ผู้ป่วยโควิดรายใหม่เหลือ 7 ราย ต่ำกว่าสิบเป็นวันที่ 2 แต่ยังมีเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย กทม.กลับมาพบผู้ป่วยอีก เผยผู้สูงอายุอัตราป่วยอยู่ที่ 11% ส่วนใหญ่เกิดจากการไปร่วมพิธีทางศาสนา พบปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 การติดเชื้อมาจากสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า เตือนคนในครอบครัวมีคนป่วยต้องป้องกันอย่างดี รักษาระยะห่าง
วันนี้ (27 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวประจำวันว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 7 ราย รักษาหายเพิ่ม 43 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 2,938 ราย หายกลับบ้าน 2,652 ราย เสียชีวิตรวม 54 ราย ยังรักษาใน รพ. 232 ราย ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 2 รายนั้น คือ 1. ผู้ป่วยชายไทยอายุ 52 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว สัมผัสผู้ป่วยยืนยันจากการไปสัมมนา เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 19 มี.ค. มีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว วันที่ 21 มี.ค. เข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชน ใน กทม. เก็บตัวอย่างส่งตรวจพบเชื้อโควิด วันที่ 24 มี.ค. มีอาการไข้ 38.2 องศาเซลเซียส คลื่นไส้ จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจอีกครั้งและยืนยัน ต่อมา 30 มี.ค. อาการแย่ลง ปอดรั่ว แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 27 เม.ย. ด้วยอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และไตวายเฉียบพลัน
2. ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 63 ปี อาชีพค้าขาย เป็นเจ้าของร้านอาหาร ทำหน้าที่รับเงิน มีภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว คือ สามีและหลานสาว เริ่มป่วยวันที่ 24 มี.ค. ด้วยอาการไข้ มึนศีรษะ เข้ารับการรักษาในคลินิกแห่งหนึ่ง แต่อาการไม่ดีขึ้น เข้ารับการรักษา รพ.ใน จ.ภูเก็ต วันที่ 1 เม.ย. ด้วยอาการไข้ หายใจเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย แพทย์เก็บตัวอย่างหาเชื้อและผลยืนยัน ต่อมาผู้ป่วยอาการแย่ลง แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตวันที่ 27 เม.ย. ด้วยภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ ร่วมกับระบบหายใจล้มเหลว
“จะเห็นว่าส่วนใหญ่ยังมีการติดเชื้อในครอบครัว เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องรักษาระยะห่างแม้แต่คนในครอบครัว ต้องทำให้เป็นชีวิตวิถีใหม่เรื่อยๆ เราไม่ทราบใครติดเชื้ออะไรมาอย่างไร ตอนนี้ให้ระวังไว้ว่าทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งสิ้น วันนี้เรามีผู้ป่วยต่ำสิบรายเป็นวันที่ 2 มีไม่กี่ประเทศในโลกที่จะเห็นภาพกราฟนิ่งลง ผู้ป่วยจำนวนน้อย แต่เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่รักษาระยะห่าง รักษาเนื้อตัวให้ดี และการ์ดอย่าตก วันนี้ที่เราทำได้ 7 รายเกิดจาก 7-14 วันที่แล้วที่ร่วมมืออย่างดี วันนี้ทำอย่างไรก็จะปรากฏผลในอีก 7-14 วันข้างหน้า ขอให้ทำตัวสม่ำเสมอเข้มงวดอย่างนี้ไปตลอดก็จะอยู่รอดปลอดภัยกันทุกคน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย ได้แก่ 1. กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 5 ราย คือ ภูเก็ต 3 ราย กทม. 1 ราย นครราชสีมา 1 ราย 2. ไปสถานที่ชุมชนแออัด เช่น งานแฟร์ คอนเสิร์ต ตลาดนัด 1 ราย ใน กทม. และ 3. อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 1 รายในกทม.เป็นชาวจีน สำหรับจังหวัดที่มีการกระจายตัว จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเลยอยู่ที่ 9 จังหวัด ขณะที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่ในช่วง 28 จังหวัดหรือเกือบ 1 เดือนเลยมี 13 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ราชบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย อุทัยธานี มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และเพิ่มจังหวัดใหม่คือ อุตรดิตถ์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา มี 38 จังหวัด โดยมีจังหวัดเพิ่มขึ้น คือ เลย นครศรีธรรมราช พังงา และสตูล ส่วนมีผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา มี 5 จังหวัด ได้ก่ นนทบุรี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาส และปัตตานี และ จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วัน มี 12 จังหวัด โดยนครราชสีมาเพิ่งกลับมาเกิดผู้ป่วยใหม่จึงตกอันดับมาอยู่ที่สีแดงนี้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คนสูงอายุเจ็บป่วยมากน้อยแค่ไหน กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์พบว่า มี 328 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 11% ของผู้ป่วยทั้งหมด พบเสียชีวิตรวม 21 ราย ส่วนใหญ่ชายมากกว่าหญิง 2.3 : 1 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย 86% ช่วงอายุ 60-69 ปี 66% 70-79 ปี 26% 80-89 ปี 7% และ อายุ 90-99 ปี 1% เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง อันดับ 1 คือ พิธีทางศาสนา 24% สนามมวยและผู้สัมผัส 24% สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 18% สัมผัสชาวต่างชาติ 10% อาชีพเสี่ยงไปชุมชนแออัด 7% จังหวัดที่มีอัตราจำนวนผู้ป่วยสูงอายุ คือ ยะลา ภูเก็ต และปัตตานี โดยยะลา และปัตตานี เชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงพิธีทางศาสนา
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อยังคงมาจากสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ คือ 1,069 ราย โดยช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุดมีถึง 151 ราย ดังนั้น คนที่เป็นญาติของคนที่เป็นรายยืนยันก่อนหน้า ต้องป้องกันตนเอง 100% ถ้าจะลดได้ ถ้ารู้ว่าญาติป่วย เราเองต้องดูแลตัวเองอย่างดี ป้องกันอย่างดี ล้างมือ ใส่หน้ากาก กินร้อน ช้อนส่วนตัว