xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิสสาร : แหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ กับการใช้ทดสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 2007 Michel Mayor (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ ปี 2019) ได้รายงานการเห็นดาวเคราะห์ Gliese 581c ที่กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ Gliese 581 ดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้ มีรัศมี 1.5 เท่าของโลก มีมวล 5.5 เท่าของโลก อยู่ห่างจากโลก 20.42 ปีแสง และมีวงโคจรเป็นวงรี โดยมีคาบการโคจรรอบดาวฤกษ์ ซึ่งเป็นดาวแคระแดง = 12.914 ± 0.002 วัน เพราะดาวดวงนี้มีลักษณะทางกายภาพคล้ายโลก แต่มีขนาดใหญ่กว่า จึงเป็นดาวเคราะห์ชนิด Super – Earth


ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแสดงว่า ดาวดวงนี้มีน้ำที่ผิวดาว และท้องฟ้าเป็นสีเลือดหมู ข้อมูลเหล่านี้ คงทำให้เราหลายคนนึกอยากจะไปเยือน แต่เมื่อรู้ว่าดาว Gliese 581c อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 1 ล้านเท่า ของระยะทางที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลก ดังนั้น ใครที่คิดจะใช้จรวดเดินทางไปด้วยความเร็ว ½ ของความเร็วแสง ก็คงต้องใช้เวลาประมาณ 50 ปี จึงจะถึง และอีก 50 ปี ในการเดินทางกลับ

ในอดีตยาน Voyager 1 ซึ่งเมื่อปี 2000 มีความเร็ว 100 กิโลเมตร/วินาที ถ้ายานที่จะไปดาว Gliese 581c มีความเร็วเท่ากับยาน Voyager 1 ยานก็จำเป็นต้องใช้เวลานานประมาณ 60,000 ปี ในการเดินทาง จึงจะถึงที่นั่น หรือถ้าใครคิดจะใช้พลังงานปรมาณูในการขับเคลื่อนยาน ก็จะพบว่า พลังงานนิวเคลียร์ที่ได้แบบ fission สามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางได้บ้าง แต่ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30,000 ปี

ครั้นจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจาก carbon nanotube หรือ graphene ที่มีมวลเบามาก ขนาดของแผง solar cell ที่จำเป็นต้องใช้ก็ต้องมีพื้นที่มากถึง 1 แสนตารางกิโลเมตร เพื่อใช้ในการเดินทางด้วยความเร็ว 3,000 กิโลเมตร/วินาที เป็นเวลานาน 2,000 ปี

นักเทคโนโลยีบางคนคิดจะใช้แสงเลเซอร์ที่มีพลังงานสูง โดยตั้งใจจะโฟกัสแสงเลเซอร์ไปที่แผง solar cell แต่แหล่งแสงเลเซอร์ที่ใช้ ก็ต้องมีกำลังสูงมากมหาศาล อีกทั้งเลนส์ที่ใช้ ก็ต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 1,000 กิโลเมตร เพื่อการเดินทางไปเป็นเวลานาน 40 ปี แต่ ณ วันนี้ เราทุกคนก็ตระหนักได้ว่า โลกยังไม่มีเทคโนโลยีสร้างเลเซอร์ที่มีพลังงานสูงมากระดับนั้นได้เลย (และถ้ามี เราคงใช้มันในการสร้างพลังงานแบบ fusion มากกว่าที่จะใช้เดินทางไปชมพระอาทิตย์ตกดิน ที่ดาว Gliese 581c)

แต่นักฟิสิกส์ก็ยังไม่หมดความหวัง เพราะรู้ว่ายังมีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถจะเป็นแหล่งให้พลังงานมากมหาศาลได้ นั่นคือจากการใช้ปฏิสสาร (antimatter) ซึ่งเป็น “ปฏิปักษ์” กับสสารธรรมดาที่เรารู้จักกันดี ในนามของอิเล็กตรอน โปรตอน อะตอม โมเลกุล ฯลฯ อันได้แก่ อนุภาค positron , อนุภาค antiproton , antiatom , antimolecule และอาจจะมี antiplanet , antigalaxy , antiuniverse , antilife ฯลฯ ที่ยังไม่มีใครเห็นหรือพบ เพราะทฤษฎีฟิสิกส์ไม่ปฏิเสธการมี antimatter เหล่านี้เลย

ความแตกต่างระหว่างสสารกับปฏิสสารอยู่ที่ชนิดของประจุ เช่น อิเล็กตรอน ซึ่งเป็นสสารธรรมดาจะมีประจุลบ และ positron ซึ่งเป็นปฏิสสารของอิเล็กตรอน จะมีประจุบวก ส่วนในเรื่องของมวลนั้น อนุภาคทั้งสองมีมวลเท่ากันทุกประการ ดังนั้นจึงมีเส้นทางการเคลื่อนที่ในสนามแม่เหล็ก และสนามไฟฟ้าที่ตรงกันข้ามกัน

ส่วนโปรตอนนั้น ก็เป็นสสารธรรมดา และที่มีประจุบวก และมีอนุภาค antiproton ซึ่งเป็นประจุลบ เป็นปฏิสสารตรงกันข้ามกับมัน หรือในกรณีอะตอมไฮโดรเจน ที่มีโปรตอนอยู่ตรงกลาง และมีอิเล็กตรอนโคจรไปโดยรอบ อะตอมแอนติไฮโดรเจน (antihydrogen) ก็มี antiproton อยู่ตรงกลาง และมี antielectron หรือ positron โคจรไปโดยรอบ เป็นต้น

ความน่าสนใจของปฏิสสารในส่วนที่เกี่ยวกับการเป็นแหล่งพลังงาน คือ ถ้าเราให้อนุภาคอิเล็กตรอนพุ่งชนอนุภาค positron อนุภาคทั้งสองจะทำลายกันและกันอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ มวล (M) ของอนุภาคทั้งคู่ จะสลายหายไป กลายเป็นพลังงานแสง (E) ตามสมการ E=Mc2 เมื่อ c เป็นความเร็วแสง นั่นหมายความว่า ถ้าปฏิสสารมวล 1 กิโลกรัม รวมกับสสาร เราจะได้พลังงานประมาณ 100 ล้านเท่าของพลังงานที่ได้จากการระเบิดของลูกระเบิด TNT 1 กิโลกรัม หรือมากประมาณ 1,000 เท่าของพลังงานที่ได้จากปฏิกิริยา fission หรือคิดเป็น 100 เท่าของพลังงานที่ได้จากปฏิกิริยา fusion

คำถามสำคัญที่ตามมา คือ ถ้าเราได้พลังงานมากเช่นนี้จากปฏิสสาร แล้วเราจะผลิตปฏิสสารได้ในปริมาณมาก ในราคาไม่แพง และใช้เวลาผลิตไม่นาน ได้อย่างไร (นี่คือปัญหาบิ๊ก ที่ถ้าใครตอบและทำได้ ก็จะได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์อย่างแน่นอน)


กาลานุกรมโดยย่อของความรู้ฟิสิกส์เรื่องปฏิสสาร ได้กำเนิดเมื่อประมาณปี 1930 คือเมื่อ 90 ปีก่อน จากผลงานของ Paul Dirac ผู้ซึ่งนำทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของ Albert Einstein มาใช้ในการอธิบายสมบัติทางกายภาพของอะตอมไฮโดรเจน เพราะได้ตระหนักว่า อิเล็กตรอนของอะตอมไฮโดรเจนมีความเร็วค่อนข้างสูง (คือ ประมาณ 1/100 ของความเร็วแสง) สมการ Dirac แสดงให้เห็นว่า คำตอบที่ได้จากการแก้สมการ ให้ค่าพลังงานของอิเล็กตรอนเป็นลบ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกและ Dirac ก็ได้ชี้แจงว่า พลังงานค่านี้เป็นของอนุภาคที่ยังไม่มีใครเคยเห็น และอนุภาคนี้มีมวลเท่ากับอิเล็กตรอนทุกประการ แต่มีประจุเป็นบวก


อีกหนึ่งปีต่อมา คือ ในปี 1931 Carl Anderson ก็สามารถถ่ายภาพของอนุภาค positron ได้ ในห้องเมฆ (cloud chamber) ขณะอนุภาคเคลื่อนที่ออกจากแผ่นตะกั่ว แล้วเบนโค้งไปในสนามแม่เหล็ก ในทิศทางตรงกันข้ามกับอิเล็กตรอน

ถึงปี 1933 Dirac ก็ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ร่วมกับ E. Schrödinger

และในปี 1936 Anderson ก็ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ จากผลงานการพบอนุภาคที่เป็นปฏิสสารตัวแรก คือ positron


ต่อมาในปี 1955 Emilio Segrè และ Owen Chamberlain ก็ได้พบอนุภาค antiproton ซึ่งเป็นปฏิสสารของโปรตอน ในขณะที่โปรตอนมีประจุบวก antiproton ก็มีประจุลบ และเมื่อทั้งสองอนุภาคนี้ มีมวลเท่ากันทุกประการ ผลงานนี้ทำให้คนทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ร่วมกัน ในปี 1959


ในปี 1965 Antonino Zichichi กับ Leon Lederman สามารถสร้างอะตอม antideuteron ได้เป็นครั้งแรก อะตอมประดิษฐ์ (artificial atom) ชนิดนี้ มี antiproton กับ antineutron อยู่ที่ศูนย์กลางเป็นนิวเคลียส และมีอนุภาค positron โคจรอยู่โดยรอบ (antineutron ไม่มีประจุเช่นเดียวกับ neutron แต่มีเลข baryon เป็น ลบ ในขณะที่เลข baryon ของ neutron เป็นบวก)

ในปี 1995 Walter Oelert และ Mario Macri สามารถสร้างอะตอมแอนติไฮโดรเจน (antihydrogen atom) ได้เป็นครั้งแรก อะตอมประดิษฐ์ชนิดนี้ มีอนุภาค antiproton เป็นนิวเคลียส และ antielectron หรือ positron โคจรอยู่โดยรอบ นี่เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะนักฟิสิกส์สามารถใช้อะตอมชนิดนี้ เป็นตัวทดสอบความถูกต้องอย่างสมบูรณ์แบบของทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับพลังงานของอิเล็กตรอนในอะตอมไฮโดรเจนกับพลังงานของ positron ในอะตอม antihydrogen ก็ได้พบว่ามีค่าไม่แตกต่างกันเลย หรือใช้ทดสอบหาค่า alpha (α) ซึ่งเป็นค่าคงตัวโครงสร้างละเอียด (fine-structure constant) และค่า Lamb shift ฯลฯ ก็พบว่าสอดคล้องตรงตามทฤษฎี Charge-Parity-Time invariance (CPT) ของกลศาสตร์ควอนตัมทุกประการ

แม้ทุกวันนี้ นักฟิสิกส์สามารถสร้าง antiatom บางชนิดได้แล้ว แต่ความหวังที่จะสร้าง antimatter ในปริมาณมากก็ยังมีอยู่ ส่วนการที่จะได้เห็น antiuniverse นั้น ก็ยังไม่เป็นจริงความจริง ทั้ง ๆ ที่ Samuel Ting (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1976 ผู้พบอนุภาค J/ψ) ได้พยายามแล้ว โดยใช้อุปกรณ์ Alpha Magnetic Spectrometer (AMS) ค้นหาปฏิเอกภพ โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์ AMS นี้ ในสถานีอวกาศนานาชาติ International Space Station (ISS) ก็ยังไม่พบ ตามรายงานล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2018

ความยากลำบากในการสร้างปฏิสสารนั้น อาจจะเข้าใจได้จากการอ่านงานวิจัยของ W. Oelert เมื่อ 25 ปีก่อน ขณะพยายามสร้างสร้างอะตอม antihydrogen ว่า เขาต้องสร้างอนุภาค antiproton ให้ได้จำนวนมากก่อน โดยใช้เครื่องเร่งอนุภาคที่ Institute for Nuclear Physics ณ เมือง Jülich ในประเทศเยอรมนี จากนั้นก็ยิงอนุภาค antiproton จำนวนนับล้านล้านล้านตัวไปในแก๊ส xenon ซึ่งมีอนุภาคโปรตอนอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อ proton เผชิญ antiproton ก็จะมีรังสีแกมมาเกิดขึ้นทันที แล้วเมื่อให้รังสีแกมมาที่เกิดขึ้น ผ่านใกล้นิวเคลียสของ xenon รังสีก็จะเปลี่ยนสภาพเป็น electron กับ positron อีกทอดหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อให้อนุภาค positron ที่เกิดขึ้นใหม่ มีความเร็วสูงพอ ๆ กับอนุภาค antiproton ที่มีอยู่ อนุภาคทั้งสองก็จะจับคู่กัน โดยอาศัยแรงไฟฟ้ากลายเป็นอะตอม antihydrogen ทันที

Oelert ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างอะตอม antihydrogen ได้ 11 อะตอม จากการใช้อนุภาค antiproton จำนวน 5 ล้านล้านอนุภาค และเขาได้มีเวลาเห็นอะตอม antihydrogen เป็นเวลานาน 0.000,000,004 วินาที แล้วมันก็สลายตัวไป เพราะได้ไปปะทะกับอนุภาคอิเล็กตรอนและอนุภาคโปรตอน ที่มีอยู่ในภาชนะทดลอง

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นความยากลำบากในการจะสร้าง antimatter ว่าอุปสรรคมีมากเกินที่มนุษย์ธรรมดา ณ วันนี้จะทำได้ในปริมาณมาก และให้มีราคาถูกด้วย

แต่เมื่อใด (ชาตินี้ ชาติหน้า หรือชาติไหน) ที่เราสร้างได้ การเดินทางไปต่างดาว โดยใช้เชื้อเพลิงที่เกิดจากการประลัย (annihilation) ระหว่างสสาร (matter) กับปฏิ สสาร (antimatter) ก็สามารถกระทำได้ในทันที

เพราะประเด็นการสลายตัวอย่างรวดเร็วของ antimatter เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องนี้จึงทำให้นักฟิสิกส์กังวล เพราะทันทีที่มีการสร้าง antiparticle ได้ เขาก็จะต้องกักเก็บมันให้อยู่ในกับดัก (trap) โดยอาจใช้ Penning trap ที่ประกอบด้วยสนามแม่เหล็ก และสนามไฟฟ้า และให้ลอยตัวอยู่ในสุญญากาศเป็นเวลานาน โดยไม่ให้ลอยไปกระทบผนัง หรือสสารธรรมดาใด ๆ เลย

เมื่อการใช้ปฏิสสารเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนยานอวกาศไปต่างดาวยังเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้น นักฟิสิกส์จึงใช้ปฏิสสารในการทำวิจัยฟิสิกส์บริสุทธิ์ เพื่อหาความแตกต่างใด ๆ ระหว่างปฏิสสารกับสสาร เพราะทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมได้ทำนายไว้ว่า จะไม่มีความแตกต่างกันเลย เช่น ใช้อนุภาค antielectron หรือ positron ซึ่งตามปกติจะได้จากการสลายตัวของนิวเคลียสกัมมันตรังสีบางชนิด และใช้ antiproton ซึ่งได้จากการยิงอนุภาคโปรตอนที่มีพลังงานสูงในเครื่องเร่งอนุภาคที่ CERN ให้ไปกระทบเป้าที่เป็นธาตุหนัก แล้วพยายามหน่วงอนุภาค antiproton ให้มีความเร็วน้อยลง โดยใช้กระแสอิเล็กตรอน จนกระทั่งอนุภาค antiproton มีความเร็วประมาณ 10% ของความเร็วตั้งต้น เพื่อใช้สร้างอะตอม antihydrogen หรืออะตอม antiprotonic helium ซึ่งเป็นอะตอมสังเคราะห์ชนิดใหม่ที่มีนิวเคลียส ซึ่งประกอบด้วย นิวเคลียสของอะตอม helium ธรรมดา แต่มีอิเล็กตรอน และอนุภาค antiproton โคจรอยู่โดยรอบ แทนที่จะมีอิเล็กตรอน 2 อนุภาค ในวงโคจรเหมือนอะตอม helium ทั่วไป เพื่อศึกษาคุณสมบัติแปลก ๆ ที่อะตอมเหล่านี้อาจจะมีนักฟิสิกส์อนุภาคมูลฐาน นิยมนำอนุภาคมูลฐานชนิดต่าง ๆ มาประกอบกันขึ้นเป็นอะตอมใหม่ ๆ ในทำนองเดียวกับนักชีววิทยาที่ชอบผสมพืช/สัตว์ เพื่อให้ได้สิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่


ดังนั้น เราจึงมีการทดลองที่ใช้ปฏิสสารที่สำคัญหลายโครงการ เช่น

1. โครงการ Alpha ซึ่งใช้แสง laser กระตุ้นอะตอม antihydrogen ให้เปล่งแสง และถ้าทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมมีความสมบูรณ์ 100% แสงทุกคลื่นจากอะตอม antihydrogen ก็จะมีความยาวคลื่นเท่ากับแสงจากอะตอม hydrogen

2. โครงการ ASACUSA ซึ่งได้ทำให้ antiatom หลายชนิดกลายสภาพ และมีสมบัติ polarization เป็น polar atom เพื่อศึกษาอันตรกิริยา hyperfine ของมันกับคลื่น microwave และ laser

3. โครงการ ATRAP เพื่อวัดค่า moment แม่เหล็ก และอัตราส่วนระหว่างประจุ / มวล ของอนุภาค antiproton และศึกษาแสงที่อะตอม antihydrogen ปล่อยออกมา เวลาถูกกระตุ้น

4. โครงการ Antihydrogen Experiment: Gravity, Interferometry, Spectroscopy (AEgIS) เพื่อศึกษาความเร่ง เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของอะตอม antihydrogen ขณะตกในสุญญากาศ ว่าแตกต่างจากอะตอม antihydrogen หรือไม่

ในอดีตเมื่อ 2,000 ปีก่อน Aristotle ปราชญ์กรีซ ได้เคยแถลงว่า วัตถุที่หนัก 100 เท่าของวัตถุเบา จะตกเร็วกว่าวัตถุเบา 100 เท่า คือ ถึงพื้นเร็วกว่า 100 เท่า ความเชื่อนี้ได้รับการแย้งค้านโดย Galileo Galilei ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งได้แถลงว่า วัตถุไม่ว่าจะหนักหรือเบา ก็จะตกถึงพื้นพร้อมกันเสมอไป ถ้าปล่อยจากที่สูงระดับเดียวกัน และในเวลาเดียวกัน โดยตำนานได้อ้างว่า Galileo ได้ทดลองโยนวัตถุหนักและเบาจากยอดหอคอยเอนแห่งเมือง Pisa ในประเทศอิตาลี เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 Isaac Newton ก็ได้ใช้ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง และกฎการเคลื่อนที่ของตน ยืนยันว่า วัตถุจะหนักหรือจะเบาก็ใช้เวลาเท่ากัน ความคิดของ Newton ได้รับการตอกย้ำว่าถูกต้อง โดย Albert Einstein ในอีก 200 ปีต่อมา โดยใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานของหลักสมมูล (Equivalence Principle , EP) ที่มีใจความว่า ความเร่งของวัตถุในสนามแรงโน้มถ่วง ไม่ขึ้นกับมวล ชนิด หรือรูปทรงของวัตถุเลย และหลักสมมูลนี้ ได้รับการยืนยันว่าถูกต้องจากการทดลองเกือบ 100% คือ ผิดพลาดไม่เกิน 1 ส่วน จาก 10 ล้านล้านส่วน

คำถามที่ทุกคนสนใจในขั้นต่อไป คือ ถ้าหลักการนี้เป็นจริงในกรณีของสสารแล้ว มันจะเป็นจริงในกรณีของปฏิสสารหรือไม่ และถ้าหลักการนี้โอเค คือ ใช้ได้อย่างดีเลิศในระดับอะตอม ทฤษฎีควอนตัมของแรงโน้มถ่วง (ซึ่งยังไม่มี) ก็น่าจะสามารถใช้การทดลองเรื่องนี้พิสูจน์ได้เช่นกัน และถ้าจะให้ดี การทดลองต้องละเอียดและผิดพลาดไม่เกิน 1 ส่วน จาก 100 ล้านล้านส่วน

ในปี 2018 Philippe Bouyer ในสังกัดสถาบัน Institut d'Optique ซึ่งตั้งอยู่ที่ใกล้กรุงปารีส ในประเทศฝรั่งเศส ได้ออกแบบการทดลองที่ให้ผลละเอียดกว่าการทดลองเดิมถึง 1,000 เท่า โดยได้ปล่อยสสาร ซึ่งประกอบด้วยอะตอมของธาตุ rubidium-87 และธาตุ potassium-39 ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำมาก (ใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ ประมาณ -273 องศาเซลเซียส) เพื่อให้อะตอมมีความเร็วเกือบเป็นศูนย์ คือ แทบจะหยุดนิ่ง และพบว่าอะตอมของสสารทั้งสองธาตุตกถึงพื้นพร้อมกัน

ในเวลาต่อมา Bouyer ได้นำกลุ่มอะตอมชนิดนี้ ขึ้นเครื่องบิน Airbus-300 ทยานขึ้นที่สูงในลักษณะที่มีวิถีโคจรเป็นรูปโค้ง parabola และขณะบินลง โดยการดับเครื่องยนต์ อะตอมจะตกอยู่ในสภาพที่ไร้น้ำหนัก นี่จึงเป็นการตกแบบเสรี และได้พบว่าถ้าใช้สนามแม่เหล็กกระทำต่ออะตอม ทิศ spin ขึ้นหรือ spin ลงของอะตอมไม่มีอิทธิพลต่อแรงโน้มถ่วงเลย

ในการทดลองต่อมา Bouyer ได้ใช้แสงเลเซอร์แยกอะตอมของธาตุทั้งสอง ออกเป็นสองกลุ่มเล็ก แล้วปล่อยให้ตกอย่างเสรี เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง เขาได้ให้อะตอมทั้งสองนี้ ปล่อยคลื่นแทรกสอดกัน ซึ่งถ้าคลื่นทั้งสองมีเฟสแตกต่างกัน นั่นก็แสดงว่าอะตอมมีความเร่งที่แตกต่างกัน และจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับหลัก EP แต่ก็ไม่ได้พบความแตกต่างใด ๆ

ในปี 2025 Bouyer จะพยายามทดลองเรื่องนี้อีก โดยใช้ดาวเทียมในโครงการ Space-Time Explorer and QUantum Equivalence Principle Space Test (STE-QUEST) ที่มีมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท จากนั้นก็จะทดสอบโดยใช้ปฏิสสาร เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของหลักสมมูลว่ายังเป็นจริงหรือไม่

และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ปี 2021 ที่ผ่านมานี้ Ulrich David Jentschura แห่ง Missouri University of Science and Technology ที่ Rolla ในรัฐ Missouri ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เสนอทฤษฎีที่ใช้ปฏิสสารในการตกเสรี เพื่อทดสอบว่าชนิดของประจุ (บวก , ลบ) จะทำให้ความเร่งในการตกของปฏิสสารแตกต่างจากสสารหรือไม่ ที่ผู้วิจัยคิดว่า จะตอบคำถามได้อย่างละเอียดกว่าเดิมถึง 1,000 เท่า

อ่านเพิ่มเติมจาก “Antimatter Free-Fall Experiments and Charge Asymmetry” ในวารสาร Symmetry 13 (7) : 1192 DOI : 10.3390/sym13071192


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น