและส่งไปบำบัดยังระบบบำบัดน้ำเสียหรือพิจารณาการบำบัดน้ำเสียในคลอง สกัดกั้นไม่ให้แหล่งกำเนิดมลพิษระบายน้ำทิ้งที่ไม่ได้มาตรฐาน และสร้างเครือข่ายชุมชน แหล่งกำเนิดมลพิษ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อร่วมกันดูแลคุณภาพน้ำ
รมว.ทส.กล่าวอีกว่า การดำเนินงานในการฟื้นฟูและพัฒนาคลองแม่ข่าประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ 1. การคืน/เพิ่มต้นทุนให้กับคลองแม่ข่า โดยใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนแม่งัด (ซึ่งจะมีการจัดสร้างอุโมงค์สำนักแม่งัด–แม่แตง) มายังคลองแม่ข่า (ตามเป้าหมายแล้วเสร็จ ปี 2567) ในส่วนการปรับปรุงคลองซอย ที่น้ำลงมายังคลองแม่ข่า (ที่มีแผนจะดำเนินการตามเป้าหมาย) 2. การบำบัดน้าเสีย ให้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ยังค้างอยู่ให้เป็นไปตามแผน (ซึ่งออกแบบไว้แล้ว) รวมถึงเร่งรัดการจัดทำรายละเอียดระบบรวบรวม และระบบบำบัดน้ำเสีย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นริมคลองแม่ข่า ทั้ง 9 แห่ง 3. การบังคับใช้กฎหมายตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ ครอบคลุมให้ครบทั้ง 8 อปท. ให้แล้วเสร็จ โดยจัดทำแผนปฏิบัติ หรือ Road map (ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่กว่า 1,200 แห่ง) และ 4. การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อการแก้ไขปัญหา สร้างการเรียนรู้ และการบำบัดน้ำเสียครัวเรือนของชุมชนริมคลอง สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และสนับสนุนสถานประกอบการการแก้ไขปัญหา โดยการจัดระบบการบำบัดน้ำเสีย มีเป้าหมายในการฟื้นฟู และพัฒนาคลองแม่ข่าให้มีน้ำเต็มตลอดคลอง และน้ำมีคุณภาพดี ในปี 2570 ให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และบางพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า คพ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ จำนวน 231 แห่ง พบว่า แหล่งกำเนิดมลพิษระบายน้ำทิ้ง เป็นไปตามมาตรฐาน 181 แห่ง และจะได้ดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ เพิ่มเติมอีก 1,111 แห่ง รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยการอบรมให้ความรู้สร้างความตระหนักเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษและชุมชนริมคลอง จำนวน 107 ชุมชน สำหรับการบำบัดน้ำเสีย การสร้างเครือข่ายติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ และสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการสำหรับการศึกษาความเหมาะสมในการจัดการน้ำเสียชุมชนในภาพรวม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการมีระบบนิเวศน์ที่ดี คืนวิถีชีวิตริมคลองแม่ข่า คืนน้ำใสให้กับคลองแม่ข่า อย่างยั่งยืนตลอดไป