(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
China marches on towards Fourth Industrial Revolution
by David P. Goldman
08/10/2021
คำทำนายของเหล่าผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯเกี่ยวกับการพังครืนถึงขั้นสิ้นชีวิตของจีน คือภาพมายาเอาไว้ใช้ปลอบโยนตัวเองของพวกชนชั้นนำผู้เกียจคร้าน ผู้ซึ่งไม่สามารถมองเห็นความแพ้พ่ายของอเมริกาในเรื่อง AI ที่กำลังบังเกิดขึ้นแล้ว
นิวยอร์ก - ตอนที่โควิด-19 เล่นงานจีน ก่อนที่มันจะเล่นงานประเทศอื่นๆ ของโลกนั้น มุกเสียดสีล้อเลียนมุกหนึ่งซึ่งแพร่กระจายไปในสื่อมวลชนตะวันตกอย่างรวดเร็ว ก็คือการเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ว่า เป็น “ช่วงเวลาแห่งเชร์โนบิล” (Chernobyl moment) ของประเทศจีน แต่แล้วความสำเร็จอย่างโดดเด่นของแดนมังกรในการกำราบปราบปรามโรคระบาดใหญ่นี้จนอยู่หมัดก็ทำให้การเสียดสีล้อเลียนเช่นนี้กลายเป็นมุกแป้กกันไปหมด อย่างไรก็ดี เมื่อตลาดจีนเกิดอาการสะอึกขึ้นมาครั้งใด ก็ยังคงก่อให้เกิดคำทำนายใหม่ๆ เกี่ยวกับการเสื่อมทรุดทางเศรษฐกิจของจีนออกมาให้เห็นกันเมื่อนั้น
จอร์จ ฟรีดแมน (George Friedman) แห่ง สแทรตฟอร์ (Stratfor) ประกาศว่า “อำนาจของจีนเป็นสิ่งที่ถูกประมาณการเอาไว้อย่างเกินเลยความเป็นจริงชนิดมโหฬารยิ่ง” และบอกด้วยว่าจีนจำเป็นจะต้องลดขนาดความทะเยอทะยานระดับโลกของตนลงมาเสียแล้ว สืบเนื่องจากสถานการณ์อันยากลำบากต่างๆ
(สแทรตฟอร์ เป็นสำนักงานจัดพิมพ์และให้คำปรึกษาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่เมืองออสติน รัฐเทกซัส ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Stratfor -ผู้แปล)
(ความเห็นเรื่องนี้ของ จอร์จ ฟรีดแมน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.realclearworld.com/2021/10/07/chinas_economic_crisis_and_its_foreign_policy_797811.html)
ฮัล แบรนด์ส (Hal Brands) กับ ไมเคิล เบคคลีย์ (Michael Beckley) เขียนลงในวารสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) ว่า “ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจีนนั้นกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมทรุด” ผู้เขียนทั้งสองอ้างว่า “ตั้งแต่ช่วงหลังของทศวรรษ 2000 แล้ว” “พลังต่างๆ ที่ขับเคลื่อนให้จีนผงาดขึ้นมา ถ้าไม่อยู่ในอาการหยุดชะงัก ก็ถึงขนาดหันหัวเลี้ยวกลับกันทีเดียว”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.realclearworld.com/2021/09/27/the_problem_is_that_china_is_declining_796185.html)
ข้อคิดเห็นเหล่านี้คือภาพมายาเอาไว้ใช้ปลอบโยนตัวเองของพวกชนชั้นนำผู้เกียจคร้าน ซึ่งได้เปิดทางให้ความได้เปรียบของอเมริกาทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิต, เทคโนโลยี, และการศึกษา ต้องมีอันสึกกร่อนเสื่อมถอยลงไปในระยะเวลา 20 ปีท่ผ่านมา --เป็นพวกชนชั้นนำซึ่งไม่เคยพูดอะไรเลยเกี่ยวกับการหันหัวเลี้ยวพลิกตัวกลับจากความเสื่อมทรุดเช่นนี้
เป็นความจริง จีนนั้นมีปัญหาทางการเงินที่อันตรายยากลำบากในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งพึ่งพาอาศัยเงินกู้จนเกินเลยไปมาก ทว่าประเทศทั้งหลายซึ่งมีความได้เปรียบทางบัญชีดุลสะพัดอย่างมหึมา และมีอัตราการออมที่ใหญ่โตอย่างจีนนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องประสบกับวิกฤตหรอก พวกเขาสามารถที่จะทำการฟื้นฟูกิจการ แล้วจีนยังมีปัญหาด้านประชากรอยู่จริงๆ ถึงแม้ไม่ได้มีความสาหัสร้ายแรงใกล้เคียงกับที่มีอยู่ในญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, หรือไต้หวัน ก็ตามที และสาหัสร้ายแรงกว่าของอเมริกานิดเดียวเท่านั้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/01/why-china-is-anti-fragile/)
สิ่งซึ่งพวกอ้างตนเป็นผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้คิดว่าเป็นแสงสว่างที่มองเห็นจากปลายอุโมงค์นั้น ความจริงแล้ว มันเป็นไฟหน้าของขบวนรถด่วนที่กำลังวิ่งตรงเข้ามาเสียแหละมากกว่า ขบวนรถด่วนนี้มีชื่อว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution)
ชาวอเมริกันจดจำไม่ได้ถึงเหตุการณ์ “ความตื่นตระหนกแห่งปี 1873” (Panic of 1873) และ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน” (Long Depression) เป็นเวลา 6 ปีที่ตามมาต่อจากนั้น –รวมทั้งจดจำไม่ได้ถึงเหตุการณ์ความตื่นตระหนกของปี 1893, ปี 1896, ปี 1901, หรือปี 1907 พวกเขาระลึกได้แต่เรื่องทางรถไฟข้ามทวีป (อเมริกาเหนือ), เครื่องเก็บเกี่ยวข้าว แมคคอร์แมค (McCormack reaper), การเป็นผู้นำในเรื่องการผลิตเหล็กกล้าของ แอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie), การจัดหาจัดจำหน่ายน้ำมันก๊าดราคาถูกเพื่อใช้ในตะเกียงให้แสงสว่างของ จอห์น ดี. ร็อกกีเฟลเลอร์ (John D. Rockefeller), กระบวนการเปลี่ยนมาใช้กระแสไฟฟ้าของเมืองใหญ่แห่งต่างๆ, และการทำรถยนต์รุ่น “โมเดล ที” (Model T) แบบผลิตกันจำนวนมากๆ (mass production) ของ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) สิ่งที่สำคัญมากๆ จนเป็นที่จดจำกันจริงๆ ในอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อกับต้นทศวรรษที่ 20 คือ การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ซึ่งยกสถานะของอเมริกาขึ้นไปเป็นมหาอำนาจระดับโลกรายหนึ่งในตอนนั้น
จริงๆ แล้ว คาร์เนกี หยิบยืมกระบวนการทำเหล็กกล้าของเขามาจากนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษชื่อ เฮนรี เบสเซเมอร์ (Henry Bessemer) และ โธมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ปรับปรุงยกระดับหลอดไฟฟ้าให้แสงสว่าง จากสิ่งประดิษฐ์ของนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษนามว่า โจเซฟ สวอน (Joseph Swan) (ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในการฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายชดเชยจากเอดิสันด้วยข้อหาละเมิดสิทธิบัตร) พวกผู้มีความรู้ความสามารถชาวอังกฤษในเวลานั้นมุ่งหน้าแต่จะหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีทำเงินทำทองง่ายๆ จากจักรวรรดิอังกฤษ จึงปล่อยปละให้ชาวอเมริกันนำเอาไอเดียของอังกฤษมาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นการผลิตจำนวนมากๆ ในขนาดขอบเขตซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
ทุกวันนี้ กลายเป็นชาวอเมริกันนั่นแหละที่ไม่ต้องการให้มือของพวกเขาสกปรก และชาวอเมริกันที่มีความรู้ความสามารถชั้นเยี่ยมที่สุด มุ่งทำโปรแกรมแอปสมาร์ตโฟน ด้วยความวาดหวังว่าจะสามารถมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาโดยฉับพลัน
อีกสักชั่วอายุคนหนึ่งหลังจากนี้ไป ชาวจีนจะจดจำกันไม่ได้แล้วถึงความลำบากเดือดร้อนของ แอนต์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial), หรือความล้มเหลวของยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande), หรือภาวะขาดแคลนกระแสไฟฟ้าของปี 2021 นี้, หรือการสะดุดชะงักงันเล็กๆ น้อยๆ จำนวนแค่ไหนก็ตามของ การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 พวกเขาจะจดจำได้แต่เรื่อง คลังสินค้าระบบอัตโนมัติ , ท่าเรืออัจฉริยะ ซึ่งดำเนินงานบนเครือข่าย 5จี, เหมืองแร่ที่ทำงานด้วยวิธีควบคุมจากทางไกล, โรงงานซึ่งเดินเครื่องโดยพวกหุ่นยนต์ที่สามารถตั้งโปรแกรมให้ตัวเองได้, ตลอดจนรถแท็กซี่ที่ไม่ต้องใช้คนขับ
คลังสินค้าระบบอัตโนมัติ(automated warehouses ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=8-ADIdjufe4)
ท่าเรืออัจฉริยะ(smart ports ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=hY-fQOP67pI&list=TLPQMTUwOTIwMjHfjlVDxfl0Sg)
เหมืองแร่ที่ดำเนินงานด้วยวิธีควบคุมจากทางไกล (mines operated by remote control ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=AGu0eoELwfA)
โรงงานซึ่งดำเนินงานโดยพวกหุ่นยนต์ที่สามารถตั้งโปรแกรมให้ตัวเองได้ (factories run by self-programming robots ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=lFhjE9iXfnA)
รถแท็กซี่ที่ไม่ต้องใช้คนขับ (driverless taxis ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=O69YEWpSacU&t=415s)
ทั้งหมดเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน และมีขนาดที่ใหญ่โตทีเดียว คลิปวิดีโอทางยูทูบที่ให้ไว้ข้างบนนี้ สามารถให้ข้อมูลข่าวสารมากยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ที่คุณจะเคยได้อ่านพบในสื่อมวลชนตะวันตก พวกแอปพลิเคชั่นด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีนนั้นแลดูเหมือนกับเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ ทว่ามันเป็นของจริงๆ แบบเดียวกับ ฝน นั่นแหละ และกำลังเกิดขึ้นมาต่อหน้าต่อตาของพวกเราแล้ว
พวกแอปพลิเคชั่นของ บิ๊กดาต้า (big data) และ AI ที่มีความยืดหยุ่นสามารถใช้ได้กับการผลิตทางอุตสาหกรรม, ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ, การดูแลสุขภาพ, และปริมณฑลอื่นๆ เป็นสิ่งซึ่งส่อแววให้เห็นความสามารถในการเปลี่ยนแปลงชีวิตทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ทำนองเดียวกับการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ได้เคยเปลี่ยนแปลงสหรัฐฯและเยอรมนีมาแล้ว
พวกนักประวัติศาสตร์คงจะถือเอาว่า วันเวลาที่เกิด การปฏิวัติ AI นั้นคือ เดือนมกราคม 2020 เมื่อโรคระบาดใหญ่โควิด-19 กระหน่ำเล่นงานประเทศจีน อย่างที่ อีริก ชมิดต์ (Eric Schmidt) อดีตซีอีโอของ กูเกิล กับ เกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกันเขียนเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ดังนี้:
ไวรัสนี้ยังเป็นการดึงม่านให้เปิดออกมา และเผยให้เห็นการแข่งขันที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของศตวรรษนี้ ได้แก่ ความเป็นปรปักษ์ชิงดีชิงเด่นกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน เพื่อครองความเหนือกว่าในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฉากเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นตรงนี้ควรที่จะทำให้ชาวอเมริกันเกิดความตื่นตัวระแวดระวังภัย จีนไม่ใช่เพียงแค่อยู่บนเส้นทางโคจรของการแซงหน้าสหรัฐฯเท่านั้น แต่จีนได้แซงผ่านสมรรถนะของสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้วในเรื่องที่มีความสำคัญอย่างที่สุด
ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ทึกทักเอาว่า ความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีก้าวหน้าด้านต่างๆ ของประเทศชาติของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้ … ในความเป็นจริงแล้ว จีนเป็นคู่แข่งขันระดับเท่าเทียมอย่างเต็มที่ของสหรัฐฯอยู่แล้วในเรื่องแอปพลิเคชั่น AI ทั้งในเชิงพาณิชย์และในด้านความมั่นคงแห่งชาติ จีนไม่ได้เพียงแค่กำลังพยายามเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เท่านั้น พวกเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่อง AI อยู่แล้ว…
เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัสร้าย จีนล็อกดาวน์ประชากรทั้งหมดในมณฑลเหอเป่ย – นั่นหมายถึงผู้คนจำนวน 60 ล้านคน นั่นคือมากกว่าจำนวนของผู้พำนักอาศัยอยู่ทางฝั่งอีสต์โคสต์ของสหรัฐฯทุกๆรัฐ ไล่ตั้งแต่รัฐฟลอริดาจนถึงรัฐเมน จีนดูแลรักษาเขตควบคุมโรคอันใหญ่โตมโหฬารที่ขีดวงขึ้นมานี้ โดยใช้อัลกอริธึมที่ผ่านการปรับปรุงยกระดับโดย AI เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของผู้พำนักอาศัย และยกระดับสมรรถนะในการตรวจหาเชื้อ เวลาเดียวกันนั้นก็สร้างสถานรักษาพยาบาลขนาดมหึมาแห่งใหม่…
พวกบริษัทเทคจีนตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยการสร้างแอปที่มีโค้ด “สถานะทางสุขภาพ” ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหวต่างๆ ของพลเมือง และวินิจฉัยว่าปัจเจกบุคคลรายนั้นๆ จำเป็นที่จะต้องถูกกักกันโรคหรือไม่ จากนั้น AI ยังแสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งยวดในการช่วยเหลือทางการจีนบังคับให้มีการปฏิบัติตามมาตรการกักกันโรค และแสดงบทบาทในการติดตามการติดต่อสัมผัสได้อย่างกว้างขวางยิ่ง สืบเนื่องจากชุดข้อมูลขนาดใหญ่มากของจีน ทางการผู้รับผิดชอบในปักกิ่งจึงประสบความสำเร็จในขณะที่รัฐบาลในวอชิงตัน ดี.ซี. ประสบความล้มเหลว
(อ่านข้อเขียนนี้ได้ที่ https://www.project-syndicate.org/commentary/china-versus-america-ai-race-pandemic-by-eric-schmidt-and-graham-allison-2020-08)
ผมได้เขียนเรื่องราวนี้เอาไว้ในเอเชียไทมส์ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2020 แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/03/china-suppressed-covid-19-with-ai-and-big-data/)
ท่าเรือแห่งสำคัญๆ ของจีนทั้งหมดต่างกลายเป็นหรือใกล้จะกลายเป็นระบบอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์ สำหรับระบบอัตโนมัติในทางอุตสาหกรรม ถึงแม้เป็นสิ่งที่น่าประทับใจ ทว่ายังคงอยู่ในขั้นตอนนำร่องเท่านั้น โดยที่ หัวเว่ย ระบุว่า ทางบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเครือข่าย 5จี ภาคเอกชนประมาณ 16,000 เครือข่ายสำหรับระบบอัตโนมัติในโรงงาน นี่ยังถือเป็นสัดส่วนน้อยนิดเดียวของประเทศที่มีโรงงานรวมแล้วมากกว่า 2.8 ล้านแห่ง (ตัวเลขของปี 2015) แต่ก็เป็นจำนวนซึ่งมากเกินพอแล้วสำหรับการมีของจริงเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันแนวความคิด นอกจากนั้นยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมของจีนรายนี้ยังเพิ่งติดตั้งเครือข่าย 5จี ในโรงพยาบาล 1,800 แห่งของประเทศซึ่งมีโรงพยาบาลทั้งสิ้น 34,000 แห่ง
จีนได้พลิกผันเปลี่ยนแปลงประชากรที่เป็นเกษตรกรระดับพอยังชีพ ให้กลายป็นคนงานอุตสาหกรรม เป็นการโยกย้ายประชาชน 600 ล้านคนจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ในระยะเวลาไม่ถึง 40 ปี และกำลังเพิ่มพูนรายได้ประชาชาติต่อหัวขึ้นมา 10 เท่าตัวจากกระบวนการดังกล่าว
สหรัฐฯนั้นใช้เวลาจากปี 1870 จนถึงปี 1995 จึงเพิ่มจีดีพีแท้จริงต่อหัวของตนขึ้นมาได้ 10 เท่าตัว ขณะที่จีนทำเรื่องนี้ได้ภายในเวลา 28 ปีนั่นคือจากปี 1992 ถึงปี 2020 อย่างที่แบรนด์ส กับ เบคคลีย์ เขียนเอาไว้ มันแน่นอนอยู่แล้วว่าจีนได้ฉวยใช้ความได้เปรียบของต้นแหล่งที่มาของการเจริญเติบโตนี้ คณะผู้นำของจีนอาจจะแย่เหลือเกินในสิ่งต่างๆ จำนวนมาก แต่พวกเขาทำได้ดีมากๆ ในเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ได้แก่การวางแผนเพื่อผลิตภาพ (productivity) ในอนาคต
เติ้ง เสี่ยวผิง พลิกผันเปลี่ยนแปลงชาวนาของจีนให้กลายเป็นคนงานในโรงงาน และ สี จิ้นผิง กำลังพลิกผันเปลี่ยนแปลงบุตรชายหญิงของคนงานในโรงงานเหล่านั้นให้กลายเป็นวิศวกร มีชาวจีนอายุ 55 ปีขึ้นไป –พวกที่มีอายุ 20 ปีเศษๆ เมื่อตอนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นการปฏิรูปต่างๆ ในทางเศรษฐกิจของจีนในปี 1989 – เพียงแค่ 2% ซึ่งได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ชาวจีนในวัย 20 ปีเศษๆ เวลานี้ 27% ทีเดียวมีปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัย และสัดส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
จีนเวลานี้มีบัณฑิตผู้สำเร็จระดับปริญญาตรีในสาขาด้านสะเตมศึกษา (STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, คณิตศาสตร์) จำนวนมากเป็น 7 เท่าตัวของสหรัฐฯ และมีผู้สำเร็จระดับปริญญาเอกสาขาด้านสะเตมศึกษามากเป็น 3 เท่าตัวของสหรัฐฯ รายงานผลการสำรวจของจีนฉบับหนึ่งเมื่อปี 2020 ระบุว่า นักเรียนมัธยมปลายชาวจีนซึ่งตั้งใจที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไปนั้น มีเปอร์เซนต์สูงกว่าในกรณีของนักเรียนระดับเดียวกันชาวอเมริกัน
ชาติอุตสาหกรรมชาติหนึ่งที่มีมาตรฐานความเป็นอยู่ระดับประเทศตะวันตก แท้ที่จริงกำลังค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมาเรียบร้อยแล้วอยู่ข้างในประเทศจีนเวลานี้ หลิน อี้ฟู (Lin Yifu) อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ชี้เอาไว้ว่า พวกมณฑลและนครฐานะเทียบเท่ามณฑลของจีนซึ่งมีระดับการพัฒนามากที่สุดนั้น คือ ประเทศที่ซ้อนอยู่ภายในประเทศ และ ตัวเลขจีดีพีต่อประชากรของประเทศซึ่งซ้อนอยู่ภายในจีนแห่งนี้ กำลังไล่เข้ามาใกล้ๆ กับของสหรัฐฯ
หลิน อี้ฟู (Lin Yifu นี่เป็นชื่อที่เขียนแบบจีน ซึ่ง แซ่หรือก็คือนามสกุล อยู่นำหน้าชื่อ ทั้งนี้ชื่อของเขาเวลาเขียนแบบตะวันตก
ซึ่งชาวจีนยุคนี้นิยมเพิ่มชื่อแรกที่เป็นชื่อแบบชาวตะวันตกเข้าไปด้วยนั้น จะกลายเป็น จัสติน อี้ฟู หลินJustin Yifu Lin ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Justin_Yifu_Lin -ผู้แปล)
ในหนังสือเล่มใหม่ที่มีกำหนดวางตลาดตอนสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เขาเขียนเอาไว้ว่า:
เมื่อช่วงสิ้นศตวรรษที่ 19 สหรัฐฯกับเยอรมนีได้นำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เวลานั้น ระดับสูงที่สุดทั้งเรื่องรายได้และเทคโนโลยีอยู่ในสหราชอาณาจักร สหรัฐฯและเยอรมนียังคงอยู่ในขั้นตอนของการไล่ตามเท่านั้นเมื่อดูจากแง่มุมของระดับรายได้ ทั้งนี้หากคำนวณกันเป็นภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity) แล้ว จีดีพีต่อหัวของอเมริกาเมื่อปี 1870 อยู่ในระดับ 76.6% ของสหราชอาณาจักร ขณะที่ของเยอรมนีอยู่ในระดับ 57.6% ของสหราชอาณาจักร
พวกมณฑลและนครฐานะเทียบเท่ามณฑลรวม 7 แห่งที่มีจีดีพีต่อหัวอยู่ในระดับสูงที่สุดในประเทศของผม --ได้แก่ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เทียนจิน, เจียงซู, เจ้อเจียง, ฝู่เจี้ยน, และกวางตุ้ง-- มีจำนวนประชากรรวมกันทั้งสิ้นราว 350 ล้านคน สูงกว่าเล็กน้อยจากจำนวนประชากร 330 ล้านคนที่อยู่ในสหรัฐฯปัจจุบัน เมื่อดูกันที่ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ จีดีพีต่อหัวของมณฑลและนคร 7 แห่งเหล่านี้อยู่ในระดับ 54.5% ของสหรัฐฯ ซึ่งก็คือดูกันอย่างคร่าวๆ ก็เป็นสัดส่วนเดียวกันกับของเยอรมนีเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักร ในตอนที่เยอรมนีนำการปฏิวัติอุตสาหรกรมครั้งที่ 2
หลิน กล่าวต่อไปว่า “ในการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี ทุนมนุษย์เป็นอินพุตหลัก” เขาชี้ว่า จีนนั้นมีกองกลางผู้มีความรู้ความสามารถ ที่มีขนาดใหญ่โตกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากการมีจำนวนประชากรมากเป็น 4 เท่าตัวของสหรัฐฯ “ขนาดของจีนเพียงอย่างเดียวก็ทำให้จีนมี “การประหยัดที่เกิดขึ้นจากขนาด” จาก “การมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์และบริการที่ต่ำกว่า” และ “การมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่แข็งแกร่งกว่าในตลาดระหว่างประเทศ แล้วเมื่อมาถึงเรื่องการแข่งขันกับพวกประเทศพัฒนาแล้วเพื่อกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยีใหม่ๆ จำนวนประชากรของประเทศของผมและขนาดของตลาดของประเทศของผม ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศของผมมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ”
นอกจากนั้นแล้ว “ประเทศของผมคือประเทศที่มีอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ อย่างครบถ้วนครบชุดสมบูรณ์แบบที่สุด ทำให้ระยะเวลาที่ต้องใช้เพื่อให้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก้าวคืบหน้าไปจากขั้นของแนวความคิดไปสู่ขั้นของการผลิต จะสั้นที่สุด และด้วยต้นทุนต่ำที่สุด”
จีนทั้งเอาจริงเอาจัง, เน้นหนัก, และมีระเบียบวินัย ในการรณรงค์ของตนเพื่อนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ส่วนสหรัฐฯอย่างเก่งที่สุดก็แค่พูดแต่ปากว่าสนับสนุนแนวความคิดในเรื่องนี้ ขณะที่อย่างแย่ที่สุดคือละเลยไม่ใส่ใจปัญหานี้เอาเลย โดยไปเห็นดีเห็นงามมากกว่ากับการโฟกัสเน้นหนักที่เรื่อง “ความหลากหลาย” และ “ความเท่าเทียม”