xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห้าม “อบสมุนไพร” ให้รักษาแค่นวด-ประคบ-ทับหม้อเกลือ หากคลายล็อกเฟส 3 บริการแพทย์แผนไทย แจงยิบมาตรการคุมโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ. เตรียมพร้อมบริการแพทย์แผนไทย หลังคลายล็อก อนุญาตแค่จ่ายยาสมุนไพร ทำหัตถการเพียงนวดรักษา ยกเว้นใบหน้า ประคบรักษา ทับหม้อเกลือ ยังห้ามอบสมุนไพร ให้บริการไม่เกิน 1 ชั่วโมง ทำความสะอาด เตียง เบาะ เปลี่ยนผ้าปูทุกครั้งหลังบริการ พักเตียงนาน 30 นาที แนะผู้ป่วยจองคิวก่อน


วันนี้ (27 พ.ค.) นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการจัดบริการการแพทย์แผนไทยในระบบสาธารณสุขของรัฐ ว่า บริการการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วย การตรวจวินิจฉัยโรค การสั่งจ่ายยาสมุนไพร การทำหัตถการ คือ การนวดไทย การประคบสมุนไพร การอบสมุนไพร และการทับหม้อเกลือ ทั้งนี้ การผ่อนคลายที่จะเกิดขึ้น การบริการการแพทย์แผนไทยจะระงับการให้บริการอบสมุนไพรไปก่อน จะให้บริการเฉพาะสั่งจ่ายยา การนวด การประคบ และการทับหม้อเกลือในหญิงคลอดบุตร ทั้งนี้ การบริการแพทย์แผนไทยมีใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน ประมาณ 1 พันแห่งทั่วประเทศ ส่วน รพ.สต.จะให้บริการยาสมุนไพรประมาณ 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ บริการนวดไทยได้ประมาณ 4 พันแห่ง

“สำหรับการให้บริการ จะมีแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ ตรวจวินิจฉัยและสั่งการรักษา โดยจะมีผู้ช่วยแพทย์แผนไทย เป็นผู้ทำหัตถการ ในการนวดไทย ซึ่งการนวดเป็นไปเพื่อการบำบัดรักษาเท่านั้น ส่วนการบริการต้องเตรียมความพร้อม 3 ส่วน คือ หน่วยบริการ ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ โดยผู้ไปรับบริการต้องเตรียมพร้อมตัวเอง ว่า มีโรคประจำตัว การเจ็บป่วยหรือไม่ ควรไปหรือไม่ ตอนนี้ควรไป รพ.เท่าที่จำเป็น ไปแล้วอยู่ให้สั้นใช้เวลาน้อยที่สุด ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ทางที่ดีที่สุด คือ นัดหมายล่วงหน้าก่อนไป สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ส่วนแพทย์แผนไทยและผู้ช่วยจะทำหัตถการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม ถ้าเลี่ยงนวดได้ก็จะเลี่ยง” นพ.ปราโมทย์ กล่าว


นางอัจฉรา เชียงทอง รอง ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสถานบริการ คือ 1. คัดกรองวัดอุณหภูมิทุกราย ทั้งคนมารับบริการ และผู้ปฏิบัติงาน ถ้ามีไข้เกิน 37.3 องศาเซลเซียส และมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสกลุ่มผู้ติดเชื้อมา เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง มีโรคประจำตัวอาจเกิดควมเสียงได้ จะส่งต่อแพทย์แผนปัจจุบันดูแล แต่หากมีอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ แต่ไม่เข้ากลุ่มเสี่ยง เช่น อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอธรรมดา จะส่งต่อพบแพทย์แผนไทยวินิจฉัยสั่งจ่ายยาได้ 2. ลงทะเบียนนัดหมาย มีระบบจองคิวรับคิวล่วงหน้า ทั้งออนไลน์ โทรศัพท์ และแอปพลิเคชัน เมื่อมารับบริการจะให้กรอกข้อมูลรายชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เพื่อติดต่อได้เมื่อต้องสอบสวนโรค บันทึกการให้บริการทุกรายทุกกิจกรรม และมีระบบติดตาม 14 วันหลังให้บริการ

3. เว้นระยะห่างบุคคล ทั้งเตียงบริการ และเบาะนวด ห่าง 1-2 เมตร 4. เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ทั้งหน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ ถุงมือ แก่ผู้ปฏิบัติงาน วางแอลกอฮอล์เจล 70% เตรียมให้ทุกจุดที่มีการบริการ และอุปกรณ์จะใช้แยกส่วนบุคคล อย่างลูกประคบสมุนไพรใช้ 1 ลูก 1 คน ไม่นึ่งซ้ำ โดยการนึ่งใช้ครั้งแรกจะความร้อนที่เหมาะสมไม่น้อยกว่า 30 นาที แต่สามารถให้กลับไปใช้ที่บ้านต่อได้ ส่วนผ้าห่อผ้ารองลูกประคบ ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ ขณะที่เสื้อผ้าให้ผู้รับบริการเปลี่ยน จะแยกเป็นถุง และฆ่าเชื้อทั้งหมด มีถุงพลาสติกใส่เสื้อผ้าผู้มารับบริการ จัดเตรียมอ่างล้างมือ สบู่ ถังขยะฝาปิดมิดชิด


5. การทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ เตียงตรวจ เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าขวาง ก่อนและหลังบริการทุกราย เตียงนวด ประคบ หมอน เบาะยางทุกครั้งหลังให้บริการ และพักเตียงหลังให้บริการอย่างน้อย 30 นาที ทำความสะอาดห้องนวด ประคบ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือใช้แสงยูวี ภายในสถานที่บริการหลังบริการในแต่ละวัน และทำความสะอาดเครื่องมือที่สัมผัสบ่อย เช่น ปุ่มลิฟต์ ราวบันได เครื่องวัดความดัน รวมถึงล็อกเกอร์ใส่ของหลังรับบริการทุกครั้ง ทำความสะอาดห้องน้ำ ป้องกันปนเปื้อนเชื้อในอากาศ

นางอัจฉรา กล่าวว่า สำหรับกิจการที่ทำได้ คือ ตรวจวินิจฉัยโรค สั่งจ่ายยาสมุนไพร นวดแผนไทยเพื่อรักษา ประคบเพื่อรักษา ดูแลมารดาหลังคลอด ระยะเวลามาอยู่กับเราไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง งดบางกิจกรรม เช่น อบไอน้ำสมุนไพร เพราะใช้ความร้อน 40 องศา ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ และเชื้อแพร่กระจายทางเดินหายใจ เชื้ออาจวนเวียนในห้องอบ คนต่อไปอาจเสี่ยงหากไม่ทำความสะอาดที่ดีเพียงพอ และงดนวดใบหน้า ศีรษะ กิจกรรมอื่นๆ ไม่จำเป็นก็งดไปก่อน แต่อาจอยู่ในดุลพินิจของแพทย์แผนไทยและตามความจำเป็น

นางอัจฉรา กล่าวว่า ส่วนผู้ให้บริการ ต้องสังเกตอาการตนเอง มีไข้ ทางเดินหายใจหรือไม่ ถ้ามีให้หยุดปฏิบัติงานแจ้งหน่วยงานทราบ ระหว่างบริการต้องใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ หมวกคลุมผม เฟซชิลด์ ผ้ากันเปื้อน เลี่ยงบริการใกล้ชิดใบหน้าผู้มารับบริการ ล้างมือทุกครั้งก่อน ระหว่าง และหลังให้บริการ ไม่ใช้สิ่งของร่วมผู้อื่น ระหว่างให้บริการควรพูดคุยน้อยที่สุด ซักถามเท่าที่จำเป็น แค่อาการคนไข้เท่านั้น ขณะที่ผู้รับบริการต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ล้างมือก่อนหลังเข้ารับบริการ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เว้นเก้าอี้ระหว่างรอคอย เลี่ยงสัมผัสจุดต่างๆ ไม่ปิดบังข้อมูลตัวเอง โดยเฉพาะประวัติเสี่ยง






กำลังโหลดความคิดเห็น