xs
xsm
sm
md
lg

หรือ‘จีน’จะชนะ เพราะความเสื่อมโทรมที่‘ชนชั้นนำด้านเทคสหรัฐฯ’สร้างขึ้นมา โดยผ่านสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สเปงเกลอร์



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

US elites’ imperial corruption compares to Opium War
By SPENGLER
15/10/2021

ตอนที่เริ่มเขียนคอลัมน์นี้ ผมไม่สามารถที่จะนึกเห็นวาดภาพล่วงหน้าออกมาได้ว่า สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียได้สร้างความเสื่อมทรามเน่าเฟะให้แก่เยาวชนชาวอเมริกันทั้งรุ่นอายุถึงขนาดไหน

ข้อเขียนที่ใช้นามปากกา “สเปงเกลอร์” นี้ ตอนแรกสุดออกเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมปี 2000 โดยมีเนื้อหาเป็นการขบคิดเกี่ยวกับหุ้นบริษัทเทค ผมพยากรณ์เอาไว้อย่างชนิดตรงกันข้ามกับสิ่งซึ่งเชื่อถือเห็นดีเห็นงามกันอยู่ในเวลานั้น นั่นคือผมบอกว่าหลักทรัพย์พวกบริษัทอินเทอร์เน็ตจะยังคงรุ่งเรืองเฟื่องฟูได้ โดยได้รับการบำรุงเลี้ยงจากความเสื่อมโทรมเน่าเฟะทางศีลธรรมของสังคมซึ่งซุกอยู่ข้างใต้ของบริษัทเหล่านี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2000/01/what-if-internet-stocks-arent-a-bubble/)

ทว่าแม้กระทั่งในการไตร่ตรองพิจารณาอย่างชนิดดำมืดที่สุดของผม ก็ยังไม่สามารถที่จะนึกเห็นวาดภาพออกมาได้ว่า สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดีย ได้นำเอาความเสื่อมทรามเน่าเฟะมาสู่เยาวชนชาวอเมริกันทั้งรุ่นอายุเช่นนี้ ทั้งนี้ตามการศึกษารวบรวมโดยศาสตราจารย์ จีน ทเวง (Jean Twenge) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2017/09/has-the-smartphone-destroyed-a-generation/534198/)

เรื่องนี้มีผลโดยตรงต่อข้อวินิจฉัยของศาสตราจารย์ จัสติน อี้ฟู หลิน (Justin Yifu Lin’s) ที่ว่า จีนในทุกวันนี้พร้อมลุกขึ้นยืนให้ความเคารพสหรัฐฯ แบบเดียวกับที่สหรัฐฯและเยอรมนีเคยลุกขึ้นยืนให้ความเคารพอังกฤษ เมื่อช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 19
(สามารถอ่านบทคัดย่อจากหนังสือเล่มใหม่ของศาสตราจารย์หลิน ในเอเชียไทมส์วันที่ 11 ตุลาคม https://asiatimes.com/2021/10/china-must-lead-the-new-industrial-revolution/)

แต่พร้อมกันนั้น เขาก็ยืนยันว่า จีนจะเป็นผู้นำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) แบบเดียวกับที่อเมริกาและเยอรมนีได้เคยนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 (Second Industrial Revolution) มาแล้ว

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นั้น อังกฤษคือผู้ที่มีเทคโนโลยีสำหรับการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 อยู่ในมือ ไม่ใช่อเมริกาเลย (สำหรับเยอรมัน เป็นผู้ที่ประดิษฐ์สร้างสรรค์อุตสาหกรรมเคมีสมัยใหม่ขึ้นมา รวมทั้งลักษณะสำคัญยิ่งบางประการของโลหวิทยาสมัยใหม่)

โธมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า มันไม่ใช่อย่างที่ระบุเอาไว้ในเทพนิยายซึ่งบอกเล่าแก่เด็กนักเรียนชาวอเมริกัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ โจเซฟ สวอน (Joseph Swan) ต่างหาก คือผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าขึ้นมา ห้องแล็ปทางอุตสาหกรรมของ เอดิสัน พยายามนำเอาวัสดุต่างๆ เป็นพันเป็นหมื่นชนิดมาทดลอง จนกระทั่งค้นพบว่า เส้นใยไม้ไผ่จะสามารถอยู่ได้นานเป็นสิบเท่าตัวของวัสดุอื่นๆ ที่ใช้กันก่อนหน้านั้น และจึงทำให้สามารถผลิตหลอดไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้

เอดิสัน มีส่วนร่วมในการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างฉาวโฉ่ สวอนฟ้องร้องเขาว่ามีพฤติการณ์ละเมิดสิทธิบัตร และประสบความสำเร็จในทางคดีจนได้เงินค่าประนอมยอมความไปก้อนมหึมา

ทำไมอังกฤษถึงไม่นำเอาหลอดไฟฟ้าไปหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เสียเองล่ะ? คำตอบอยู่ที่ความเสื่อมโทรมเน่าเฟะของจักรวรรดิบริเตน พวกนักเรียนชั้นเยี่ยมที่สุดฉลาดที่สุดของอังกฤษนั้นเมื่อออกจากโรงเรียนยอดเยี่ยมอย่าง อีตัน และ แฮร์โรว์ ก็จะไปทำงานกับกระทรวงอาณานิคม และเลี้ยงชีพสร้างสมทรัพย์สินด้วยการขายสิ่งทออังกฤษให้แก่อินเดีย, ขายยาฝิ่นอินเดียให้จีน, และขายชาจีนกับผ้าไหมจีนให้แก่โลกตะวันตก

คฤหาสน์โอ่อ่าตามแถบชนบทของอังกฤษนั้น สร้างขึ้นมาด้วยเงินทองซึ่งหากันได้ง่ายๆ โดยอิงอาศัยจักรวรรดิ และพวกชนชั้นสูงของอังกฤษต่างพากันหลีกหนีงานการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ทำให้เนื้อตัวเสื้อผ้าต้องสกปรก พวกเขาหันไปนิยมชมชื่นกับความเป็นชนชั้นขุนนางปลอมๆ ของพวกเศรษฐีใหม่ซึ่งพยายามแปลงร่างกลายเป็นพวกผู้ดีเจ้าที่ดิน แต่ชาวอเมริกันผู้ทะเยอทะยานนั้นสร้างโรงงานต่างๆ ขึ้นมา และชาวเยอรมันผู้ทะเยอทะยานก็เรียนจนจบปริญญาเอกทางวิชาเคมี ขณะที่ชาวอังกฤษผู้ทะเยอทะยานพากันไปแสวงโชคยังดินแดนอาณานิคมที่อยู่เลยไปทางตะวันออกของคลองสุเอซ

อเมริกาไม่ได้มีจักรวรรดิใดๆ เลยในความหมายแบบเก่าของโลก เมื่อชาวอเมริกันเข้าครอบครองพวกประเทศในต่างแดน พวกเขาต้องเสียเงินทองด้วยซ้ำแทนที่จะสามารถทำเงินทำทอง กระนั้น กิจการผูกขาดทางด้านการเงินและทางด้านเทคของอเมริกาก็สามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทำนองเดียวกันขึ้นมาได้ เมื่อช่วงทศวรรษ 2000 โต๊ะค้าตราสารอนุพันธ์ของวอลล์สตรีทสามารถดึงดูดบรรดาวิศวกรผู้ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด และในช่วงทศวรรษ 2010 พวกบริษัทเทคก็สามารถรับสมัครเหล่าวิศวกรและเหล่านักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชั้นเยี่ยมที่สุดเข้าไปทำงานด้วย

ปัจจุบัน อเมริกามีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นวิศวกรเครื่องกลเพียงแค่ 40,000 คนในแต่ละปี เรื่องนี้ไม่ใช่อะไรที่น่าแปลกใจ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าชาวอเมริกันนั้นไม่ได้สนอกสนใจกับเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตตั้งแต่เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว

พวกกิจการผูกขาดทางด้านเทค สามารถเสนอรางวัลผลตอบแทนชนิดเกินเลยไปกว่าจินตนาการของความโลภด้วยซ้ำ และทำให้ทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งของอเมริกันรวมศูนย์อยู่ในมือของผู้คนจำนวนน้อยนิดที่สุดเท่าที่เคยปรากฏกันมาในประวัติศาสตร์ และพวกเขาก็เที่ยวเลี้ยงดูบ่มเพาะวัฒนธรรมแห่งการแสวงหาความสุขสนุกสนานกันอย่างสุดเหวี่ยงไร้ความกังวลใดๆ ซึ่งให้คุณค่าแก่การแสดงความเป็นตัวตนของปัจเจกบุคคล โดยยึดมั่นกับเรื่องนี้อย่างเหนียวแน่นประดุจเป็นหลักคัมภีร์ทางศาสนา เวลาเดียวกันนั้นก็ใช้อำนาจบังคับอย่างเหี้ยมโหดอำมหิตให้คนหนุ่มคนสาวต้องยินยอมกระทำตามกรอบ

โซเชียลมีเดียคือยาฝิ่นแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง และพ่อมดเทคแม่มดเทควัยหนุ่มสาวซึ่งเข้าไปสิงสถิตย์อยู่เต็มซิลลิคอนแวลลีย์ ก็คือพวกทายาทผู้สืบทอดในทางศีลธรรมของชาวอีตันชาวแฮร์โรว์หนุ่มๆ ซึ่งบังคับให้อินเดียปลูกฝิ่น และบังคับให้จีนต้องซื้อยาเสพติดชนิดนี้

พวกชนชั้นนำด้านเทค แสดงให้เห็นถึงความเย่อหยิ่งทระนงตน ชนิดที่กระทั่งแนวความคิด “ภาระของคนผิวขาว” (white man’s burden) อันอหังการ์ของกวีจักรวรรดินิยมอังกฤษอย่าง รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) ต้องอายม้วนต้วนไปเลย ชนชั้นนำด้านเทคเหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์ได้ ด้วยการนำเอาคนกับเครื่องจักรมารวมผสมเข้าด้วยกันโดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) และจากความสำเร็จของพวกเขาในการใช้มนตร์สะกดคนรุ่นเยาว์ชาวอเมริกันจนอยู่หมัดโดยอาศัยความบันเทิงเริงรมย์ คือลางร้ายบอกเหตุล่วงหน้าให้ทราบว่า กำลังจะเกิดมนุษยชาติชนิดใหม่ซึ่งถูกนำออกมาด้วยวิศวกรรมทางสังคม

พวกผู้อาวุโสจำนวนมากของชนชั้นนำเหล่านี้เชื่อว่า จิตสำนึกของมนุษย์สามารถที่จะดาวน์โหลดนำไปใส่เอาไว้ในชิปคอมพิวเตอร์ และสามารถบรรลุถึงความเป็นอมตะประเภทหนึ่งที่ยึดโยงอาศัยแผ่นซิลิคอน ความโอหังทระนงตนและการเรียกร้องอวดอ้างของพวกเขานั้นล้ำเกินเลยกว่าที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ และซีซาร์ มีอยู่เสียด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ดูหมิ่นสบประมาทค่านิยมที่เรียบๆ ง่ายๆ ในเรื่องครอบครัวและเรื่องชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถักร้อยชีวิตของชาวอเมริกันธรรมดาสามัญไว้ด้วยกัน

นี่แหละคือเหตุผลที่ทำไมจีนจึงน่าที่จะผงาดขึ้นไปเป็นพลังครอบงำในโลกในช่วงศตวรรษที่ 21 มันไม่ใช่เป็นเพราะว่าชาวจีนฉลาดหลักแหลมกว่าหรือมีนวัตกรรมสูงกว่า แต่จักรวรรดิเสมือนจริงของเมริกาได้กลายเป็นหล่มลึกสำหรับดูดเอาวิสาหกิจและผู้มีความรู้ความสามารถของประเทศชาติให้จมถลำ ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรอย่างโดดเด่นของจักรวรรดินี้ก็มาจากกิจกรรมซึ่งทอนกำลังและสร้างความเสื่อมโทรมเน่าเฟะให้แก่คุณลักษณะอเมริกัน

สเปงเกลอร์ เป็นนามปากกาของคอลัมนิสต์ผู้โด่งดังของเอเชียไทมส์มายาวนาน ในปัจจุบันมีการเปิดเผยแล้วว่า ตัวจริงของ สเปงเกลอร์ คือ เดวิด พี. โกลด์แมน (David P. Goldman) ที่เวลานี้เป็นผู้ถือหุ้น บรรณาธิการบริหาร รวมทั้งมีข้อเขียนเผยแพร่ในเอเชียไทมส์เป็นประจำ โดยใช้ชื่อจริงบ้างนามแฝงนี้บ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น