หลังจากรอมา 9 ปีเพื่อส่งมนุษย์ไปอวกาศจากแผ่นดินอเมริกาอีกครั้ง บรรยากาศเดิมๆ ก็กลับมา เมื่อปฏิบัติการต้องเลื่อนออกไปเพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ โดยจะกลับมาลุ้นอีกครั้งในช่วงเข้าสู่วันใหม่ของวันอาทิตย์นี้
ภารกิจส่งมนุษย์อวกาศไปสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ฟลอริดา สหรัฐฯ โดยสเปซเอกซ์ (SpaceX) ในเที่ยวบินทดสอบสุดท้าย ที่มีผู้โดยสารจริงเมื่อช่วงก่อนเช้าวันที่ 28 พ.ค.2020 ต้องเลื่อนเพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ
การเลื่อนภารกิจดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 17 นาที ก่อนที่จะถึงกำหนดปล่อยยาน โดยมี บ็อบ เบห์นเกน (Bob Behnken) และ ดัก เฮอร์เลย์ (Doug Hurley) มนุษย์อวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ประจำอยู่ในแคปซูลดรากอน (Crew Dragon capsule) บนฐานปล่อยจรวด และจรวดอยู่ระหว่างการเติมเชื้อเพลิง
ไมค์ เทย์เลอร์ (Mike Taylor) ผู้อำนวยการปล่อยจรวด บอกว่าเป็นโชคไม่ดีที่ไม่ได้ปล่อยจรวดในวันดังกล่าว โดย จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้อำนวยการนาซา พบว่ามีประจุไฟฟ้าในบรรยากาศมากเกินไป ซึ่งสภาพอากาศขณะเตรียมปล่อยจรวดอาจไม่มีฝนฟ้าคะนองอย่างชัดเจน แต่ก็มีความกังวลว่า หากปล่อยจรวดออกไป จะกระตุ้นให้เกิดฟ้าผ่าได้จริงๆ
เหตุการณ์ฟ้าผ่าจรวดเคยเกิดขึ้นในภารกิจอะพอลโล 12 (Apollo 12) ซึ่งเกิดฟ้าผ่าขึ้นถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ หลังปล่อยจรวด แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายแก่เครื่องมือสำคัญ และภารกิจก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี
ทั้งนี้ จรวดและไอเสียที่พุ่งผ่านเมฆจะทำหน้าที่เป็นตัวนำและจุดชนวนให้เกิดฟ้าผ่าได้ แม้ประจุในบรรยากาศอยู่ระดับต่ำกว่าประจุที่ทำให้เกิดฟ้าผ่าได้ตามธรรมชาติ
การเลื่อนออกไปนี้ทำให้ปฏิบัติการต้องชะลอออกไปอีกอย่างน้อย 2 วัน โดยกำหนดการใหม่คือช่วงประมาณตี 2 ของวันอาทิตย์ที่ 30 พ.ค.2020 ทำให้ชาวอเมริกันต้องอดทนรออีกนิด หลังจากไม่ได้ส่งมนุษย์ไปอวกาศจากฐานปล่อยจรวดในประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 ซึ่งเป็นปีปลดระวางฝูงกระสวยอวกาศ