xs
xsm
sm
md
lg

“อ.เจษฎ์” ยัน “Lane Shield” ในสระว่ายน้ำมีประโยชน์จริง ป้องกันการติดเชื้อระหว่างผู้มาใช้บริการด้วยกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“Lane Shield” ในสระว่ายน้ำ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย มีประโยชน์ สามารถใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรูปแบบละอองฝอยจากน้ำลายระหว่างผู้มาใช้บริการด้วยกัน ด้านน้ำในสระ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ หากคลอรีนอยู่ในระดับมาตรฐานสามารถฆ่าเชื้อได้

จากกรณี ดรามา lane shield ในสระว่ายน้ำ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ว่า สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า

“lane shield อีกแนวทางหนึ่ง ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ในสระฝึกซ้อมว่ายน้ำ”

เมื่อวาน เหมือนจะมีดรามาเกี่ยวกับการทำ lane shield ที่บางสระเริ่มเอาใช้ โดยเฉพาะกับการฝึกซ้อมและการแข่งว่ายน้ำ ว่า มันดูแปลกประหลาด และจะมีประโยชน์เหรอ? คำตอบคือ มันมีประโยชน์จริงนะครับ เคยโพสต์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า สระว่ายน้ำทั่วไปมีการฆ่าเชื้อโรคในน้ำด้วยการเติมคลอรีนอยู่แล้ว ซึ่งถ้าใส่ในปริมาณที่กำหนดตามมาตรฐาน (ประมาณ 0.7-1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) ก็สามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ได้เช่นกัน

แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับการใช้สระว่ายน้ำ คือ การคลุกคลีใกล้ชิดกันระหว่างผู้ที่ไปใช้บริการ มากกว่าเรื่องของการได้รับเชื้อโรคโดยตรงจากน้ำ ดังนั้น ในกรณีของสระว่ายน้ำที่ใช้สำหรับฝึกซ้อมหรือแข่ง จึงมีการสร้างมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับและลดความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อกัน ระหว่างผู้ที่มาฝึกซ้อมหรือมาแข่งว่ายน้ำ มาตรการพื้นฐานที่จะทำตามระเบียบของสมาคมกีฬาว่ายน้ำ ก็ได้แก่ การจัดนักว่ายน้ำให้อยู่ในระยะห่างกัน ประมาณ 7 ฟุต หรือ 2 เมตร ซึ่งก็คือการให้ว่ายแบบลู่เว้นลู่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างที่นักกีฬามีการหยุดพักที่ตรงขอบสระ และอาจจะพูดคุยกันหรือไอจามใส่กันได้

แต่ถ้าสระว่ายน้ำนั้น มีการติดตั้ง lane shield หรือที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “อุปกรณ์กั้นหัวลู่” แล้วด้วย ก็จะอนุญาตให้ว่ายน้ำแบบลู่ต่อลู่ได้ ไม่ต้องเว้นลู่”

นอกจากนี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงการที่ประชาชนหันมาออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ แต่ยังคงมีความวิตกเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ว่า กีฬาว่ายน้ำ ไม่ต่างจากกีฬาอื่นๆ โดยคำแนะนำสำหรับผู้บริหารจัดการหรือผู้ประกอบการ คือ การมีระบบคัดกรองผู้มาใช้สถานที่ และมีมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่ให้เกิดการใกล้ชิดกันในการเข้าใช้พื้นที่ รวมทั้งต้องขอความร่วมมือผู้มีอาการโรคทางเดินหายใจควรงดมาใช้บริการจนกว่าจะหายดี

นพ.ธนรักษ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากสระว่ายน้ำสามารถบำรุงดูแลรักษาระดับคลอรีนให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ก็จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่โอกาสที่ผู้ไปว่ายน้ำจะติดเชื้อโควิด-19 จากสระว่ายน้ำได้ คือ การลงไปว่ายน้ำใกล้ชิดกับตัวป่วยโควิด-19 แล้วมีการสัมผัสละอองฝอยน้ำลายจากผู้ติดเชื้อเข้าไป ส่วนโอกาสที่จะแพร่เชื้อจากการว่ายน้ำสระเดียวกัน เช่น กรณีผู้ป่วยโควิด-19 ลงไปว่ายน้ำและกลับขึ้นมาแล้ว แต่มีผู้ลงไปว่ายน้ำโอกาสแพร่เชื้อจึงอยู่ระดับเสี่ยงต่ำมากๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น