xs
xsm
sm
md
lg

หุ่นยนต์รถเคลื่อนที่ปราบโควิด-19 ด้วยรังสียูวี ประหยัดน้ำยาฆ่าเชื้อ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 เจิร์ม เซเบอร์ โรบอท 1
อิมแพ็ค เลือกนวัตกรรมเครื่องฉายแสงยูวีฆ่าเชื้อแบบเคลื่อนที่ Germ Saber UVC Sterilizer เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ผลงานวิจัยร่วมของ สวทช. และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นที่ภายในศูนย์ฯ มากกว่า 140,000 ตร.ม. พร้อมรองรับการเปิดบริการอีกครั้ง

นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดบริการอีกครั้ง ภายหลังต้องปิดบริการตามคำสั่งทางราชการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นานร่วม 3 เดือน ซึ่งที่ผ่านมา อิมแพ็ค ได้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

“เมื่อเร็วๆ นี้ทางราชการได้ประกาศผ่อนปรนระยะที่ 2 อนุญาตบางกิจการเปิดบริการได้ ซึ่งรวมถึง อิมแพ็ค ในกลุ่มของการจัดงานประชุม สัมมนา จำกัดจำนวน 50 ท่าน ภายใต้การจัดการด้านสาธารณสุข ที่ต้องห่วงใยดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ นิวนอร์มอล ควบคู่มาตรฐานการบริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ด้วยคอนเซ็ปต์ อิมแพ็ค มากกว่าความปลอดภัยคือความสมาร์ท” นายพอลล์กล่าว

ล่าสุดอิมแพ็ค ได้เลือกนวัตกรรมเครื่องฉายแสงยูวีฆ่าเชื้อแบบเคลื่อนที่ Germ Saber UVC Sterilizer ผลงานวิจัยร่วมของศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีส่งเสริมความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานมาใช้ควบคู่กับเครื่องมืออื่นๆ เพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อโรค ภายในศูนย์ฯ ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 140,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ผู้จัดงาน ผู้มาร่วมงานต่างๆ เมื่อทางราชการประกาศอนุญาตให้เปิดบริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ด้าน ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์กําจัดเชื้อโรคด้วยวิธีการฉายแสงยูวีซี: Germ Saber UVC Sterilizer ถือเป็นนวัตกรรมที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมวิจัยพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยลดการใช้นํ้ายาพ่นฆ่าเชื้อและไม่ทําให้เกิดสารตกค้างจากการปนเปื้อนของสารเคมี สําหรับใช้เป็นเครื่องมือกําจัดเชื้อก่อโรคในโรงพยาบาลและสถานที่เสี่ยงต่างๆ ในเวลาอันจํากัด

ปัจจุบันมีจํานวน 2 รุ่น ได้แก่ Germ Saber Station เป็นอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ด้วยการเข็นไปยังจุดต่างๆ ควบคุมการเปิดปิดระยะไกลด้วยรีโมตคอนโทรลคลื่นวิทยุ และ Germ Saber Robot หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี ซึ่งควบคุมการเปิดปิดและการที่เคลื่อนที่แบบอัตโนมัติด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าภายในที่ขับเคลื่อนชุดล้อ Mecanum ให้เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระทุกทิศทางแม้ในสภาพพื้นผิวขรุขระหรือมีเนิน เครื่อง Germ Saber Robot ใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่เพียง 4-6 ชั่วโมงและสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง

นอกจากนี้ Germ Saber Robot ยังมีกล้องวัดระยะทางรอบเครื่องทั้ง 4 ด้านเพื่อป้องกันการชนสิ่งกีดขวาง สามารถสั่งการได้สะดวกผ่านระบบแอนดรอยด์ แอปพลิเคชัน (Android Application เวอร์ชัน 5.0 ขึ้นไป) เหมาะสําหรับใช้งานในพื้นที่ต่างๆ ในช่วงเวลาที่ไม่มีคนอยู่ เพื่อฆ่าเชื้อโรคตามจุดต่างๆ เฉลี่ยจุดละ 30 นาที หรือเพียง 15 นาทีในระยะ 135 เซนติเมตร ระหว่างจุดฆ่าเชื้อกับตัวเครื่อง โดยผู้ใช้งานสามารถตั้งเวลาการทำงานของหลอด UVC ได้อีกด้วย

สําหรับ Germ Saber ทั้ง 2 รุ่น ติดตั้งจำนวนหลอดกำเนิดแสงยูวีซี 8 หลอด (อายุใช้งานประมาณ 9,000 ชั่วโมง) มีจุดเด่น คือ ประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อโรค 99.9% ฆ่าเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นอยู่ในย่านความถี่ประมาณ 250 นาโนเมตร เป็นช่วงคลื่นที่มีประสิทธิภาพสูงในการกําจัดและหยุดยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ บนพื้นผิวเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมถึงเชื้อไวรัสที่อยู่ในฝอยละอองที่ลอยในอากาศได้

“จึงเหมาะสมในการนํามาใช้ทดแทนหรือเสริมการฉีดพ่นนํ้ายาฆ่าเชื้อโรคจากปกติได้เป็นอย่างดี ช่วยลดระยะเวลาการทําความสะอาด และความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้นําต้นแบบ Germ Saber ไปทดสอบการใช้งานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากการทดสอบเปิด Germ Saber ในลิฟต์เป็นเวลา 15 นาที ผลปรากฏว่าเชื้อโรคที่พบบริเวณปุ่มกดลิฟต์ถูกกําจัดได้หมด” ดร.ศิวรักษ์อธิบาย

 เจิร์ม เซเบอร์ โรบอท 1 และแทปเลตในการควบคุม

 เจิร์ม เซเบอร์ โรบอท1 ทดสอบการควบคุมผ่านแอนดรอย์ แอปพลิเคชัน ในพื้นที่เมืองทอง

(ขวา) ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม (ซ้าย) นายพอลล์ กาญจนพาสน์


กำลังโหลดความคิดเห็น