สธ.เผยผลสอบสวนโรค ผู้ป่วยอายุ 72 ปี สวมหน้ากากตลอด เหตุมีโรคประจำตัว พบไปรับยาที่ รพ.ก่อนไป “ร้านตัดผม” พบไม่มีลูกค้าอื่น มีแต่พนักงาน 8 คน ชี้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ เหตุสวมหน้ากากป้องกันทั้งสองฝ่าย ตรวจเชื้อคนในครอบครัวแล้ว คาดผลออกพรุ่งนี้ เร่งสอบสวนเพิ่มรับเชื้อจากที่ใด ส่วนเคสเยอรมันที่ชัยภูมิ “เมีย-ลูก” ไม่พบเชื้อ เร่งรวบรวมชื่อคนสัมผัสตรวจหาเชื้อเพิ่ม พร้อมลุยตรวจเชิงรุกในพื้นที่
วันนี้ (22 พ.ค.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการสอบสวนโรคผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2 ราย ที่ติดเชื้อในชุมชน โดยมีประวัติเสี่ยงไปโรงพยาบาล ร้านตัดผมย่านประชาชื่น และห้างสรรพสินค้าที่ จ.ชัยภูมิ ว่า การไปสอบสวนโรคต้องประเมินความเสี่ยง ว่า ผู้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน โรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ การลดความเสี่ยงขึ้นกับ 3 ปัจจัย คือ 1. ใช้หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยหรือไม่ ถ้าใช้ก็เสี่ยงน้อย 2. การเว้นระยะห่าง ถ้าไม่อยู่ใกล้ชิดโอกาสรับเชื้อน้อย และ 3. การล้างมือบ่อยๆ ทั้งนี้ สถานประกอบการที่ไป ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ถ้ามีการกำหนดมาตรการป้องกัน การคัดกรองวัดไข้ กำหนดจำนวนไม่ให้แออัด ยืนเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก ความเสี่ยงก็จะน้อย
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับกรณีชายไทยอายุ 72 ปี ไปรักษา รพ. เพราะมีโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน มะเร็งที่อยู่ระหว่างให้เคมีบำบัด ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นวันที่ 18 พ.ค. ได้ไปรับยาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เป็นผู้ป่วยประจำอยู่ และไปตัดผมที่ร้านแห่งหนึ่ง จากนั้นมีอาการไข้ ไอ เสมหะ เข้ารับการตรวจรักษาที่ รพ.พบว่า เป็นโควิด-19 ข้อมูลที่ทีมสอบสวนเพิ่มเติม คือ ผู้ป่วยมีการระวังป้องกันตนเองอย่างมาก เพราะเป็นโรคที่ภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว ก็ใส่หน้ากากเป็นประจำ กรณีนี้ทีมสอบสวนโรคของ กทม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจสอบร้านตัดผมแล้ว ขณะที่มาตัดผมไม่มีลูกค้ารายอื่นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่มีพนักงาน 8 คน ก็ระบุตัวใครอยู่ในสถานที่นั้นบ้าง ซึ่งพนักงานในร้านถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่เป็นเสี่ยงต่ำ เพราะใส่หน้ากากในการทำงาน ทั้งสองฝ่ายใส่หน้ากาก จึงลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ขณะนี้ได้ปิดบริการชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด และทุกคนกักตัว 14 วัน ล่าสุดร้านได้ลงทะเบียนไทยชนะแล้ว
“เมื่อถูกวินิจฉัยเข้าสู่การรักษาพยาบาล ใน รพ.เองก็มีบุคลากรมาดูแล ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงมาก อีกกลุ่มคือสมาชิกในครอบครัว จะมีอยู่ 2-3 คน อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ ซึ่งผลตรวจน่าจะออกพรุ่งนี้ จะรู้ว่ารับเชื้อหรือไม่ แต่ไม่มีใครมีอาการป่วย เหตุการณ์ครั้งนี้เริ่มต้นสอบสวนและดูว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง คำถามคือรับเชื้อจากที่ใด แต่มีประวัติไปใช้บริการที่ รพ.ในฐานะผู้ป่วย ก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อใน รพ. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็น รพ.แห่งใดบ้าง กิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ป่วยรายนี้” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า อีกรายคือ ชายชาวเยอรมันอายุ 42 ปี มาเมืองไทยตั้งแต่ปลาย ม.ค. และกลับไปเยี่ยมบ้านภรรยาต่างจังหวัดคือชัยภูมิ ก็ไม่มีอาการอะไร แต่เมื่อกลับมา กทม.ด้วยรถยนต์ส่วนตัว กำลังไปสมัครงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง จึงต้องไปตรวจร่างกาย หนึ่งในนั้นคือตรวจหาเชื้อด้วยและพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการป่วย จึงได้ตรวจภรรยาและลูก ก็พบว่าไม่ติดเชื้อ คนใกล้ชิดที่สุดไม่ติดเชื้อ ดังนั้น ความเสี่ยงของคนอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป สัมผัสน้อยกว่า ก็จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าโอกาสก็ยิ่งน้อย แต่ทีมสอบสวนโรคที่ชัยภูมิและ กทม. ก็กำลังรวบรวมข้อมูลให้ได้รายชื่อครบถ้วน นำทุกคนที่ยังไม่ได้ตรวจเข้ามาสู่การตรวจว่ามีเชื้อหรือไม่ ส่วนสถานที่ติดเชื้อ เนื่องจากไปหลายจุด ก็กำลังติดตามดู จ.ชัยภูมิ ก็เคยมีผู้ป่วยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปลาย มี.ค. และ เม.ย. เพียงแค่ 3 ราย ก็จะมีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ก็เป็นได้ พื้นที่ก็เฝ้าระวังเชิงรุก ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมว่า ในจุดที่ผู้ชายชาวเยอรมันคนนี้ไป มีตรงไหนบ้างที่จะมีผู้ป่วยที่นำเข้าสู่การตรวจวินิจฉัย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเช่นกัน
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับรายนี้ เนื่องจากอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ ม.ค. ทีมงานสอบสวนโรค พบว่า คนนี้มีการใช้หน้ากากผ้าอยู่บ้าง แต่ไม่สม่ำเสมอ แต่พฤติกรรมโดยภาพรวมล้างมือต่างๆ ต้องไปดูว่าเหมือนคนไทยหรือไม่ แต่สมาชิกในครอบครัวก็เป็นคนไทย ภรรยาเป็นคนไทย น่าจะมีการดูแลพฤติกรรมสุขภาพไปในทิศทางใกล้เคียงกันมากขึ้น
“พอเปิดกิจการ คนเดินทางไปทำงานมากขึ้น ประชาชนไปใช้บริการ การคำนึงถึงความปลอดภัย ต้องเว้นระยะบุคคล การต่อแถวใช้บริการ บริษัทห้างร้านสถานที่ก็ต้องกำหนดจำนวนผู้เข้าใช้บริการให้เหมาะสมพื้นที่ ไม่ให้เกิดความแออัด การวัดไข้ก่อนเข้าบริการ ส่วนบุคคลต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามยที่ต้องมีตลอดเวลา การล้างมือบ่อยๆ การใช้มาตรการง่ายๆ แต่ร่วมมือกันแทบทุกคน ทำให้การเกิดแพร่เชื้อต่ำมาก สิ่งที่หย่อนคือเรื่องหน้ากาก เว้นระยะห่างหลีกเลี่ยงยากขึ้น แต่ถ้าตระหนักก็ลดเสี่ยงได้ ทั้งสองอย่างนี้อยากให้เน้นต่อ” นพ.โสภณกล่าว