ความเชื่อผิด ๆ ที่ปราศจากหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุน และการไม่มีเหตุผลที่ใช้อธิบาย ของผู้คนในสังคมโบราณ แม้ถึงวันนี้ก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไป จนทำให้หลายคนปักใจเชื่อ และให้ความศรัทธาตาม ๆ กันมา ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ทำให้เกิดผลดีใด ๆ แล้วยังทำให้ความรู้วิทยาศาสตร์บางเรื่องต้องชะลอความก้าวหน้าไปอีกเป็นเวลาที่ยาวนาน
แต่ในที่นี้เราจะไม่ย้อนหลังไปเอ่ยถึงความเชื่อที่ว่า โลกแบน หรือของหนักจะตกเร็วกว่าของเบาเสมอไป เพราะความเชื่อเช่นนั้นได้บังเกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อน และได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องไปเรียบร้อยแล้ว แต่จะพูดถึงการหลงผิด ที่ได้ทำให้สังคมมีกระแสคลั่งเป็นระยะ ๆ เพราะถูกระดมปั่น โดยคนบางคน เช่น ความเชื่อว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้คนเป็นโรคออทิสติก (autistic) ซึ่ง ณ เวลานี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า “ไม่จริง” หรือความเชื่อที่ว่าการตรวจพบเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้น จะทำให้ทุกคนรอดชีวิต ซึ่งเป็นความจริง ในกรณีของมะเร็งบางชนิด แต่ไม่จริงสำหรับมะเร็งทุกชนิด หรือการมีอนุมูลอิสระในร่างกายในปริมาณมากเป็นเรื่องไม่ดี ดังนั้นจะต้องถูกกำจัดไป โดยการใช้สาร antioxidant แต่ผลการทดลองที่ใช้วิธีการฉีดอนุมูลอิสระในปริมาณมากเข้าไปในตัวหนู ปรากฏว่าหนูเหล่านั้นกลับมีอายุยืนยิ่งกว่าหนูไม่ได้รับอนุมูลอิสระเลยเสียอีก หรือความเชื่อที่ว่าการเรียนที่จะให้ผลดีที่สุดแก่ผู้เรียน คือ การได้เรียนสิ่งที่ผู้เรียนสนใจและต้องการ ซึ่งจะทำให้ผลที่ได้ออกมาดี แต่นักการศึกษาก็ได้ทดลองพบว่า มีเด็กบางคนที่สามารถเรียนได้ดีจากการอ่าน หลายคนเรียนได้ดีจากการดูภาพกราฟฟิกหรือจากคลิปวิดีโอ แต่ถ้าจะให้ได้ผลการเรียนดีที่สุด เด็กคนนั้นจะต้องได้เรียนหลายรูปแบบ ทั้งจากการอ่าน การฟัง และการได้เห็นภาพ รวมถึงการให้ผู้เรียนได้สรุปและอธิบายสิ่งที่ตนได้เรียนไป แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นคำพูด หรือเป็นเรียงความ นั่นคือ การสอนที่ดีจะต้องใช้สื่อการสอนที่มีความหลากหลายในรูปแบบ แล้วจะทำให้เด็กมีผลการเรียนดีที่สุด
แต่ก็ยังมีความเชื่ออีกเรื่องหนึ่ง ที่ได้มีมานานเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว และยังปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมโลก ตราบจนวันนี้ แม้ความเชื่อนั้น จะลดน้อยลง ๆ ตามกาลเวลา เพราะนักจิตวิทยาได้พยายามหาเหตุผลและหลักฐานมาหักล้าง รวมทั้งได้อธิบายที่มาของความเชื่อเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องเลื่อนลอย ความเชื่อที่จะกล่าวถึงในที่นี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความถนัดในการใช้มือของคน เช่นว่า คนที่ถนัดซ้ายจะประสบอุบัติเหตุบ่อย มีอายุสั้น พูดติดอ่าง ร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน รูปร่างเตี้ย มีนิสัยติดเหล้าเมายา มักเป็นโรคซึมเศร้า เป็นโรคลมชัก และเป็นโรคปวดศีรษะ (migraine) ชอบมีอาการโรคสมองเสื่อม และเป็นโรค Alzheimer กับโรคเครียด และชอบฆ่าตัวตาย ดังนั้นในภาพรวม คนที่ถนัดซ้ายมักจะมีปัญหาทางจิตใจ และที่ร้ายที่สุด คือ คนเหล่านี้ส่วนมากมักเป็นผู้ชาย
เมื่อความถนัดซ้ายเป็นเรื่องที่หลายคนคิดว่า “ร้าย” เช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาจึงได้ตั้งโจทย์วิจัยว่า จะหาสาเหตุที่ทำให้คนบางคนถนัดซ้าย และผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงหาสาเหตุที่ทำให้คนบางคนใช้ตาซ้ายในการเห็นได้ดีกว่าตาขวา และบางคนมีหูซ้ายที่สามารถได้ยินชัดกว่าหูขวา หรือรูจมูกข้างซ้ายของบางคนทำงานได้ดีกว่ารูจมูกขวา นอกจากนี้ก็สนใจจะรู้คำตอบของคำถามที่ว่า ความถนัดซ้ายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเฉพาะคนเท่านั้นใช่หรือไม่ สัตว์และพืชมีความถนัดในการใช้ขาซ้าย-ขวาหรือไม่ ส่วนความเชื่อที่ว่าคนที่ถนัดซ้ายมักเป็นอัจฉริยะมากกว่าคนที่ถนัดขวานั้นเป็นความจริงหรือไม่ และยังต้องตอบคำถามอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความถนัดซ้าย-ขวาอีกมาก เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อว่า ธรรมชาติจะจงใจสร้างคนให้มีความถนัดที่เหลื่อมล้ำกัน และคิดว่าการมีความเสมอภาคกันในธรรมชาติ น่าจะทำให้คนเรามีความถนัดซ้ายหรือขวาในจำนวนที่มากพอ ๆ กัน
แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะ รายงานผลที่ได้จากการสำรวจเรื่องความถนัดซ้าย-ขวาของคนในโลกได้แสดงให้เห็นว่า คนที่ถนัดซ้ายในโลกมีประมาณ 10% ส่วนคนที่ถนัดขวามีประมาณ 90% และความถนัดซ้ายนี้ในแต่ละสังคม ในแต่ละประเทศ และในแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน เช่น สถิติปีของปี 2013 ได้แสดงให้เห็นว่า คนแคนาดาที่ถนัดซ้ายมี 13% คนญี่ปุ่นมีประมาณ 7% และถ้าจะย้อนไปในอดีตเมื่อ 170 ปีก่อน ก็จะพบว่าคนอังกฤษที่ถนัดซ้ายมี 3% แต่ ณ ปัจจุบันคนอังกฤษที่ถนัดซ้ายมี 12% ข้อมูลตัวเลข 3% ที่อ้างนั้น อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ เพราะในสมัยนั้น ใคร ๆ ก็พยายามปกปิดตนเองไม่ให้สังคมรู้ว่าเป็นคนถนัดซ้าย ด้วยไม่ต้องการจะถูกสังคมกล่าวหาว่าเป็นคนผิดปกติ
ในกรณีของการใช้หูก็เช่นกัน ได้มีการสำรวจพบว่า หูซ้ายของบางคน ได้ยินชัดกว่าหูขวา ในอัตราส่วน 60 ต่อ 40 แต่เมื่อคนนั้นมีอายุมากขึ้น หูทั้งสองข้างของเขาก็จะได้ยินเสียงดีพอ ๆ กัน ส่วนรูจมูกทั้งสองข้างนั้น ก็ได้มีการพบว่า ถ้าอุดรูจมูกข้างหนึ่ง แล้วสูดหายใจเอาอากาศเข้าปอด จะพบว่าปริมาณอากาศในปอดมีมากไม่เท่ากัน
ในส่วนของการศึกษาวิเคราะห์ภาพวาดของคนในสมัยโบราณตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปี จนกระทั่งถึง 1,500 ปีก่อน ก็ได้พบว่า คนในภาพมักใช้มือขวาในการต่อสู้ รวมถึงเวลากินอาหาร และเขียนหนังสือ เพราะในสมัยนั้น ในบางประเทศใครที่ใช้มือซ้ายมักจะถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิต หรือถูกนำตัวไปเผาทั้งเป็น หรือถูกขว้างปาด้วยก้อนหินจนตาย แต่เมื่อถึงสมัยนี้ การลงโทษรุนแรงในลักษณะนั้น แทบไม่มีแล้ว กระนั้นเด็ก ๆ ชาว Zulu ที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา เวลาหยิบอาหารมากิน ถ้าหยิบด้วยมือซ้ายก็มักจะถูกแม่จับมือซ้ายนั้น จุ่มลงในน้ำร้อน เป็นต้น
แม้คนถนัดซ้ายจะถูกลงโทษหนัก ถูกกีดกันหรือถูกปรักปรำมากสักเพียงใด แต่ก็ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ถนัดซ้ายและสามารถสร้างชื่อเสียงที่ระบือกระฉ่อนโลกได้ เช่น Julius Caesar ซึ่งเป็นรัฐบุรุษของอาณาจักรโรมัน จักรพรรดิ Alexander มหาราช แห่งอาณาจักร Macedonia ซึ่งเคยทรงกรรแสง เพราะโลกไม่มีแผ่นดินให้พระองค์ทรงพิชิตได้อีก ศิลปิน Leonardo da Vinci ผู้วาดภาพ Mona Lisa ที่เป็นอมตะนิรันด์กาล ประติมากร Michelangelo Buonarroti ผู้แกะสลักรูปปั้นหินอ่อน David ที่โด่งดัง ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถนัดซ้ายก็มีหลายคน เช่น James Garfield ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 20 และถูกสังหารเมื่อปี 1881 Harry Truman ซึ่งประธานาธิบดีคนที่ 33 และเป็นคนที่ถนัดทั้งสองมือ แต่เวลาเล่นกีฬาเบสบอล ท่านจะใช้มือซ้ายปา ประธานาธิบดี Gerald Ford , George Bush Senior , Bill Clinton และ Barack Obama ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 38 , 41 , 42 และ 44 ก็ล้วนเขียนหนังสือด้วยใช้มือซ้าย
การบรรยายเรื่องเกี่ยวกับความผิดปกติของการมีคนที่ถนัดซ้ายเป็นจำนวนมาก ก็เป็นตำนานที่นิยมทำกัน เช่น เมื่อ Vasco da Gama เดินทางถึงอินเดีย เมื่อปี 1498 เขาได้อ้างว่า ที่หมู่บ้าน Melinda ซึ่งอยู่ใกล้เมือง Calangute ในประเทศอินเดีย ชาวบ้านทุกคนเป็นคนถนัดซ้าย แต่โลกไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันว่าตำนานที่เขียนนั้นเป็นจริง คงเพราะ Vasco da Gama ต้องการทำให้ผู้อ่านรายงานการผจญภัยของเขารู้สึกตื่นเต้น นอกจากนี้เขาเองยังได้รายงานอีกว่า ชาวอินเดียในสมัยนั้น ไม่นิยมการใช้มือซ้ายหยิบอาหารเข้าปาก เพราะเชื่อว่ามือซ้ายเป็นมืออัปมงคลที่เหมาะสำหรับการใช้หยิบสิ่งของสกปรกเท่านั้น ด้านปราชญ์กรีกชื่อ Plato ก็ได้เคยเขียนเรื่องว่า นักรบเผ่า Scythian (ซึ่งเคยตั้งอาณาจักรอยู่ในประเทศอิหร่าน) ถนัดการยิงธนูโดยใช้มือทั้งซ้ายและขวา แม้แต่พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 2 แห่งอังกฤษ ก็ทรงถนัดซ้าย แต่สมเด็จพระเจ้า George ที่ 6 เป็นกษัตริย์ที่ทรงถนัดพระหัตถ์ขวา และเวลาตรัสพระองค์จะทรงมีพระอาการติดอ่าง ซึ่งก็เป็นเพราะในวัยเยาว์ พระองค์ทรงถูกบังคับให้เปลี่ยนพระหัตถ์ในการเขียนจากซ้ายเป็นขวา
แม้จะมีข้อเสียที่ทำให้การดำรงชีวิตมีปัญหาหลายประการ แต่วิถีชีวิตด้านดีของคนที่ถนัดซ้ายก็มีหลายเรื่อง เช่น ในการต่อสู้ของนักกีฬาบางประเภท ที่ต้องมีการโรมรันพันตูแบบประชิดตัวก็ได้พบว่า นักกีฬาที่ถนัดซ้ายมักจะได้เปรียบคู่ต่อสู้ เพราะได้ต่อสู้กับคนที่ถนัดขวาเป็นจำนวนมากกว่า จึงมีประสบการณ์มากกว่า จากการได้รู้จุดอ่อน-จุดแข็งของคู่ต่อสู้เป็นอย่างดี แต่ถ้านักกีฬาคนนั้นเป็นคนถนัดขวา เขามักจะไม่มีประสบการณ์การต่อสู้กับคนถนัดซ้ายมาก จึงแทบจะไม่รู้จักจุดอ่อน-จุดแข็งของคู่ต่อสู้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะเห็นได้ว่า นักปิงปองที่ถนัดซ้ายและต่อสู้จนได้แชมป์มีมากประมาณ 16% ส่วนนักกีฬาฟันดาบระดับท็อปมีประมาณ 33%
สำหรับผู้หญิงที่ถนัดซ้ายก็ได้มีการพบว่า เวลาเธออุ้มลูก มักจะอุ้มทางด้านขวา และมารดาที่ถนัดขวาก็จะอุ้มลูกทางด้านซ้าย สำหรับการอธิบายเรื่องนี้นักจิตวิทยาได้ชี้แจงว่า เพราะมารดาต้องการปล่อยให้มือข้างที่ตนถนัดเป็นอิสระ เพื่อช่วยปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัย และเวลาเข้าสังคม คนที่ถนัดซ้ายและต้องนั่งรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นที่โต๊ะ เขาก็อาจจะสร้างความสับสนได้ โดยการใช้มือซ้ายหยิบแก้วน้ำข้างซ้าย แต่นั่นเป็นแก้วน้ำของคนที่นั่งข้างซ้ายของตน
สำหรับประเด็นที่อ้างว่าคนถนัดซ้ายมักประสบอุบัติเหตุบ่อยกว่าคนถนัดขวานั้น ก็มีความจริง เพราะโลกเทคโนโลยีทุกวันนี้นิยมสร้างอุปกรณ์ เช่น กรรไกร ที่เปิดกระป๋อง และไม้ตีกอล์ฟ ฯลฯ ให้คนที่ถนัดมือขวา เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาคนถนัดซ้ายจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้บ้าง เขาจึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยใช้มือขวาทำงาน จึงประสบความขลุกขลักบ้าง ซึ่งมีผลทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นในทุกวันนี้ วิศวกรจึงกำลังพยายามออกแบบหุ่นยนต์ (robot) ให้สามารถหยิบจับ และใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นซ้ายหรือขวาของอุปกรณ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จนต้องอาศัยเทคนิค machine learning ให้เข้ามาช่วยในการออกแบบหุ่นยนต์
ปรากฏการณ์ธรรมชาติของสิ่งไม่มีชีวิตที่มีในโลก ก็ซึ่งแสดงให้เห็นความถนัดซ้ายหรือขวาของเหตุการณ์ก็มีมากมาย เช่น ลมพายุหมุนแบบทอร์นาโดและเฮอร์ริเคน รวมทั้งกระแสน้ำที่ไหลในมหาสมุทร ซึ่งถ้าเกิดในบริเวณซีกโลกเหนือ ก็มักพบว่าจะหมุนตัวในทิศทวนเข็มนาฬิกา (คือ หมุนซ้าย) ส่วนลมทอร์นาโดและเฮอร์ริเคน ที่เกิดในบริเวณซีกโลกใต้ ก็มักจะหมุนตัวในทิศตามเข็มนาฬิกา (คือ หมุนขวา) สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ Gaspard Gustave de Coriolis ได้อธิบายว่า เพราะของไหลนั้นถูกแรง Coriolis กระทำ
ด้านนก Oystercatcher ซึ่งเป็นนกที่มีจะงอยปากยาวมาก และชอบกินหอยกาบคู่ (moules marinière) มาก ก็พบว่า งานนี้เป็นงานหนักสำหรับนก เพราะจำเป็นต้องใช้จะงอยปากจิกเปลือกหอยร่วม 600 ครั้ง กาบหอยถึงจะแตก และเพื่อให้งานนี้ง่ายขึ้น นกได้ใช้จะงอยปากเคาะสำรวจเปลือกก่อน และพบว่า เปลือกหอยข้างขวามีความหนาน้อยกว่าข้างซ้าย โดยเฉลี่ยประมาณ 3% ดังนั้นนกจึงต้องใช้ปากเจาะเปลือกหอยข้างขวาที่บางกว่าเรื่อย เพราะมันจะได้เนื้อหอยไปกินเร็ว
ต้นสายน้ำผึ้ง (honeysuckle) เป็นไม้พุ่มในสกุล Lonicera ที่มีกลิ่นหอม เวลางอกเป็นเถาวัลย์มันจะพันไม้ค้ำเป็นเกลียว หมุนซ้าย (คือ ทวนเข็มนาฬิกา) เสมอ
นักเคมีก็มีโมเลกุลชนิดซ้าย-ขวาเช่นกัน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.1848 Louis Pasteur ในวัย 25 ปี ได้เสนอผลงานวิจัยของเขาต่อที่ประชุม Paris Academy of Sciences ว่า ขณะพยายามหาสาเหตุที่ทำให้เหล้าองุ่นมีรสเปรี้ยว เขาได้เปรียบเทียบกรด tartaric ที่เกิดจากองุ่นกับกรด racemic ที่ผลิตได้จากโรงงานอุตสาหกรรม และพบว่า แม้กรดทั้งสองชนิดจะมีโครงสร้างโมเลกุลที่เหมือนกันทุกประการ แต่เวลากรดทั้งสองอยู่ในน้ำ และได้รับแสง polarized กรด tartaric จะเบนทิศ polarization ของแสงไปตามเข็มนาฬิกา ในขณะที่กรด racemic ไม่ทำให้ทิศ polarization ของแสงเปลี่ยนแปลงเลย เขาจึงนำกรดทั้งสองมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ และพบว่ากรด tartaric ที่เกิดตามธรรมชาติ ประกอบด้วยผลึกชนิดเดียวกันล้วน ๆ แต่กรด racemic ประกอบด้วยผลึกสองชนิด ที่มีโครงสร้างเป็นเงาของกันและกันเมื่อดูในกระจกราบ
Pasteur จึงอุทานออกมาด้วยความตื่นเต้นว่า “Tout est trouve” ซึ่งแปลว่า Eureka (ข้าพบแล้ว) จากนั้น Pasteur ก็ได้ทดลองเรื่องนี้ต่อ จนได้พบว่าโครงสร้างทั้งสองชนิดของกรด racemic เป็นแบบ dextro (+) และ laevo (-) โดยที่ชนิด + จะเบนแสงในทิศตามเข็มนาฬิกา เหมือนกรด tartaric แต่ชนิด – จะเบนแสงในทิศทวนเข็มนาฬิกา ดังนั้นเมื่อผลึกทั้งสองชนิดอยู่ปนกัน ผลลัพธ์ในการเบนแสงจึงเป็นศูนย์
อีก 10 ปีต่อมา Pasteur ได้ศึกษาจุลินทรีย์และพบว่า จุลินทรีย์สามารถดำรงชีพและแพร่พันธุ์ได้ในกรด racemic ชนิดที่เบนแสงในทิศตามเข็มนาฬิกา แต่ไม่สามารถสังเคราะห์พลังงาน (metabolism) เพื่อการดำรงชีพได้ในผลึกชนิดที่เบนแสงในทิศทวนเข็มนาฬิกา
การค้นพบนี้ ได้ปฏิรูปวิชาชีวเคมีอย่างมโหฬาร เพราะโมเลกุลที่สังเคราะห์ได้ในห้องปฏิบัติการมักมีสองรูปแบบ ซึ่งเป็นภาพในกระจกเงาของกันและกัน (เรียก stereo-isomer) และแม้โมเลกุลจะมีสองรูปแบบ แต่ในร่างกายคนก็มีชนิดเดียวเท่านั้น
นักฟิสิกส์ก็มีศัพท์โดยเฉพาะที่ใช้อธิบายการมีสมมาตรซ้าย-ขวาของปรากฏการณ์เช่นกัน คำนั้น คือ parity และเคยมีความเชื่อตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า เอกภพจะแสดงสมบัติสมมาตรนี้ตลอดเวลา ซึ่งถ้าใช้ภาษาวิชาการก็จะเชื่อว่า สมบัติสมมาตรซ้าย-ขวา จะต้องเป็นจริงตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น สกูร ที่เวลาหมุนตามเข็มนาฬิกาแล้วจะไชเข้าเนื้อไม้ จึงเรียกว่าสกูรนั้น มี parity คี่ (odd parity) เพราะเวลาดูภาพของสกูรใน กระจกเงา สกูรจะมีเกลียวหมุนทวนเข็มนาฬิกา ส่วนแก้วพลาสติกมี parity คู่ (even parity) เพราะเวลาดูภาพของแก้วพลาสติกในกระจกเงา ภาพแก้วและแก้วตัวจริงจะดูไม่แตกต่างกันเลย
ดังนั้น กฎอนุรักษ์ parity ของฟิสิกส์ จึงหมายความว่า ธรรมชาติจะมีสกูรชนิดที่หมุนขวาและหมุนซ้ายในปริมาณที่เท่ากันเสมอ
นักฟิสิกส์มีความพอใจและสุขใจกับความเชื่อเช่นนี้ตลอดเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา จนกระทั่ง Tsung-Dao Lee และ Chen Ning Yang นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอเมริกัน-จีน ได้เสนองานวิจัยของคนทั้งสอง เมื่อเดือนตุลาคม ปี 1956 เรื่อง ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอันตรกิริยาแบบอ่อน (weak interaction) ที่เกิดในการสลายตัวให้อนุภาคบีต้าของธาตุกัมมันตรังสีว่า กฎอนุรักษ์ parity จะไม่เป็นจริงอีกต่อไป
นักฟิสิกส์แทบทั้งโลกปฏิเสธที่จะเชื่อเรื่องนี้ แม้แต่ Wolfgang Pauli (รางวัลโนเบลล์ฟิสิกส์ ปี 1945) ก็ได้ยืนยันว่า เขาไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะถนัดซ้าย และขอยืนยันว่ากฎอนุรักษ์ parity จะต้องเป็นจริงอย่างนิจนิรันด์ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด แล้ววันพิพากษาก็มาถึง ในเดือนมกราคม ปี 1957 เมื่อ Chien-Shiung Wu ได้ใช้ธาตุกัมมันตรังสี cobalt-60 ที่จะสลายตัวให้อนุภาคอิเล็กตรอน (รังสีบีต้า) พร้อมกับอนุภาค antineutrino ออกมา เป็นตัวทดลอง โดยทำให้ cobalt-60 มีอุณหภูมิต่ำมากใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ แล้วใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูงกระทำ ทำให้ spin ของอะตอม cobalt-60 ทุกอะตอมชี้ในทิศเดียวกัน แล้วศึกษาทิศ spin ของอิเล็กตรอนที่พุ่งออกมา
ถ้ากฎอนุรักษ์ parity เป็นจริง อิเล็กตรอนที่พุ่งออกมาจะมี spin ขึ้นและลง (ซ้ายและขวา) ในจำนวนที่เท่ากัน แต่เธอได้พบว่า spin ของอิเล็กตรอนที่พุ่งออกมามีจำนวนไม่เท่ากัน เช่น ชี้ลงมากกว่าชี้ขึ้น นั่นแสดงว่ากฎอนุรักษ์ parity ไม่เป็นจริง
ผลการทดลองนี้ทำให้ Lee และ Yang ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ปี 1957 ร่วมกัน (แต่ Wu ไม่ได้ คงเพราะเธอเป็นผู้หญิง) แต่เรื่องที่น่าเสียใจสำหรับเรื่องนี้ คือ คนทั้งสองไม่ได้ทำงานร่วมกันอีกต่อไป เพราะตกลงกันไม่ได้ว่า ใครเป็นคนคิดเรื่องที่กฎอนุรักษ์ parity ใช้ไม่ได้ในอันตรกิริยาอ่อน ได้ก่อน
และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ Yang มีอายุครบ 100 ปี และในวันเกิดของเขาได้รับโทรเลขแสดงความยินดีจากประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน
นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ยังสงสัยในเรื่องความสมมาตรซ้าย-ขวาที่เกิดในธรรมชาติบนโลก และได้ตั้งข้อสงสัยว่าโอกาสที่จะพบความสมมาตรนี้ในต่างดาว หรือในเอกภพว่าจะมีหรือไม่ เพราะเวลาวิเคราะห์อุกกาบาต เขาได้พบว่ามีกรด amino ชนิดซ้ายมากกว่าชนิดขวาตั้งแต่ 2-18% และไม่เคยพบกรด amino ชนิดขวา ว่ามีมากกว่าชนิดซ้ายเลย จึงได้พยายามส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวหาง อุกกาบาต ดาวเคราะห์น้อย และดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ เพื่อตอบข้อสงสัยนี้
ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเอกภพของเรานี้ไม่มีความสมมาตรเลย
อ่านเพิ่มเติมจาก Right Hand, Left Hand: The Origins of Asymmetry in Brains, Bodies, Atoms and Cultures โดย Chris McManus จัดพิมพ์โดย Phoenix ปี 2003
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์