xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ปรับ “ห้องฉุกเฉิน” สู่วิถีใหม่ ปิด 5 จุดเสี่ยง สกัดโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ปรับ 5 จุดเสี่ยง “ห้องฉุกเฉิน ป้องกันโควิด หวังเป็นความปกติใหม่ ตั้งแต่จุดคัดกรอง เซฟพยาบาลด่านหน้า เว้นระยะห่าง ปรับรถพยาบาลออกไปรับผู้ป่วยให้ปลอดภัย บุคลากรสวมชุดป้องกันเต็มที่ ทำหัตถการเสี่ยงในห้องความดันลบ เพิ่มอุปกรณ์ลดแพร่กระจายเชื้อระหว่างขนย้ายผู้ป่วยใน รพ. ย้ำคัดกรองประวัติเสี่ยง ลดหัตถการเสี่ยง เผย 4 แนวทางปฏิบัติเยี่ยมผู้ป่วย

วันนี้ (23 พ.ค.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความปกติใหม่ (New Normal) ของห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล ว่า ที่ผ่านมา ห้องฉุกเฉิน รพ. จะมีทั้งผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินเข้ารับบริการ ซึ่งทำให้สมรรถนะในการดูแลผู้ป่วยหรือเกิดความปลอดภัยลดลง จากความแออัด ไม่ปลอดภัยทั้งผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ ได้มีการทำการพัฒนาคุณภาพห้องฉุกเฉิน โดยมีระบบการคัดกรองผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินมารับบริการตามนัด และให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับบริการตามความรุนแรง เพื่อรักษาทันท่วงที


นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เมื่อมีสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ต้องพิจารณา คือ เรื่องการแพร่ระบาด เพราะหากเข้ามาในห้องฉุกเฉินจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในตัวผู้ป่วยกับผู้ป่วย หรือไปยังบุคลากร นอกจากคัดกรองความรุนแรงของผู้ป่วยที่ต้องทำอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีแล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องการป้องกันการติดเชื้อทั้งผู้ป่วยและญาติ โดยพิจารณาเรื่องประวัติความเสี่ยง เช่น เคยไปสถานที่มีการระบาดมาก่อนหรือไม่ เคยสัมผัสบุคคลติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ เป็นต้น และพิจารณาเรื่องหัตถการที่ทำให้เกิดฝุ่นหรือฟุ้งละออง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการป้องกัน ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การทำระบบห้องฉุกเฉินที่เป็นห้องแยกโรคความดันลบ เป็นต้น รวมถึงอาจมีการจัดพื้นที่เหมาะสม และการจัดชุดอุปกรณ์เพื่อให้ปลอดภัย เช่น เตียงสำหรับส่งผู้ป่วยขนย้ายภายในรถพยาบาลหรือหอผู้ป่วย เต็นท์ในการพ่นออกซิเจนให้ผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้ เป้าหมายคือ ลดแออัด ลดรอคอย และมีความปลอดภัย ซึ่งหากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดระบบบริการ ช่วยคัดกรอง จะช่วยลดผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล เช่น อาศัยการพบแพทย์ทางออนไลน์ การจัดส่งยาถึงบ้าน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย คือ ลดการแออัด ลดการสัมผัส ลดการแพร่กระจายและโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อ ก็จะเป็นความปกติใหม่ของห้องฉุกเฉิน

นพ.เฉลิมพล ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพที่ 10 รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า ขั้นตอนในห้องฉุกเฉิน ตั้งแต่รับมาจากบ้าน มาถึงจุดคัดกรอง เข้าห้องฉุกเฉิน ทำการรักษา พออาการดีขึ้น หรือคงที่ ก็ส่งต่อพบแพทย์เฉพาะทาง เช่น ต้องผ่าตัด เข้าไอ.ซี.ยู. ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งต้องทำงานเป็นทีม ทั้งนี้ จุดคัดกรองสำคัญที่สุดของห้องฉุกเฉิน คือ แยกผู้ป่วยว่าฉุกเฉินต้องรักษาทันทีเพื่อช่วยชีวิต ไม่ฉุกเฉินสามารถรอได้ ซึ่งบริเวณจดคัดกรองจะมีโต๊ะมาตั้ง มีพยาบาลคัดกรอง ประชาชนออกันเต็ม ไม่มีการเว้นระยะห่าง เจ้าหน้าที่อาจป้องกันได้ไม่ครบถ้วน แต่หลังจากมีโควิด-19 ห้องฉุกเฉินทุกที่ปรับตัวในการรับสถานการณ์ โดย 1. มีการป้องกัน ไม่ให้มาสัมผัสต้องเนื้อตัว ใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันเหมาะสม เพราะพยาบาลคัดกรองเจอคนแรก 2. ไม่ปล่อยให้มาออกัน มีการรักษาระยะห่าง 1 เมตร 1.5 เมตร 2 เมตร เป็นต้น


3. รถพยาบาลฉุกเฉิน มีประชาชนโทร.มา 1669 เราส่งรถออกไปรับ ต้องปรับรถให้ปลอดภัย ใส่ชุดป้องกัน เพราะไม่แน่ใจว่าจะเจอเสี่ยงสูงหรือต่ำ แต่ช่วงมีโควิดต้องบริหารจัดการรถที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ที่สุด การออกไปแต่ละครั้ง การแต่งกายของเราก็ป้องกันมิดชิดแบบสูงสุด เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ออกไป เพราะไม่รู้จะเจอผู้ป่วยสถานการณ์แบบใด หัวใจหยุดเต้น พูดคุยไม่ได้ จึงพยายามปฏิรูปตรงนี้

4. ห้องฉุกเฉินเมื่อผู้ป่วยหมดสติเข้ามา ต้องช่วยเหลือทันที หัตถการคือการปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ เดิมจะมีการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือ อุปกรณ์ป้องกันไม่มาก ตรงนี้มีความเสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อฟุ้งแพร่กระจาย ทั้งญาติผู้ป่วย ผู้ป่วยเตียงข้างๆ ในการลดความเสี่ยง ทีมห้องฉุกเฉินมีการซ้อมทีม เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจในห้องความดัยลบ ใส่ชุด ท่อช่วยหายใจ อาจใช้ 4-5 คน แต่จะใช้คนให้น้อยที่สุด เช่น 3 คน ทำได้หากมีการฝึกซ้อมอย่างดี

5. การเข็นผู้ป่วยไปห้องไอ.ซี.ยู. มีการใส่ชุดป้องกัน และมีการใช้เตียงความดันลบ ขนย้ายไปห้องผ่านตัดหรือไอ.ซี.ยู. เพื่อความปลอดภัยเจ้าหน้ที่และผู้ป่วย

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับการมาเยี่ยมผู้ป่วยในช่วงที่มีโควิด-19 ความปกติใหม่ คือ 1. สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 2. ประเมินความเสี่ยงตนเองเพื่อกรองลดการเข้าไปสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง 3. ปฏิบัติตามข้อกำหนดของโรงพยาบาลและให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ เช่น เยี่ยมครั้งละไม่เกิน 1 คน ไม่เกิน 30-45 นาที แล้วแต่โรงพยาบาล บางแห่งอาจเยี่ยมได้เฉพาะบุคคลที่ลงทะเบียนไว้ และบุคคลที่คัดกรองและสืบค้นมีความเสี่ยงน้อยหรือไม่เสี่ยง 4. ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ก่อนและหลังเฝ้าเยี่ยมผู้ป่วย เพราะการสัมผัสผู้ป่วยจากเตียงไปเตียง สามารถนำเชื้อจากเตียงหนึ่งไปสู่เตียงหนึ่ง หรือจากเราไปสู่ผู้ป่วยได้

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดใน รพ.น้อยลง จะกลับมาเปิดบริการปกติหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การเตรียมเตียงผู้ป่วย อุปกรณ์รองรับการแพร่กระจายในระลอก 2 เราเตรียมเต็มที่ แต่ความปกติใหม่ เราเริ่มกลับมาให้บริการในผู้ป่วยเร่งด่วนระดับรองลงมา Urgency เช่น ผู้ป่วยมะเร็งต้องรับการผ่าตัด หรือผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับบริการ ขณะนี้เริ่มกลับเข้ามา รพ. แต่ส่วนเหล่านี้มีการปรับในเรื่องการจัดกลุ่มผู้ป่วย ถ้าดูแลตนเองได้ในส่วนของผู้ป่วยนอก สามารถสื่อสารได้ อาจส่งยาทางไปรษณีย์หรือใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น พบหมอทางเทเลเมดิซีน เป็นความปลอดภัยผู้ป่วยและญาติในการมาสัมผัสเชื้อที่ รพ. ส่วนผู้ป่วยที่ต้องเข้า รพ. ขณะนี้รับในส่วนของการผ่าตัด เตรียมเรื่องต่างๆ นอกจากห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดก็ปรับเปลี่ยน หอผู้ป่วยในก็ปรับเปลี่ยน สำคัญคือมาตรการคัดกรองความเสี่ยง ถ้าความเสี่ยงลดลงก็จะไปทำหัตถการต่างๆ ให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงตัวเองลงไปแต่ละกลุ่ม โควิดทำให้เราปรับเปลี่ยนวิธีการดูแล เรากำลังกลับมาดูแลผู้ปว่ยในทุกกลุ่มเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น