xs
xsm
sm
md
lg

กรมการแพทย์ ถอดประสบการณ์รักษา “โควิด” ชี้รักษาเร็วโอกาสหายสูง ปอดอักเสบ 2 ข้างนอนคว่ำหน้า ช่วยออกซิเจนดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์ ถอดประสบการณ์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เผย รพ.ราชวิถี รักษา 69 ราย หาย 54 ราย คิดเป็น 92% เสียชีวิต 4 ราย คิดเป็น 5.7% ชี้เข้ารับการรักษาเร็ว โอกาสหายเร็ว แม้อายุมาก ด้านสถาบันโรคทรวงอกให้ผู้ป่วยปอดอักเสบสองข้างนอนคว่ำหน้า ช่วยแลกเปลี่ยนออกซิเจนดีขึ้น ลดป่วยปอดอักเสบรุนแรง

วันนี้ (11 พ.ค.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ว่า รพ.ทุกสังกัดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทั้งภาครัฐ เอกชน และโรงเรียนแพทย์ ร่วมกันดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนเตียงมีถึง 2,263 เตียง และยังมีหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโรคโควิด-19 หรือฮอสปิเทลในการดูแลอาการน้อยหรือกลุ่มพักฟื้นด้วย ปัจจุบันยังนอนรักษาเพียง 12 ราย โดยสามารถขยายเพื่อรองรับการระบาดในระยะที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือของประชาชนอย่างเข้มงวด


ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษา 69 ราย โดยเป็นปอดอักเสบ 33 ราย หรือประมาณ 47% รักษาหาย 64 ราย คิดเป็น 92.75% เสียชีวิต 4 ราย หรือประมาณ 5.79% เมื่อดูในกลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบ 33 ราย เป็นปอดอักเสบรุนแรง 10 ราย คิดเป็น 30% รักษาหาย 29 ราย คิดเป็น 87% เสียชีวิต 4 ราย คิดเป็น 12.12% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปอดอักเสบรุนแรง สิ่งที่น่าสนใจคือบทเรียนจากการดูแลผู้ป่วย อยากจะสื่อสารแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกัน เพื่อกำหนดแนวทางรักษาสำหรับประเทศไทย ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะให้เข้ากับสถานการณ์ ตัวอย่าง 1. ผู้ป่วยหญิงอายุ 31 ปี ไข้หนาวสั่น 11 วัน โดย 5 วันก่อนมา รพ.เอกชนเริ่มไอ เหนื่อยมากขึ้นด้วยปอดอักเสบ รักษา 2 วันแล้วขอกลับบ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงไป รพ.รัฐส่งต่อมายัง รพ.ราชวิถี ได้รับการตรวจยืนยัน รักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์และยาอื่นตามสูตรรักษา โดย 3 วันรักษาตรวจไวรัสไม่พบ หลังจากรักษา 5 วัน 7 วัน 14 วัน และ 28 วันก็ไม่พบไวรัส เป็นผู็ป่วยรายแรกของ รพ.ราชวิถีที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์

“สรุปได้ว่าฟาวิพิราเวียร์น่าจะมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยปอดอักเสบจากโควิด-19 และได้เสนอให้ยานี้เข้าสู่แนวทางการรักษาสำหรับประเทศไทย เนื่องจากผลการรักษาที่ได้ผลดี นอกจากนี้ ผู้ป่วยอายุน้อย ไม่มีความเสี่ยงต่อการรุนแรงของโรค แต่มาช้า มีอาการปอดอักเสบแล้วด้วย แต่เมื่อรับยาไปก็ดีขึ้น” ผศ.นพ.พจน์ กล่าว

2. ผู้ป่วยชายอายุ 55 ปี ไม่มีโรคประจำตัว มีอาการไข้ถึง 13 วัน จึงมารักษา รักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์และยาสูตรเดียวกับรายแรก วันแรกที่รักษามีอาการปอดอักเสบแล้ว อีก 4 วันต่อมาผู้ป่วยเสียชีวิต ลักษณะปอดอักเสบรุนแรงขึ้นเมื่อเทียบกับวันแรก มีระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ระบบหายใจล้มเหลว ใส่ท่อช่วยหายใจ และยังตรวจพบไวรัสในร่างกาย บทเรียนคือใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาเช่นกัน แต่ผู้่วยอายุมาก ปอดอักเสบ มารับการรักษาช้า แม้ไม่มีโรคประจำตัว ก็มีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิต ต่อให้ไม่มีโรคประจำตัว อายุมาก มาพบแพทย์ช้า มีโอกาสรักษาล้มเหลว

3. ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 57 ปี มา รพ.เพราะบุตรสาวเป็นผู้ป่วยโควิด อยู่ในข่าวสอบสวนโรค ตรวจพีซีอาร์ได้ผลบวก ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ได้มีอาการ พอเข้ามารักษาก็สบาย 4 วัน เอกซเรย์ปอดปกติ แต่พอเข้าวันที่ 5 ตรวจพบ คนไข้เริ่มป่วยมีไข้ ไอ เหนื่อยมากขึ้น เอกซ์เรย์ปอดผิดปกติ จึงได้ยาฟาวิพิราเวียร์และยาตามสูตร ไข้ขึ้นต่อเนื่องตลอด 7 วัน หลังวินิจฉัยและให้การรักษา ที่สุดแล้วผู้ป่วยเมื่อให้การรักษาหายดี ไข้ลง ปอดดีขึ้น บทเรียนรายนี้ อายุมากเหมือนกัน ไม่มีโรคประจำตัวเหมือนกัน แต่พบแพทย์เร็ว ติดตามอาการจนถึงวันที่ 5 ที่มีปอดอักเสบ เฉลี่ยแล้วเมื่อติดเชื้อในกลุ่มมีอาการเริ่มมีไข้หรือมีอาการอื่นๆ วันที่ 5-7 การเจ็บป่วยจะเริ่มมีปอดอักเสบ แต่เมื่อเข้ารับการรักษาเร็วก็รักษาหายได้กลับบ้าน จึงไม่ควรประมาทถ้ามาเร็วได้ยามีโอกาสหายกลับบ้านได้


พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรมปอด สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า สถาบันโรคทรวงอกให้ความสำคัญการป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ จึงเริ่มต้นการแยกพื้นที่การตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 การจัดหอพักผู้ป่วยความดันลบ โดยนำความรู้จากการรักษาผู้ป่วยวัณโรคมาประยุกต์ใช้ ทำให้รับมือการรักษาได้เป็นอย่างดี การรักษาช่วงต้นมีความรู้เรื่องการนอนคว่ำหน้า ในคนไข้ปอดอักเสบรุนแรงมาก ค่อนข้างได้ผล จึงประยุกต์ให้คนไข้เริ่มมีอาการปอดอักเสบ จะให้เริ่มคว่ำหน้าตั้งแต่เข้ามา รพ. โดยให้คว่ำหน้าไว้ก่อน คนไข้มีออกซิเจนในเลือดดีขึ้น ไม่ต้องไปสู่ภาวะปอดอักเสบรุนแรงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ส่วนการนอนคว่ำหน้าจะทำให้ถุงลมด้านหลังที่มีมากกว่าด้านหน้าขึ้นมาอยู่บนด้านบนแทน เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนมากขึ้นดีขึ้น คนไข้มีความสบายขึ้น ปริมาณออกซิเจนในเลือดมากขึ้น แต่แนะนำในโรคโควิดที่มีออกซิเจนต่ำและปอดอักเสบทั้งสองข้างเท่ากัน บางคนปอดอักเสบเล็กน้อยหรือข่างเดียวอาจไม่ได้ประโยชน์


กำลังโหลดความคิดเห็น